พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรเราไม่ทิ้งกัน ดอกเบี้ยดี๊ดี จะซื้อทั้งทียุ่งยากมั้ย?

คลังตอบคำถาม พันธบัตรรัฐบาลรุ่นเราไม่ทิ้งกัน ดอกเบี้ยดี๊ดี จะซื้อทั้งทียุ่งยากมั้ย?

คลังตอบคำถาม พันธบัตรรัฐบาลรุ่นเราไม่ทิ้งกัน ดอกเบี้ยดี๊ดี จะซื้อทั้งทียุ่งยากมั้ย?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

พันธบัตรเราไม่ทิ้งกัน แบบไร้ใบตราสารหน่วยละ 1,000 บาท โดยมี 2 รุ่น ได้แก่ อายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 2.4% ต่อปี และอายุ 10 ปี อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3% ต่อปี

วันนี้ (14 พ.ค. 63) เวลา 08.30 น. เป็นต้นไป กระทรวงการคลังเปิดจำหน่ายพันธบัตรเราไม่ทิ้งกันแบบไร้ใบตราสารหน่วยละ 1,000 บาท โดยมี 2 รุ่น ได้แก่ อายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 2.4% ต่อปี และอายุ 10 ปี อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3% ต่อปี สามารถซื้อผ่าน BOND DIRECT Application และช่องทางของธนาคารตัวแทนจำหน่าย 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงไทยธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์

แน่นอนว่านักลงทุนรวมถึงผู้ที่สนใจบางคนอาจเกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับการซื้อพันธบัตรเราไม่ทิ้งกันแบบไร้ใบตราสารว่าจะมีความยุ่งยากมั้ย การโอน-ไถ่ถอนจะมีปัญหาตามมาในภายหลังหรือเปล่า Sanook Money มีคำตอบจากสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะที่ได้รวบรวม 18 คำถามยอดฮิตมาตอบชนิดละเอียดยิบเลยทีเดียว  

คำถาม: พันธบัตรเราไม่ทิ้งกันรุ่นนี้มีจุดเด่น หรือความน่าสนใจอะไรหากเทียบกับการฝากเงินแบบประจำ?

คำตอบ: กระทรวงการคลังเป็นผู้ออกพันธบัตร โดยให้ ธปท. เป็นนายทะเบียน การลงทุนในพันธบัตรจึงเป็นการลงทุนที่มั่นคง ไม่มีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับเงินต้นคืน ได้รับดอกเบี้ยเป็นผลตอบแทนในอัตราแบบคงที่ตามระยะเวลากำหนดที่แน่นอน ซึ่งอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรในขณะที่ออกจำหน่ายโดยส่วนใหญ่จะกำหนดให้สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากในขณะนั้น

คำถาม: ข้อดีของการเป็นพันธบัตรเราไม่ทิ้งกันแบบไร้ใบตราสาร (Scripless) คืออะไร?

คำตอบ: เมื่อพันธบัตรครบกำหนดไถ่ถอน ผู้ถือกรรมสิทธิ์ไม่ต้องคืนใบพันธบัตรให้ ธปท. โดยเงินต้นจะโอนเข้าบัญชีเงินฝาก (ยกเว้นบัญชีเงินฝากออมทรัพย์พิเศษและบัญชีเงินฝากประจำ) ของผู้ถือกรรมสิทธิ์อัตโนมัติ และไม่ต้องมีภาระในการเก็บรักษาใบพันธบัตร ทั้งนี้ให้ผู้ถือกรรมสิทธิ์นำสมุดบัญชีเงินฝากและ Bond Book ไปปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันได้ที่ธนาคารที่ทำรายการซื้อ 

คำถาม: สนใจซื้อพันธบัตรเราไม่ทิ้งกันแบบไร้ใบตราสาร (Scripless) ต้องทำอย่างไร?

คำตอบ: ผู้สนใจสามารถเลือกวิธีการซื้อพันธบัตรวิธีใดวิธีหนึ่งได้จาก 4 ช่องทาง ดังนี้

  • การซื้อผ่านเคาน์เตอร์ธนาคาร ผู้ซื้อจะต้องลงทะเบียนและเปิดบัญชีฝากหลักทรัพย์ที่ธนาคาร  (ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย  ธนาคารกสิกรไทย  และธนาคารไทยพาณิชย์)  และทำรายการซื้อได้ตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2563 - 10 มิถุนายน 2563 หรือจนถึงวันที่จำหน่ายได้ครบวงเงินตามที่แต่ละธนาคารได้รับจัดสรร โดยผู้ซื้อสามารถดาวน์โหลดใบจองซื้อได้ที่เว็บไซต์ของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (https://www.pdmo.go.th/th/bond-channels)
  • การซื้อผ่านเครื่อง ATM ผู้ซื้อจะต้องดำเนินการตามข้อ 3.1 และแจ้งธนาคารเพื่อขอทำบัตร ATM ซึ่งมีข้อดี คือ ผู้ซื้อจะสามารถดำเนินการผ่านเครื่อง ATM ได้ทุกเครื่องของธนาคาร โดยไม่ต้องเดินทางมาที่ธนาคาร
  • การซื้อผ่านระบบอินเทอร์เน็ต และ Mobile Application ผู้ซื้อจะต้องดำเนินการตามข้อ 3.1 และลงทะเบียนเพื่อเปิดใช้บริการระบบอินเทอร์เน็ต และ Mobile Application โดยผู้ซื้อจะได้รับความสะดวกในการซื้อและสามารถซื้อได้ตลอด 24 ชั่วโมง
  • การซื้อผ่าน BOND DIRECT Application ของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ผู้ซื้อจะต้องมีบัญชีออมทรัพย์ของธนาคารกรุงไทย และจะต้องชำระเงินผ่าน Mobile Application ของธนาคารกรุงไทย หรือเคาน์เตอร์ของธนาคารกรุงไทย

คำถาม: ซื้อพันธบัตรรัฐบาลเราไม่ทิ้งกันแล้วได้หลักฐานอะไรกลับไป?

คำตอบ: เมื่อผู้ซื้อชำระเงินในการซื้อพันธบัตรแล้ว ทั้ง 4 ช่องทาง มีหลักฐานเพื่อยืนยันการซื้อ ดังนี้

  • กรณีซื้อผ่านเคาน์เตอร์ธนาคาร ผู้ซื้อจะได้รับเอกสารยืนยันการซื้อพันธบัตร
  • กรณีที่ซื้อผ่านเครื่อง ATM ผู้ซื้อจะได้รับใบเสร็จหรือใบแสดงรายการที่พิมพ์จากเครื่อง ATM (Slip) เพื่อเป็นหลักฐานในการชำระค่าซื้อพันธบัตร
  • กรณีซื้อผ่านระบบอินเทอร์เน็ต และ Mobile Application ผู้ซื้อจะได้รับหลักฐานการทำรายการตามบริการของแต่ละธนาคารกำหนด
  • กรณีซื้อผ่าน BOND DIRECT Application หากชำระเงินผ่าน Mobile Application ของธนาคารกรุงไทย ผู้ซื้อจะได้รับหลักฐานการทำรายการตามบริการที่ธนาคารกำหนด กรณีชำระเงินผ่านเคาน์เตอร์ ผู้ซื้อจะได้รับเอกสารยืนยันการซื้อพันธบัตร
    • สำหรับผู้ซื้อพันธบัตรรายใหม่ จะได้รับสมุดพันธบัตรรัฐบาล กระทรวงการคลัง (Bond Book) ที่แสดงรายละเอียดเกี่ยวกับพันธบัตร โดยจะได้รับในวันที่ซื้อหรืออาจได้รับภายหลังไม่เกิน 15 วันทำการ สำหรับผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่มี Bond Book อยู่แล้ว ให้นำ Bond Book ไปปรับปรุงข้อมูลรายการซื้อให้เป็นปัจจุบันได้ที่ธนาคารที่ทำรายการซื้อภายหลังจากวันที่ทำรายการซื้อแล้ว 15 วันทำการ โดยผู้ถือกรรมสิทธิ์จะนำไปใช้อ้างอิงสำหรับ การทำธุรกรรมได้ รายการที่ปรากฏอยู่ใน Bond Book เป็นรายการซื้อที่แสดงมูลค่าตามราคาตรา (Par Value) ในวันที่จดทะเบียน และในวันที่ทำรายการจะแสดงมูลค่าตามราคาตลาด (Market Value) ของแต่ละธนาคาร โดยจะถือว่าถูกต้องเมื่อรายการดังกล่าวตรงกันกับรายการที่บันทึกไว้ที่ธนาคาร ทั้งนี้ จะปรากฏเฉพาะรุ่นพันธบัตรแบบไร้ใบตราสาร (Scripless) ที่ซื้อผ่านธนาคารเท่านั้น โดยผู้ถือกรรมสิทธิ์สามารถนำ Bond Book ที่ได้รับตั้งแต่การซื้อพันธบัตรออมทรัพย์พิเศษของกระทรวงการคลัง ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 จนถึงพันธบัตรรุ่นนี้ไปปรับปรุงให้เป็นปัจจุบันผ่านธนาคารที่ผู้ถือกรรมสิทธิ์ทำรายการซื้อเท่านั้น สำหรับการจ่ายคืนเงินต้นพันธบัตรเมื่อครบกำหนดไถ่ถอน กระทรวงการคลังจะจ่ายคืนตามราคาตรา (Par Value)

คำถาม: คณะบุคคลหรือห้างหุ้นส่วนสามัญที่ไม่ใช่นิติบุคคล หรือกองทุนส่วนบุคคลสามารถซื้อพันธบัตรรุ่นนี้ได้หรือไม่?

คำตอบ: คณะบุคคลหรือห้างหุ้นส่วนสามัญที่ไม่ใช่นิติบุคคล ไม่สามารถซื้อได้ เนื่องจากไม่มีสถานภาพเป็นบุคคล (บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล) ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงไม่อยู่ในข่ายที่จะซื้อได้ กองทุนส่วนบุคคลที่บริหารโดยสถาบันการเงินไม่สามารถซื้อได้ 

คำถาม: คู่สมรสจะต้องให้ความยินยอมหากอีกฝ่ายต้องการซื้อพันธบัตรออมทรัพย์หรือไม่?

คำตอบ: ไม่ต้องให้ความยินยอม 

คำถาม: ซื้อพันธบัตรรุ่นเดียวกัน จำนวนเงินเท่ากัน ทำไมได้รับดอกเบี้ยงวดแรกไม่เท่ากัน?

คำตอบ: เนื่องจากวันที่ซื้อพันธบัตรต่างกัน ทำให้การนับจำนวนวันเพื่อนำไปคำนวณดอกเบี้ยไม่เท่ากัน โดยมีหลักเกณฑ์การนับวัน ให้นับวันที่ซื้อ ไม่นับวันที่จ่ายดอกเบี้ย เช่น

  • นาย ก. ซื้อพันธบัตรรุ่นอายุ 10 ปี ชำระด้วยเงินสดจำนวน 500,000 บาท ในวันที่ 18 พฤษภาคม 2563 จ่ายดอกเบี้ยงวดแรกวันที่ 14 พฤศจิกายน 2563 การนับวันจะนับวันที่ 18 พฤษภาคม 2563 จนถึงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2563 เป็นจำนวน 180 วัน
  • นาย ข. ซื้อพันธบัตรรุ่นอายุ 10 ปี ชำระด้วยเงินสดจำนวน 500,000 บาท ในวันที่ 8 มิถุนายน 2563 จ่ายดอกเบี้ยงวดแรกวันที่ 14 พฤศจิกายน 2563 การนับวันจะนับวันที่ 8 มิถุนายน 2563 จนถึงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2563 เป็นจำนวน 159 วัน

ทั้งนี้ งวดต่อไปจำนวนวันเพื่อนำไปคำนวณดอกเบี้ยของ นาย ก. และนาย ข. จะเท่ากัน 

คำถาม: การขอคืนภาษีดอกเบี้ยพันธบัตรเราไม่ทิ้งกันรุ่นนี้ทำอย่างไร?

คำตอบ: เมื่อ ธปท. จ่ายดอกเบี้ยเข้าบัญชีเงินฝากของท่าน ธปท. จะออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้ ซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นหลักฐานขอคืนภาษีประจำปีได้ ในกรณีที่เงินได้สุทธิของท่านเสียภาษีในอัตราที่ต่ำกว่าร้อยละ 15 

คำถาม: การโอนดอกเบี้ยและเงินต้นพันธบัตรเข้าบัญชีเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ ต้องเสียค่าธรรมเนียมหรือไม่?

คำตอบ: ในการโอนดอกเบี้ยและเงินต้นเข้าบัญชีเงินฝาก (ยกเว้นบัญชีเงินฝากออมทรัพย์พิเศษและบัญชีเงินฝากประจำ) เจ้าของบัญชีได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนเงิน

คำถาม: หากต้องการรับดอกเบี้ยและเงินต้นเป็นเงินสดและเช็คจะทำได้หรือไม่?

คำตอบ: ไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจาก ธปท. จะโอนดอกเบี้ยและเงินต้นเข้าบัญชีเงินฝาก (ยกเว้นบัญชีเงินฝากออมทรัพย์พิเศษและบัญชีเงินฝากประจำ) ของผู้ถือกรรมสิทธิ์เท่านั้น 

คำถาม: หากต้องการแจ้งแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูล ชื่อ-นามสกุล ที่อยู่ บัญชีรับดอกเบี้ยและเงินต้น หรือข้อมูลอื่นๆ จะต้องทำอย่างไร?

คำตอบ: กรณีพันธบัตรแบบไร้ใบตราสาร (Scripless) และกรณีพันธบัตรแบบมีใบตราสาร ทำได้ดังนี้

  • กรณีพันธบัตรแบบไร้ใบตราสาร (Scripless) : ติดต่อธนาคารที่ผู้ถือกรรมสิทธิ์ทำรายการซื้อ โดยนำ Bond Book และหลักฐานอื่นที่ต้องใช้ในการอ้างอิงไปด้วย
  • กรณีพันธบัตรแบบมีใบตราสาร (Scrip) : ให้แจ้งโดยตรงที่ ธปท. สำนักงานใหญ่ สำนักงานภาค หรือธนาคาร สำนักงานใหญ่ และสาขาทั่วประเทศ เพื่อส่งต่อให้ ธปท. ดำเนินการต่อไป

คำถาม: การขอหนังสือรับรองยอดพันธบัตร (กรณีไร้ใบตราสาร) กับทางสาขาธนาคาร สาขาธนาคารสามารถดำเนินการออกให้ได้เลยหรือไม่ และคิดค่าธรรมเนียมอย่างไร?

คำตอบ: ธนาคารสามารถออกหนังสือรับรองยอดพันธบัตร (กรณีไร้ใบตราสาร) ให้ได้ โดยคิดค่าธรรมเนียมการจัดทำหนังสือรับรองยอดพันธบัตร ตามอัตราที่แต่ละธนาคารประกาศกำหนด ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่าง 50 - 200 บาท ต่อฉบับ (สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ธนาคาร) 

คำถาม: ถ้ามีความประสงค์จะเปลี่ยนพันธบัตรจากแบบไร้ใบตราสาร (Scripless) ให้เป็นแบบมีใบตราสาร (Scrip) ทำได้หรือไม่ เสียค่าใช้จ่ายเท่าใด ใช้เวลาดำเนินการประมาณกี่วัน ลูกค้าถึงจะได้รับใบพันธบัตร?

คำตอบ: ทำได้ โดยต้องนำ Bond Book ไปติดต่อธนาคารเพื่อขอออกใบพันธบัตร โดยมีค่าธรรมเนียมในการดำเนินการรวมทั้งสิ้นประมาณ 290 - 370 บาท ต่อรายการ (แล้วแต่กรณี) ประกอบด้วย 

  • ค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่ายให้กับศูนย์รับฝาก 65 บาทต่อรายการ ไม่รวม VAT 
  • ค่าธรรมเนียมการออกใบพันธบัตรที่ต้องจ่ายให้ ธปท. กรณีบุคคลธรรมดา 20 บาทต่อฉบับ กรณีนิติบุคคล 100 บาทต่อฉบับ ไม่คิด VAT 
  • ค่าธรรมเนียมการดำเนินธุรกรรมในการถอนพันธบัตรจากระบบ Scripless ที่ต้องจ่ายให้ธนาคาร 200 บาทต่อรายการ รวม VAT 
    ลูกค้าจะได้รับใบพันธบัตรประมาณ 4 – 10 วัน (ยังไม่รวมการจัดส่งใบพันธบัตร) ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละธนาคาร

คำถาม: การขอออกใบพันธบัตรเราไม่ทิ้งกันตั้งแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน 2563 สามารถออกเป็นชื่อบุคคลอื่นที่มิใช่ผู้ซื้อในครั้งแรกได้หรือไม่ เช่น นาย ก. ซื้อ แต่ขอออกใบเป็นชื่อ นาย ข.?

คำตอบ: นาย ก. จะต้องทำการโอนให้นาย ข. ก่อน โดยต้องนำ Bond Book ไปติดต่อที่ธนาคาร และกรอกแบบฟอร์มแจ้งการโอนกรรมสิทธิ์พร้อมเอกสารประกอบ โดยธนาคารไม่คิดค่าธรรมเนียมในการโอนกรรมสิทธิ์ระหว่างลูกค้ารายเดิมภายในกลุ่มผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ซื้อผ่านธนาคารเดียวกัน ทั้งนี้ หากเป็นการโอนกรรมสิทธิ์ระหว่างลูกค้ารายเดิมให้กับลูกค้ารายใหม่ ธนาคารจะคิดค่าธรรมเนียมในการโอนกรรมสิทธิ์จากลูกค้ารายใหม่ 250 บาท ต่อรายการ รวม VAT แล้วจึงขอออกใบพันธบัตรเป็น นาย ข.

คำถาม: การโอนเปลี่ยนมือระหว่างธนาคารทำได้หรือไม่?

คำตอบ: การโอนกรรมสิทธิ์พันธบัตรแบบไร้ใบตราสาร (Scripless) สามารถกระทำได้โดยอาจเป็นการโอนให้กับลูกค้ารายใหม่หรือลูกค้าเดิมภายในกลุ่มผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ซื้อผ่านธนาคารเดียวกัน แต่ไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ระหว่างธนาคารได้ โดยผู้ถือกรรมสิทธิ์จะต้องนำ BondBook ไปติดต่อธนาคารที่ได้ฝากพันธบัตรไว้

คำถาม: ความเสี่ยงของการถือพันธบัตรรุ่นนี้มีอะไรบ้าง?

คำตอบ: ผู้ถือกรรมสิทธิ์ในพันธบัตรไม่มีความเสี่ยงจากการสูญเงินต้น แต่อาจมีความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนในพันธบัตรอาจเสียโอกาสที่จะลงทุนในทางเลือกอื่น ๆ ที่มีผลตอบแทนสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยที่ได้รับจากพันธบัตร เช่น อัตราดอกเบี้ยเงินฝากในอนาคตสูงขึ้นมากกว่าอัตราดอกเบี้ยพันธบัตร เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ผู้ถือกรรมสิทธิ์ในพันธบัตร จะได้รับดอกเบี้ยคงที่ตามอัตราที่กำหนดไว้บนหน้าพันธบัตร ตลอดอายุพันธบัตร 

           ในกรณีที่นำพันธบัตรไปขายให้กับสถาบันการเงินหรือบุคคลอื่น ก่อนวันครบกำหนดไถ่ถอน มีความเป็นไปได้ที่จะได้รับเงินต้นคืนไม่เท่ากับ 1,000 บาทต่อหน่วยตามที่ตราไว้ โดยราคาที่ได้อาจมากกว่าหรือน้อยกว่าก็ได้ ทั้งนี้ ขึ้นกับอัตราดอกเบี้ยในตลาด ณ ขณะนั้นๆ อย่างไรก็ดี หากผู้ลงทุนถือพันธบัตร จนถึงวันครบกำหนดแล้ว จะได้รับคืนเงินต้นเต็มจำนวนเสมอ

           ท่านสามารถหาความรู้เพิ่มเติมได้ที่ website ต่างๆ ดังนี้

คำถาม: การไถ่ถอนคืนเงินต้นพันธบัตรเมื่อครบกำหนดต้องดำเนินการอย่างไร?

คำตอบ: กรณีพันธบัตรแบบไร้ใบตราสาร (Scripless) ธปท. จะจ่ายคืนเงินต้นพันธบัตร โดยโอนเงินต้นเข้าบัญชีเงินฝาก (ยกเว้นบัญชีเงินฝากออมทรัพย์พิเศษและบัญชีเงินฝากประจำ) ให้แก่ผู้ถือกรรมสิทธิ์ตามรายชื่อและข้อมูลที่ได้รับแจ้งจากศูนย์รับฝาก ซึ่งเป็นรายชื่อ ณ สิ้นวันทำการสุดท้ายก่อนวันปิดสมุดทะเบียนเพื่อจ่ายคืนเงินต้นตามที่ ธปท. ประกาศกำหนด
           กรณีพันธบัตรแบบมีใบตราสาร (Scrip) การจ่ายคืนเงินต้นพันธบัตรจะกระทำได้ต่อเมื่อ ธปท. ได้รับคืนใบพันธบัตร โดย ธปท. จะจัดส่งแบบคำขอรับคืนเงินต้นพันธบัตรให้ผู้ถือกรรมสิทธิ์ก่อนวันครบกำหนดไถ่ถอนเอกสารไถ่ถอนประกอบด้วย

  • คำขอรับคืนเงินต้นพันธบัตร ที่ผู้ถือกรรมสิทธิ์ได้กรอกข้อมูลและลงลายมือชื่อตามตัวอย่างที่ให้ไว้กับ ธปท.
  • พันธบัตรฉบับจริงทุกฉบับ ที่ครบกำหนดไถ่ถอน
  • สำเนาหน้าแรกสมุดบัญชีเงินฝากของผู้ถือกรรมสิทธิ์ (ยกเว้นบัญชีเงินฝากออมทรัพย์พิเศษและบัญชีเงินฝากประจำ) ที่รับรองสำเนาถูกต้อง
  • กรณีบุคคลธรรมดา
    • ยื่นด้วยตนเอง แสดงบัตรประจำตัวประชาชน
    • ไม่มายื่นด้วยตนเองหรือส่งทางไปรษณีย์ แนบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนที่รับรองสำเนาถูกต้อง

                    กรณีนิติบุคคล แนบ - สำเนาเอกสารแสดงความเป็นนิติบุคคล เช่น หนังสือรับรองจากกระทรวงพาณิชย์ออกไว้ไม่เกิน 1 เดือน ใบอนุญาตจัดตั้ง และรายงานการประชุม ประจำปีครั้งล่าสุดของสมาคมมูลนิธิ ฯลฯ ที่รับรองสำเนาถูกต้องโดยผู้มีอำนาจลงนาม และสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ที่มีอำนาจลงนาม ที่รับรองสำเนาถูกต้อง

                    กรณีไถ่ถอนพันธบัตรของผู้เยาว์ การลงลายมือชื่อในคำขอรับคืนเงินต้นบันธบัตร ให้ดำเนินการดังนี้

  • ผู้เยาว์อายุต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ ให้ผู้ปกครองหรือผู้แทนโดยชอบธรรมลงลายมือชื่อ
  • ผู้เยาว์อายุครบ 15 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่ถึง 20 ปีบริบูรณ์ ให้ผู้เยาว์และผู้ปกครองหรือผู้แทนโดยชอบธรรม ลงลายมือชื่อร่วมกัน
  • ผู้เยาว์อายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ อนุโลมไม่ต้องแจ้งบรรลุนิติภาวะก่อนไถ่ถอน และในคำขอรับคืนเงินต้นพันธบัตรให้ระบุบัญชีรับเงินต้นเป็นชื่อผู้เยาว์เท่านั้น  โดยผู้เยาว์และผู้ปกครองหรือผู้แทนโดยชอบธรรมลงลายมือชื่อร่วมกัน

หมายเหตุ

  • ยื่นด้วยตนเอง ให้แสดงบัตรประจำตัวประชาชนผู้ปกครองหรือผู้แทนโดยชอบธรรมและสูติบัตรหรือทะเบียนบ้านหรือบัตรประจำตัวประชาชนผู้เยาว์ แล้วแต่กรณี
  • ไม่มายื่นด้วยตนเองหรือส่งทางไปรษณีย์ แนบสำเนาบัตรประจาตัวประชาชนผู้ปกครองหรือผู้แทนโดยชอบธรรม และสำเนาสูติบัตรหรือทะเบียนบ้านหรือบัตรประจำตัวประชาชนผู้เยาว์ แล้วแต่กรณี ที่รับรองสำเนาถูกต้อง
  • ผู้ปกครองหรือผู้แทนโดยชอบธรรม ต้องเป็นผู้ที่มีชื่ออยู่ในพันธบัตร

การไถ่ถอนพันธบัตรของผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ถึงแก่กรรม  ให้ผู้จัดการมรดกยื่นเอกสารไถ่ถอนแทน พร้อมคำสั่งศาลตั้งผู้จัดการมรดกและหนังสือรับรองคดีถึงที่สุด

คำถาม: การโอนพันธบัตรเราไม่ทิ้งกันให้แก่ทายาท ในกรณีที่ผู้ถือกรรมสิทธิ์ในพันธบัตรถึงแก่กรรม?

คำตอบ: กรณีพันธบัตรแบบไร้ใบตราสาร (Scripless) และกรณีพันธบัตรแบบมีใบตราสาร (Scrip) ทำได้ดังนี้

  • กรณีพันธบัตรแบบไร้ใบตราสาร (Scripless) : ผู้จัดการมรดกติดต่อยื่นขอจัดการมรดกที่ธนาคารผู้จัดจำหน่าย
  • กรณีพันธบัตรแบบมีใบตราสาร (Scrip) : ผู้จัดการมรดกติดต่อ ธปท. โดยยื่นคำร้องขอจัดการมรดกของผู้ถึงแก่กรรม ตามระเบียบที่ ธปท. กำหนด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook