SME ร้องเข้าไม่ถึงเงินทุน วอนรัฐบาลช่วยภาษีต่อลมหายใจ พยุงเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ!

SME ร้องเข้าไม่ถึงเงินทุน วอนรัฐบาลช่วยภาษีต่อลมหายใจ พยุงเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ!

SME ร้องเข้าไม่ถึงเงินทุน วอนรัฐบาลช่วยภาษีต่อลมหายใจ พยุงเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ!
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เอสเอ็มอีราว 3 ล้านรายทั่วประเทศ กำลังหายใจรวยรินเพราะประสบปัญหาสภาพคล่องอย่างหนัก เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19 ที่มีแนวโน้มยาวนาน และยืดเยื้อส่งผลให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วประเทศไร้รายได้ แต่ยังต้องแบกรับภาระรายจ่ายที่ยังคงเดิม อีกทั้งยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน (Soft Loan) ตามมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐได้ เพราะคุณสมบัติที่ระบุไว้เกินเอื้อมสำหรับกลุ่ม เอสเอ็มอี

s__15073359น.ส.โชนรังสี เฉลิมชัยกิจ ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย

น.ส.โชนรังสี เฉลิมชัยกิจ ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดเผยกับ Sanook Money ว่า พ.ร.ก.ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทยออก Soft Loan เพื่อดูแลภาคธุรกิจโดยเฉพาะเอสเอ็มอี วงเงินรวม 500,000 ล้านบาท โดยจะปล่อยให้กับธนาคารพาณิชย์เพื่อนำไปปล่อยสินเชื่อต่อให้กับเอสเอ็มอี ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 500 ล้านบาทอีกทอด ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี ส่วนตัวมองว่าเป็นนโยบายที่ดี แต่ก็ยังเกินเอื้อสำหรับเอสเอ็มอีที่เป็นไมโคร หรือ เอสเอ็มอี รายย่อย เพราะเอสเอ็มอี รายย่อย เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง จึงมักจะโดนมองข้ามและถูกปฏิเสธเป็นกลุ่มแรกจากธนาคารพาณิชย์
ดังนั้น มาตรการของภาครัฐควรผ่อนปรนหลักเกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อให้สอดคล้องกับภาวะการณ์ที่ไม่ปกติ เนื่องมาจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะเรื่องเครดิตบูโร และเอ็นพีแอล เพราะหลักเกณฑ์ที่ธนาคารพาณิชย์ใช้ตรวจสอบคุณสมบัติกลุ่มเอสเอ็มอี ที่ต้องการขอสินเชื่อ Soft Loan ยังเป็นหลักเกณฑ์เดิม จึงทำให้ เอสเอ็มอี ส่วนใหญ่ที่มีปัญหา ทั้งกลุ่มที่มีขนาดกลาง (รายได้ต่ำกว่า 500 ล้านบาทต่อปี) ขนาดย่อย (รายได้ต่ำกว่า 100 ล้านบาทต่อปี) และรายย่อย (รายได้ไม่ต่ำกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี) ยังคงไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ และกลุ่มเอสเอ็มอีที่ได้เงินทุนจากธนาคารพาณิชย์ก็มักเป็นรายเดิมๆ ซึ่งอาจได้รับผลกระทบหรือไม่ได้รับผลกระทบก็เป็นได้

ดังนั้น เม็ดเงิน 500,000 ล้านบาท จากมาตรการ Soft Loan จึงไม่ได้ถูกกระจายลงสู่เศรษฐกิจฐานรากของประเทศอย่างแท้จริงตามวัตถุประสงค์ของภาครัฐ

istock-1158964056
 
นอกจากนี้ ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ยังแนะภาครัฐควรจัดตั้งกองทุนสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 พร้อมเงื่อนไขที่ผ่อนปรนให้เอสเอ็มอีกลุ่มนี้ ซึ่งพลาดหวังจากธนาคารพาณิชย์สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น โดยใช้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือ บสย. เข้ามาค้ำวงเงินกู้ให้กับกลุ่มเอสเอ็มอี เพื่อนำเงินไปประคับประคองธุรกิจต่อลมหายใจให้กับเศรษฐกิจฐานรากของประเทศได้ผ่านช่วงที่อยากลำบากนี้ไปได้ พร้อมเสนอให้ภาครัฐลดค่าใช้จ่ายของเอสเอ็มอีด้วยระบบภาษี หรือการจัดเก็บของภาครัฐทั้งหมด ทั้งด้านสาธารณูปโภค ค่าใช้จ่ายในการต่ออายุต่างๆ รวมถึงให้ผ่อนชำระภาษีนิติบุคคล ช่วงปี 2564-2565 หรือยกเว้นการจ่ายภาษีในระยะเวลา 3 ปี เพราะเมื่อสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ดีขึ้น ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ต้องลงทุนปรับปรุงฟื้นฟูกิจการเพื่อให้ดำเนินธุรกิจต่อไปได้ในยุค New Normal หากยังต้องจ่ายภาษีจะเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้กับกลุ่มเอสเอ็มอี

s__15073347

สอดคล้องกับความเห็นของอดีตขุนคลัง อย่างนายกรณ์ จาติกวณิช “หัวหน้าพรรคกล้า” ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เกี่ยวกับเงิน Soft Loan วงเงิน 500,000 ล้านบาท ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ เตรียมไว้ช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอี ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 ไม่สามารถเข้าถึงวงเงินช่วยเหลือนี้ได้ เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ยังยึดหลักเกณฑ์พิจารณาการปล่อยสินเชื่อแบบเดิม จึงทำให้กลุ่มเอสเอ็มอี ที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนของธนาคารได้ต้องหันไปใช้บริการแหล่งเงินกู้นอกระบบ เพื่อพยุงธุรกิจในช่วงวิกฤตแทนยิ่งเป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยนายกรณ์ จาติกวณิช ยังเรียกร้องให้กระทรวงการคลัง และแบงก์ชาติเปิดเผยข้อมูล ดังต่อไปนี้

  1. Soft Loan ที่ธนาคารออมสินและธนาคารแห่งประเทศไทยปล่อยผ่านธนาคารพาณิชย์ไปนั้นปล่อยไปแล้วเท่าไร
  2. ปล่อยไปให้ใครบ้างกี่ราย
  3. มีการคิดค่าธรรมเนียมการพิจารณาสินเชื่อหรือไม่
  4. กระทรวงการคลัง และแบงก์ชาติมีมาตรการใดในการติดตามตรวจสอบเพื่อให้วงเงินนี้ไปถึงมือกลุ่มเป้าหมาย

การเรียกร้องนี้ของอดีตขุนคลัง สะท้อนให้เห็นว่า ธนาคารพาณิชย์ต้องปฏิรูปการปล่อยสินเชื่อให้สอดรับกับวัตถุประสงค์ของเงินงบประมาณ 500,000 ล้านบาท ที่ต้องการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งได้รับผลกระทบจากโควิด -19 อย่างแท้จริง และทางกระทรวงการคลังต้องกำกับดูแลเพื่อให้การใช้เม็ดเงินเกิดประสิทธิภาพสูงสุดและตรงกลุ่มเป้าหมาย

ดังนั้น ธนาคารพาณิชย์ที่รับไม้ต่อจากธนาคารแห่งประเทศไทยมิควรเลือกปฏิบัติ เพราะมดงานตัวเล็กๆที่มีอยู่กว่า 3 ล้านรายทั่วประเทศเหล่านี้ อาจจะกลายเป็นกำลังสำคัญในการพยุงเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต เพราะเศรษฐกิจของประเทศจะแข็งแกร่งได้ต้องมีฐานรากที่แข็งแรง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook