เตรียมตัวกู้อย่างไร ให้ได้เงิน

เตรียมตัวกู้อย่างไร ให้ได้เงิน

เตรียมตัวกู้อย่างไร ให้ได้เงิน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปัญหาเงินทุน เป็นข้ออุปสรรคอันดับต้นๆของผู้ประกอบการ SME เรียกได้ว่าหลายท่านมีไอเดียธุรกิจดี ทีมงานพร้อม แต่เงินที่เก็บสำรองไว้ยังไม่พอที่จะสร้างธุรกิจได้ดังฝัน

การจะขอกู้เงินในสมัยก่อนอาจเป็นเรื่องยุ่งยาก แต่ปัจจุบันหลายธนาคารได้เห็นความสำคัญและปรับปรุงบริการให้ SME เข้าถึงแหล่งเงินทุน หรือกู้เงินได้ง่ายและมีข้อเสนอดีๆอย่างต่อเนื่อง






แต่ก็ใช่ว่าการขอกู้ทุกครั้งจะประสบความสำเร็จเสมอไป SME หลายท่านจึงมีคำถามมายังธนาคารบ่อยครั้ง ว่าการจะกู้เงินควรมีความพร้อมอย่างไร มีอะไรต้องตระเตรียมบ้าง ธนาคารจึงจะอนุมัติเงินกู้ให้ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้

คุณสุธารทิพย์ พิสิฐบัณฑูรย์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโส รองผู้จัดการ กลุ่มลูกค้าธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ ผู้มีความเชี่ยวชาญทั้งในด้านสินเชื่อหรือเงินกู้ของธนาคาร และมีประสบการณ์ มีความเข้าใจในธุรกิจ SMEs เป็นอย่างดี

ได้ให้คำแนะนำสำหรับ SMEs ที่อยากกู้เงินไว้ว่า ธนาคารจะพิจารณา 3 ปัจจัยหลัก คือ

1) ผู้ประกอบการต้องมีความเข้าใจในธุรกิจของตนเองอย่างลึกซึ้ง

2) มีความสามารถในการชำระเงิน

3) มีวินัยในการใช้เงิน


ปัจจัยที่ 1 รู้ธุรกิจของตนเองอย่างลึกซึ้ง

"เบื้องต้นสำหรับผู้ที่เตรียมตัวจะกู้ ต้องรู้จักธุรกิจของตนเป็นอย่างดี ว่าสินค้าเป็นอะไร มีคุณภาพมากน้อยแค่ไหน เหมาะสำหรับลูกค้ากลุ่มใด คู่แข่งมีใครบ้าง และที่สำคัญคือ

ข้อแตกต่างจากสินค้าที่มีอยู่แล้วในตลาดทั่วไปคืออะไร เงินกู้ที่ได้ไปจะนำไปต่อยอดธุรกิจให้มีผลกำไรเกิดขึ้นได้อย่างไรบ้าง ผู้ประกอบการต้องวิเคราะห์ตัวเองให้ดี รู้จุดแข็งจุดอ่อนของธุรกิจ

เตรียมข้อมูลให้แน่น ซึ่งผู้ให้กู้ก็จะพิจารณาจากกำไรที่จะเกิดขึ้น ว่าจะมีความสามารถเพียงพอที่จะชำระทั้งดอกเบี้ยและเงินต้นคืนได้อย่างสม่ำเสมอ และตามกำหนดระยะเวลาหรือไม่

ซึ่งจุดนี้จะมีความสำคัญมาก เพราะสถาบันการเงินที่ให้กู้จะใช้ในการพิจารณา"

 

ปัจจัยที่ 2 มีความสามารถในการชำระเงิน

อย่างที่กล่าวไปในข้างต้น การที่ธนาคารจะอนุมัติสินเชื่อให้ จะพิจารณาจากความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้เป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก แม้ว่าธนาคารจะพูดคุยเกี่ยวกับหลักทรัพย์ค้ำประกัน

แต่ถ้าธุรกิจของผู้กู้มีความมั่นคง กำไรดี การเงินมีสภาพคล่อง ที่ทางธนาคารเล็งเห็นแล้วว่ามีความสามารถมากพอที่จะชำระหนี้คืนได้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย

หลักทรัพย์ที่ใช้ในการค้ำประกันก็จะกลายเป็นประเด็นรองลงทันที อย่างไรก็ตาม สำหรับธุรกิจ SME รายเล็กอาจจะใช้ประเด็นหลักทรัพย์ในการค้ำประกันเข้ามาช่วยพิจารณาร่วมด้วย

"ดังนั้นจะเห็นว่าสำหรับผู้ประกอบการ SME เรื่อง commitment เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด การที่จะมาพูดถึงหรือขอดูหลักประกันอย่างเดียวนั้นเป็นเรื่องที่ล้าสมัยไปแล้ว แต่หลักประกันเป็นเรื่องที่มีก็ดี

แต่ไม่ใช่สิ่งแรกที่จะใช้ในการพิจารณา สภาพคล่องในธุรกิจ และกระแสเงินสดในแต่ละเดือนต่างหากที่สำคัญสุด"



ปัจจัยที่ 3 ต้องมีวินัยในการใช้เงิน

วินัยที่ว่าก็คือวินัยในการใช้เงินในระยะเวลาที่ผ่านมาย้อนหลังอย่างน้อย 5-7 ปีของผู้ขอกู้ ที่ต้องนำมาประกอบในการพิจารณา

"ธนาคารจะพิจารณาประวัติการทำธุรกิจของผู้กู้ที่ต้องทำธุรกิจมาอย่างน้อย 3 ปี ประวัติต้องไม่มีความเสียหายในเครดิตบูโร ถ้าในกรณีที่มีการเกินวงเงินบ่อยครั้ง หรือมีเช็คคืน (เช็คเด้ง) โอกาสที่จะได้รับการอนุมัติสินเชื่อก็ลดน้อยลง"


คุณสุธารทิพย์ได้แนะนำว่าผู้ประกอบการควรรักษาวินัยในการใช้เงินอย่างเคร่งครัด ควรให้ความสำคัญต่อการชำระหนี้ตามที่ตกลงกัน ไม่ควรปล่อยให้มีประวัติหนี้เสีย หรือผิดนัดชำระหนี้กับสถาบันใดๆ

เพราะอาจส่งผลไปยังอนาคต โดยเฉพาะลูกค้าที่มีพฤติกรรม "โกงแบงค์" ลูก หลานที่จะมากู้ต่อก็ลำบาก เพราะสถาบันการเงินจะมีข้อมูลเรื่องนี้อยู่แล้ว เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาหนี้เสียขึ้น

ในตอนท้ายคุณสุธารทิพย์ฝากถึงผู้ประกอบการ ว่าอย่าอายเมื่อมีปัญหาและอย่ากลัวที่จะเข้ามาคุยกับธนาคาร การติดต่อและพูดคุยกับธนาคารถึงความเป็นไปในธุรกิจถือว่าเป็นประโยชน์อย่างมาก

เพราะเรื่องนี้จะทำให้ผู้ประกอบการสามารถทำธุรกิจได้อย่างราบรื่น ธนาคารอาจได้มีส่วนช่วยให้คำแนะนำและเติบโตไปพร้อมๆ กัน เมื่อลูกค้า SME เผชิญปัญหาธนาคารก็ยินดีช่วยคิดและช่วยหาทางออกเพื่อก้าวไปสู่ความสำเร็จด้วยกัน


บทความโดย สุธารทิพย์ พิสิฐบัณฑูรย์

ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโส รองผู้จัดการ กลุ่มลูกค้าธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

 

ขอบคุณข้อมูล scbsme.com

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook