ธนาคารอิสลาม เล็งสางหนี้เสียภายใน 3 ปี

ธนาคารอิสลาม เล็งสางหนี้เสียภายใน 3 ปี

ธนาคารอิสลาม เล็งสางหนี้เสียภายใน 3 ปี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ชำแหละหนี้เสีย ธ.อิสลาม ประเมินหลักประกันเกินจริง ระบบติดตามหนี้ห่วย จัดระเบียบใหม่ งดสินเชื่อรายใหญ่ หันให้กู้รายย่อย

ตะลึงตั้งมา 10 ปีให้กู้คนมุสลิมแค่ 3% วาดฝันเคลียร์หนี้เสีย 3.9 หมื่นล้านภายใน 3 ปี อ้อนคลังขอ 1.3 หมื่นล้านเพิ่มทุน


นายธานินทร์ อังสุวรังสี ผู้จัดการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) เปิดเผยถึงแผนดำเนินงานปี 2556 ว่าไม่เน้นเติบโตทั้งเงินฝากและสินเชื่อ โดยจะประคองสินเชื่อให้ได้ที่ 1.22 แสนล้านบาท และเงินฝาก 1.16 แสนล้านบาท เท่ากับปีที่ผ่านมา

โดยจะหันมาแก้ไขปัญหาภายใน ทั้งการบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ที่เป็นตัวเลขทางการอยู่ที่ 2.4 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 20% ของสินเชื่อรวม แต่หากปรับตามคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

จะสูงถึง 3.9 หมื่นล้านบาท หรือ 30% ของสินเชื่อรวม แต่ยังไม่ทำให้เงินกองทุนติดลบ เพราะสัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (บีไอเอส) ยังอยู่ที่ประมาณ 4%

"การแก้เอ็นพีแอลจะเน้นการเจรจาและดูกระแสเงินสดเป็นหลัก เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ โดยในจำนวนหนี้เสีย 2.4 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้รายใหญ่ 100 ราย ขณะที่รายย่อยมี 3 หมื่นราย คิดเป็น 2 พันล้านบาท

ตั้งเป้าลดเอ็นพีแอลให้ได้ 6 พันล้านบาทในปีแรก และจะแก้ให้ครบ 3.9 หมื่นล้านบาทภายใน 3 ปี ทั้งนี้ ในการประชุมบอร์ดวันที่ 13 กุมภาพันธ์ จะมีการหารือตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงการทุจริตตามข้อเสนอกระทรวงการคลังด้วย" นายธานินทร์กล่าว

นายธานินทร์กล่าวว่า หลังเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2555 พบว่าหนี้เสียเกิดจากการอนุมัติสินเชื่อไม่รอบคอบ การประเมินมูลค่าหลักประกันสูงเกินจริง ทำให้เมื่อมีการติดตามหนี้ภายหลังแล้วพบว่า หลักประกันไม่คุ้มมูลหนี้

และระบบการติดตามดูแลยังไม่ดีพอ ดังนั้น ต่อจากนี้จะปรับกระบวนการทำงานใหม่ ให้รอบคอบรัดกุมมากขึ้น จะไม่ปล่อยสินเชื่อรายใหญ่เพิ่มเติม ยกเว้นรายที่มีกระแสดเงินสดและหลักประกันเพียงพอ แต่จะหันมาปล่อยสินเชื่อรายย่อยเพิ่มขึ้น

เพื่อให้สัดส่วนเพิ่มเป็น 50% ขณะที่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขยาดย่อม (เอสเอ็มอี) 25% และรายใหญ่จะลดเหลือ 25% จากปี 2555 ที่สัดส่วนรายย่อยมีเพียง 27% ขณะที่เอสเอ็มอีมีเพียง 13% และที่เหลือเป็นรายใหญ่ถึง 60%

และจากการก่อตั้งมา 10 ปี พบว่ามีการปล่อยสินให้กับผู้นับถือศาสนาอิสลามเพียง 3% ซึ่งยังห่างไกลและไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งธนาคารที่เน้นรายย่อยและเป็นผู้นับถือศาสนาอิสลาม

สำหรับการยื่นขอเพิ่มทุนจากกระทรวงการคลัง นายธานินทร์กล่าวว่า ได้ยื่นเสนอไป 1.3 หมื่นล้านบาท โดยกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างพิจารณาความเหมาะสม และจะประเมินจากความคืบหน้าการทำตามแผนฟื้นฟูกิจการที่เสนอไป ซึ่งคาดว่าไม่น่ามีปัญหา เพราะขณะนี้ได้เริ่มเดินหน้าปรับโครงสร้างหนี้แล้ว และเชื่อว่าน่าจะทำได้ตามแผน 3 ปีที่เสนอไป

นายพิชัย ชุณหวชิร ประธานกรรมการบริหาร และประธานคณะกรรมการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ฟื้นฟู ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) เปิดเผยว่า ธนาคารได้เข้าพบและรายงานแผนยุทธศาสตร์ฟื้นฟูธนาคารต่อนายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งผลการดำเนินงานในเดือนมกราคม ธนาคารสามารถปฏิบัติตามแผนที่วางไว้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook