คอมพิวเตอร์ชนิดสวมใส่ : พรมแดนสุดท้ายของโลกไอที?

คอมพิวเตอร์ชนิดสวมใส่ : พรมแดนสุดท้ายของโลกไอที?

คอมพิวเตอร์ชนิดสวมใส่ : พรมแดนสุดท้ายของโลกไอที?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คงไม่ผิดหากจะกล่าวว่าคอมพิวเตอร์ได้รับการพัฒนาให้เข้ามาอยู่ใกล้ตัวเรามากขึ้นทุกวัน จากบนโต๊ะ มาอยู่บนบนหน้าตัก จนกระทั่งในปัจจุบันก็คืบคลานมาถึงบนฝ่ามือเรียบร้อย

ถึงแม้ว่าอุปกรณ์เหล่านี้จะมีคุณประโยชน์ต่อผู้ใช้มากมาย แต่ในท้ายที่สุดมันก็คือเครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นหนึ่งที่คอยเรียกร้องความสนใจจากผู้เป็นเจ้าของ เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าใครโทรเข้ามาหากไม่หยิบสมาร์ทโฟนจากกระเป๋าขึ้นมาดู หรือเวลาไปเมืองนอกเราก็อาจหลงทางได้ง่ายๆ หากไม่เปิดใช้งานแอพพลิเคชั่นแผนที่นำทาง (สมมติว่าทำเวอร์ชั่นกระดาษหาย)

ลองนึกดูเล่นๆ ว่า จะยอดเยี่ยมเพียงใดหากเราสามารถเข้าถึงข้อมูลที่ต้องการได้ทันทีโดยไม่ต้องเอื้อมมือไปแตะอุปกรณ์เหล่านี้เลย เพราะทุกสิ่งที่เราอยากรู้จะปรากฏขึ้นมาทันทีตรงหน้า (หรืออย่างมากก็แค่ชำเลืองมอง) ลืมไปได้เลยกับการที่ต้องเสียเวลาควานหาสมาร์ทโฟนจากกระเป๋าจนพลาดช็อตเด็ดที่อยู่ตรงหน้า หรือพลาดนัดหมายสำคัญเพราะลืมเช็กดูแจ้งเตือนตารางนัดที่บันทึกไว้อย่างดีในแท็บเล็ต สิ่งที่กล่าวไปอาจดูเหมือนเป็นนิยายวิทยาศาสตร์ หากแต่ว่ามันคือสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นจริงด้วยการผลักดันจากหัวเรือใหญ่ของวงการอย่าง Apple และ Google ที่ต่างมีแผนนำคอมพิวเตอร์ให้เข้ามาใกล้ตัวเราถึงบนข้อมือ หรือกระทั่งบนใบหน้า


iWatch : มากกว่านาฬิกาข้อมือ

นาฬิกาข้อมือได้ถูกเปลี่ยนสถานะจากอุปกรณ์ที่ทำให้ผู้สวมใส่ไม่พลาดการนัดหมายมาเป็นเครื่องประดับสุดหรูเพื่อเสริมสร้างบุคลิกมานานแล้ว และยังคงมีทีท่าว่าจะไม่ลดน้อยถอยลงแต่อย่างใด Oliver Chen นักวิเคราะห์จาก Citigroup Inc. แสดงความเห็นว่า อุตสาหกรรมนาฬิกาข้อมือทั่วโลกในปีนี้จะมีมูลค่ามากถึง 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ถึงแม้จะปฏิเสธไม่ได้ว่าสมาร์ทโฟนได้เข้ามาแทนที่ฟังก์ชั่นหลายอย่างที่เคยมีในนาฬิกาข้อมือ แต่มันก็ทำให้ชีวิตของเรายุ่งยากมากขึ้นพอๆ กับที่ทำให้ชีวิตเราสะดวกสบายกว่าแต่ก่อน จริงอยู่ที่อุปกรณ์พกพาใหม่ๆ ทำให้เราสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ทุกที่ทุกเวลา

แต่กว่าจะเข้าถึงได้นั้นเราต้องเสียเวลา "หยิบ" อุปกรณ์ขึ้นมาดูไม่ว่าข้อมูลตัวนี้จะสำคัญมากน้อยแค่ไหนหรือเร่งด่วนเพียงใด ปรากฏการณ์ "ก้มหน้าก้มตา" จิ้มหน้าจอจนไม่สนใจโลกภายนอกจึงระบาดไปทั่ว
และคงไม่มีใครที่จะมีความสามารถในการแก้ไขได้ดีเท่าผู้ที่ผลิตอุปกรณ์เหล่านี้ขึ้นมาเอง

ข่าวลือเกี่ยวกับนาฬิกาข้อมือของ Apple (ต่อไปนี้ขอเรียกว่า iWatch) เริ่มขึ้นเมื่อ Bruce Tognazzini อดีตพนักงานของ Apple ปรมาจารย์ด้านการออกแบบ และเป็นผู้อยู่เบื้องหลังอินเทอร์เฟซของคอมพิวเตอร์ Mac ตัวแรก ได้ออกมาแสดงความเห็นในรายงานฉบับหนึ่งว่า นาฬิกาข้อมือจะสามารถอุดช่องโหว่ในระบบนิเวศ (Ecosystem) ของอุปกรณ์จาก Apple ที่จะทำให้เราก้าวเข้าไปสู่ยุคใหม่ของการมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกับคอมพิวเตอร์ที่จะเห็นผู้ใช้เป็นมนุษย์มากขึ้น กล่าวคือ แม้ว่าในปัจจุบันเราจะสามารถติดตั้งแอพพลิเคชั่นให้กับสมาร์ทโฟนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถ แต่กระบวนการก็ยังหนีไม่พ้นลูกเล่นเดิมอย่าง ดาวน์โหลด ติดตั้ง ลงทะเบียน ล็อกอิน และคอยเช็กแจ้งเตือนข้อมูลใหม่เป็นระยะ แต่คอมพิวเตอร์สวมใส่ได้ในยุคหน้าจะรู้ทุกอย่างเกี่ยวกับผู้ใช้ ไม่ว่าจะเป็นการเต้นของชีพจร กรุ๊ปเลือด ความสูง น้ำหนัก และกิจวัตรประจำวันต่างๆ ได้โดยที่ผู้ใช้แทบไม่ต้องลงแรงทำอะไร

ถึงแม้จะยังไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการ แต่ที่ผ่านมามีข่าวว่า Apple ได้จัดตั้งทีมวิศวกรและนักออกแบบกว่าร้อยชีวิตในการพัฒนา iWatch ให้เป็นรูปเป็นร่าง โดยคุณสมบัติเบื้องต้นเท่าที่ทราบก็คือ จะสามารถเชื่อมต่อการทำงานร่วมกับอุปกรณ์ตัวอื่น อาทิ iPhone, iPad และ iMac เพื่อแจ้งเตือนผู้ใช้ถึงตารางนัดหมาย อีเมล สายเรียกเข้า รวมไปถึงรายงานข่าว สภาพอากาศ และข้อมูลหุ้น โดยไม่ต้องให้ผู้ใช้เสียเวลาหยิบอุปกรณ์นั้นๆ ขึ้นมาดู เราจึงสามารถเห็นอัพเดตต่างๆ ได้ในแบบเรียลไทม์ อีกทั้งยังทำให้ไม่เป็นการเสียมารยาทขณะร่วมวงรับประทานอาหารหรือขณะกำลังสนทนากับผู้อื่น เพราะเราเพียง "ชำเลืองมอง" ข้อมูลเหล่านี้บนข้อมือเท่านั้น

เช่นเดียวกับสินค้าชิ้นอื่น Apple ไม่ใช่เป็นผู้ผลิตรายแรกที่พัฒนานาฬิกาข้อมืออัจฉริยะ เพราะคอนเซปต์นี้สามารถสืบสาวย้อนกลับไปได้ถึงช่วงทศวรรษที่ 1970 เมื่อ Orient เปิดตัว Touchtron ซึ่งเป็นนาฬิกาข้อมือเรือนแรกของโลกที่แสดงผลด้วยไฟ LED และควบคุมได้โดยการสัมผัส นอกจากนี้ คู่แข่งอย่าง Sony ก็ได้เปิดตัวสมาร์ทวอชที่สามารถใช้งานร่วมกับสมาร์ทโฟน Android ออกมาแล้ว รวมไปถึงรายย่อยอย่าง Pebble Watch ที่ประสบความสำเร็จสามารถผลิตออกมาได้ด้วยการระดมทุนใน Kickstarter แน่นอนว่าจุดแข็งของ Apple คือ ecosystem ที่แข็งแกร่งและทรัพยากรที่พร้อมต่อการพัฒนาแอพพลิเคชั่น หาก Tim Cook สามารถนำเสนอให้ผู้บริโภคเห็นว่า iWatch จำเป็นต่อการใช้ชีวิตแค่ไหนเหมือนกับที่ Steve Jobs สามารถทำได้กับ iPhone, iPod และ iPad แล้วล่ะก็ เห็นทีสมรภูมิโลกไอทีถัดไปจะอยู่บนข้อมือของท่านทั้งหลายนั่นเอง


Google Glass : แว่นไฮเทค พร้อมเสิร์ฟข้อมูลทุกเมื่อที่ต้องการ

เช่นเดียวกับ iWatch แว่นตาไฮเทค Google Glass ได้รับการพัฒนาภายใต้แนวคิดของ Sergey Brin ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทที่ต้องการกำจัดความยุ่งยากในการเข้าถึงข้อมูลบนอุปกรณ์พกพาและต้องการให้ผู้ใช้สามารถมีปฏิสัมพันธ์กับคอมพิวเตอร์อย่างเป็นธรรมชาติมากขึ้น เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา Brin ได้ขึ้นพูดบนเวทีสัมมนา TED ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศสหรัฐอเมริกาโดยได้กล่าวหาว่า สมาร์ทโฟนในปัจจุบันนั้นดู "ไม่กระฉับกระเฉง" เพราะผู้ใช้ต้อง "ก้มๆ เงยๆ และเอานิ้วจิ้มไปบนชิ้นแก้วที่มีค่าอะไร" ขณะที่ Google Glass จะทำให้ "ตาของคุณเป็นอิสระ"

ถ้าดูห่างๆ จะเห็นว่า Glass มีลักษณะเหมือนกับแว่นตาทั่วไป เพียงแต่ไม่มีเลนแว่น แต่ที่ขาขวาจะมีส่วนบรรจุแบตเตอรี่ ใกล้ตาขวาเข้ามาก็จะเป็นส่วนที่บรรจุโปรเซสเซอร์ ลำโพง ไมโครโฟน เซนเซอร์ กล้องสำหรับบันทึกภาพนิ่งกับวิดีโอ และโปรเจ็คเตอร์ขนาดเล็กไว้สำหรับฉายเลเยอร์ภาพส่งไปยังปริซึมที่อยู่ใกล้กันเพื่อสะท้อนเข้าดวงตา ลักษณะเช่นนี้เราจึงเห็นภาพจริงถูกซ้อนด้วยเลเยอร์ข้อมูลที่มาจากตัวแว่นอีกที

ที่ผ่านมา Google ได้ปล่อยวิดีโอแสดงความสามารถของแว่นไฮเทคนี้ออกมาเป็นระยะ ผู้สนใจสามารถค้นหารับชมได้ทาง YouTube โดยหลักแล้วคุณสมบัติที่แว่นตัวนี้มีแทบจะไม่ต่างอะไรไปจากสิ่งที่สมาร์ทโฟนในปัจจุบันสามารถทำได้ ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายภาพ บันทึกวิดีโอ ขอข้อมูลเส้นทาง แชตกับเพื่อน หรือรับข่าวสารผ่านทางแอพพลิเคชั่น ที่โดดเด่นคือแอพพลิเคชั่น The New York Times ที่จะแสดงผล

ภาพกับพาดหัวข่าวให้ผู้สวมใส่เห็น แต่สิ่งที่ทำให้ Google Glass ต่างออกไปคือการควบคุมที่อาศัยการสั่งด้วยเสียงเป็นหลัก
กำหนดการวางจำหน่ายล่าสุดของ Google Glass อยู่ที่ภายในปีนี้ แต่ยังไม่มีการระบุวันที่อย่างแน่ชัด แต่นักพัฒนาที่ได้สั่งเวอร์ชั่นทดลอง Explorer Edition ก็จะเริ่มได้รับตัวเป็นๆ ไปลองใช้ภายในเดือนพฤษภาคม ดังนั้น กว่าที่จะขายจริงเราก็อาจเห็น
คุณสมบัติต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลงได้อีก


แล้วเราพร้อมหรือยัง? : อุปสรรคกับความท้าทายที่ต้องเผชิญ
เช่นเดียวกับที่นักสำรวจในอดีตต้องเผชิญ การย่างเข้าสู่พรมแดนใหม่ย่อมมาพร้อมกับความท้าทายที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง โดยสิ่งแรกที่ทั้ง iWatch และ Google Glass ต้องพบก็คือ ต้องทำให้ผู้บริโภคเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องหาซื้อมาไว้ให้ได้ เพราะอย่างที่กล่าวไป ฟังก์ชั่นเท่าที่ทราบของอุปกรณ์ทั้งคู่นั้นไม่มีอะไรใหม่เลย เพียงแต่นำลูกเล่นเดิมที่มีอยู่แล้วของอุปกรณ์พกพามาประยุกต์ใช้ด้วยการนำเสนอรูปแบบใหม่ของการโต้ตอบกับผู้ใช้งาน จึงทำให้ผู้บริโภคบางกลุ่มอาจเห็นว่ายังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องหามาไว้ครอบครอง

ทว่าประเด็นที่มีความสำคัญยิ่งกว่าคือ จะทำอย่างไรให้อุปกรณ์เหล่านั้นออกมา "ดูดี" พอที่จะสวมใส่ได้อย่างไม่ขัดเขิน ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายครั้งที่มูลค่าของนาฬิกาข้อมือไม่ได้อยู่ที่ความสามารถในการใช้งานหรือความทนทานเท่านั้น แต่ยังอยู่ที่ "ความขลัง" ของแบรนด์ ความสวยงาม รวมทั้งโอกาสในการสวมใส่ด้วย มีผู้ใช้งานจำนวนไม่น้อยที่เป็นเจ้าของนาฬิกาหลายเรือนเพื่อไว้ใช้ในโอกาสต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น รุ่นธรรมดาที่มีราคาไม่แพงสำหรับใส่ในโอกาสทั่วไป นาฬิกาสวิสมูลค่าหลายหมื่นสำหรับใส่ไปดินเนอร์สุดหรู และนาฬิกาออกแนวสปอร์ตสำหรับใส่เวลาวิ่ง ปัจจุบันเราเห็นการเปรียบเทียบผู้ใช้ออกเป็นกลุ่มๆ ตามสมาร์ทโฟนที่ตนเป็นเจ้าของแล้ว (ยังมีใครจำดราม่าระหว่าง iPhone กับ Android ช่วงที่ Instagram เปิดตัวเวอร์ชั่นหุ่นเขียวได้ไหมเอ่ย?) ยิ่งถ้ากับอุปกรณ์ที่ต้องสวมใส่มาทุกวันล่ะ อะไรจะเกิดขึ้น? หรือ Apple จะสามารถทำให้ iWatch ของตนใช้งานได้ทุกโอกาสหรือไม่? เพราะคงอาจจะไม่คุ้มทุนนักหากจะพัฒนามาหลายโมเดลเพื่อไว้ใช้ในโอกาสแตกต่างกัน ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวก็ไม่ต่างอะไรจาก Google Glass ที่ต้องทำทุกวิถีทางให้แว่นไฮเทคนี้เป็นที่ยอมรับของคนทั่วไป โดยเฉพาะในแง่ของความเป็นแฟชั่น ซึ่งกรณีนี้ก็ได้มีข่าวว่าทางบริษัทได้ร่วมมือกับ Warby Parker ผู้ผลิตแว่นตาชั้นนำของสหรัฐอเมริกา ในการออกแบบ Glass ให้ดูสวยงามและน่าสวมใส่ไม่ต่างจากแว่นสายตาหรือแว่นกันแดดทั่วไป

ในโลกไอที อุปกรณ์ใหม่ก็ย่อมมาพร้อมกับแอพพลิเคชั่นใหม่ให้รีดเค้นความสามารถกันอย่างเต็มที่ ช่วงที่ App Store สำหรับ iOS เปิดตัวนั้นได้มีบริษัทเกิดใหม่เพิ่มขึ้นมากมาย ซึ่งต่างหวังที่จะสร้าง Killer App เพื่อช่วงชิงพื้นที่และเงินรายได้ การที่มีข่าวว่า iWatch จะยังคงอาศัยการโต้ตอบกับผู้ใช้งานด้วยระบบสัมผัสเป็นหลักและ iOS เป็นฐานของระบบปฏิบัติการนั้นก็ทำให้พอคาดเดาได้ว่านักพัฒนาอาจไม่ต้องเหนื่อยมากนักในการปรับแต่งแอพพลิเคชั่นให้สามารถใช้ได้ทั้ง iPhone, iPad และ iWatch แต่กับ Google Glass ซึ่งพลิกโฉมรูปแบบการมีปฏิสัมพันธ์ไปเลยนั้นก็ทำให้ผู้พัฒนาต้องระดมสมองหาวิธีการสร้างแอพพลิเคชั่นให้ใช้งานได้อย่างเป็นธรรมชาติ และทำงานเข้ากับเวอร์ชั่นบนอุปกรณ์ตัวอื่นได้อย่าง "ไร้รอยต่อ"

การใช้งาน Google Glass ยังก่อให้เกิดความท้าทายตามมาอีกมาก ความสามารถในการถ่ายภาพได้ทันทีของอุปกรณ์ตัวนี้ได้ทำให้ร้าน The 5 Point Café ในซีแอตเติล รัฐวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา สั่งห้ามการใช้งานในร้านเป็นที่เรียบร้อยตั้งแต่ยังไม่ทันได้วางจำหน่ายเลยเสียด้วยซ้ำ โดยให้เหตุผลด้านความเป็นส่วนตัวของลูกค้า ดังนั้น ร้านค้าหรือบริการต่างๆ ที่ชอบสั่งไม่ให้ลูกค้าถ่ายภาพก็คงต้องคิดหาทางรับมือกับอุปกรณ์สุดไฮเทคนี้ นอกจากนั้น ยังได้มีการรวมตัวอย่างหลวมๆ ของกลุ่มคนที่เล็งเห็นปัญหาที่จะมาพร้อมกับอุปกรณ์สวมใส่ได้ ยกตัวอย่างเช่น กลุ่ม Stop the Cyborgs ซึ่งมีฐานอยู่ในกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ได้ออกแคมเปญเผยแพร่การใช้งานอุปกรณ์ที่มีลักษณะเดียวกับ Google Glass อย่างถูกวิธี โดยไม่ให้ไปละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่น ส่วนในสหรัฐอเมริกานั้น Gary G. Howell สมาชิกสภานิติบัญญัติของรัฐเวสต์เวอร์จิเนีย กำลังเร่งผลักดันกฎหมายห้ามการใช้งานอุปกรณ์ใดๆ ที่สวมติดกับศีรษะขณะขับรถ ด้วยเกรงว่าอาจทำให้คนขับไม่มีสมาธิและเกิดอุบัติเหตุตามมา
การหิวกระหายข้อมูลข่าวสารของผู้บริโภคในปัจจุบันเป็นแรงผลักดันสำคัญให้เกิดการพัฒนาอุปกรณ์ใหม่ๆ ที่สามารถเสิร์ฟสิ่งที่ต้องการได้ทันที iWatch และ Google Glass คือตัวแทนของสองทางออกที่ตอบโจทย์ความต้องการเดียวกันด้วยวิธีการนำเสนอที่แตกต่าง ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า คงจะดีไม่น้อยหากเราสามารถรับทราบอัพเดตต่างๆ ได้อย่างทันท่วงทีโดยไม่ต้องเสียเวลาควานหาอุปกรณ์ที่อยู่ในกระเป๋า แต่คิดว่ากว่าที่คอมพิวเตอร์แบบสวมใส่จะเป็นที่ยอมรับก็คงต้องรออีกสักระยะ อีกทั้งบรรดาผู้ผลิตทั้งหลายก็คงต้องทยอยแก้ปัญหาและเผชิญหน้ากับแรงต้านที่อาจเกิดขึ้นในช่วงเริ่มต้น แต่เมื่อสามารถผ่านจุดนี้ไปได้และหลายอย่างได้รับการพัฒนาต่อไปนั้น ก็ไม่แน่ว่าอีกไม่นานสมาร์ทโฟนอาจกลายเป็นสิ่งล้าหลังไปในทันที

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook