สรจักร เกษมสุวรรณ ดีดีบินไทย ทำงานวันละ 20 ชม. หมดเวลาไปกับแฟ้ม "อะมีบา"

สรจักร เกษมสุวรรณ ดีดีบินไทย ทำงานวันละ 20 ชม. หมดเวลาไปกับแฟ้ม "อะมีบา"

สรจักร เกษมสุวรรณ ดีดีบินไทย ทำงานวันละ 20 ชม. หมดเวลาไปกับแฟ้ม "อะมีบา"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ผ่านมากว่า 3 เดือนบนเก้าอี้ "ดีดีการบินไทย" ที่ "สรจักร เกษมสุวรรณ" ขึ้นดำรงตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)

เพื่อดูแลองค์กรรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่อันดับ 4 ของประเทศ ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งต้องลาออกจากตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท อสมท

สรจักรเป็นดีดีการบินไทยลำดับที่ 16 และเป็นคนที่ 3 ที่มาจากบุคคลภายนอก ซึ่งในอดีตดีดีการบินไทยส่วนใหญ่เป็นบุคคลภายในบริษัทการบินไทย หรืออดีตนายทหารอากาศชั้นผู้ใหญ่

เส้นทางการทำงานของสรจักรคลุกคลีอยู่กับแวดวงนักวิชาการและสื่อสารมวลชน เคยดำรงตำแหน่งโฆษกสถานีวิทยุบีบีซี ภาคภาษาไทย ประจำกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ

เป็นผู้อำนวยการองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ อสมท และเป็นที่คุ้นตาแวดวงฝ่ายการเมือง ในฐานะเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรี ติดตามนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

สำหรับดีกรีการศึกษา หลังเรียนจบมัธยมศึกษาปีที่ 5 ร.ร.สาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เข้าศึกษาต่อคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ และสอบชิงทุนรัฐบาลศึกษาต่อที่อังกฤษ จบปริญญาโททางนิติศาสตร์ จาก University College, London, University of London และระดับปริญญาเอกทางกฎหมาย จาก London School of Economics, University of London ปี 2524 และ 2530 ตามลำดับ

ด้วยวัย 58 ปี กับตำแหน่งหน้าที่ความรับผิดชอบให้มากำกับดูแลด้านธุรกิจการบิน ซึ่งเป็นสายงานที่ไม่เคยผ่านมาก่อน ถูกจับตาจากหลายฝ่าย จึงเป็นภารกิจที่ท้าทายความสามารถในการพิสูจน์ฝีมือให้เป็นที่ประจักษ์ นำพาองค์กรที่ประสบภาวะขาดทุนต่อเนื่องไปสู่ทิศทางที่ดีขึ้นได้อย่างไร

จนกลายเป็นแรงกดดันที่ถูกคาดหวังสูง ใครที่ก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารย่อมต้องเหงื่อตกเป็นธรรมดา เรียกว่าเวลาเกือบทั้งหมดต้องทุ่มให้กับงาน ดังที่ "สรจักร" ได้เปิดเผยกับหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ถึงเวลาทำงานที่กินเวลาเกือบ 20 ชั่วโมงในหนึ่งวัน

"เวลาทำงานของผมคือตีสี่ถึงสี่ทุ่มครึ่ง กลับบ้านห้าทุ่ม นอนเกือบเที่ยงคืน เหลือเวลานอนประมาณ 4-5 ชั่วโมง สุขภาพแย่แล้ว ตั้งแต่มาทำงานการบินไทย (หัวเราะ) แต่ผมไม่ได้เครียดนะ หัวเราะกับชีวิตเสียบ้าง ผมเป็นคนไม่เก็บความเครียดไว้บนหน้า คนจึงไม่ค่อยรู้ว่าผมเครียด ผมว่าเรื่องการยิ้มและการหัวเราะเป็นเรื่องดีสำหรับคนที่อยู่รอบข้างตัวเรา"

บทสนทนาที่เริ่มขึ้นอย่างเบา ๆ ก่อนจะเริ่มเข้มข้นตามลำดับ


- ตื่นตี 4 มาทำอะไรบ้าง

โห...ลุกมาเซ็นแฟ้มจนถึง 7 โมงเช้า เวลา 07.45 น. ออกจากบ้าน แฟ้มการบินไทยมหัศจรรย์มาก ผมเรียกว่าแฟ้ม "อะมีบา" คือมันขยายตัวเองได้ ตอนแรกวางอยู่ 3 แฟ้ม ประชุม 3 ชั่วโมง กลับมามี 6 แฟ้ม รับแขกอีก 2 ชั่วโมง กลับมาเป็น 9 แฟ้ม

การบินไทยเป็นองค์กรที่มีการประชุมเยอะมาก ผมคิดว่าต้องเปลี่ยนสไตล์การทำงาน ซึ่งผมก็พยายามจะเปลี่ยนสไตล์การทำงานของผู้บริหารการบินไทยระดับหนึ่ง ให้เซ็นแฟ้มระดับหนึ่ง ประชุมน้อยลง ให้มีเวลาคิดนโยบาย มีเวลาคิดเรื่องการพัฒนาธุรกิจมากขึ้น จะเห็นได้ว่าสีหน้าผมเริ่มเครียดเป็นลำดับแล้วนะ (ยิ้ม)

นี่คือเหตุที่ผมต้องยกแฟ้มกลับไปเซ็นต่อที่บ้าน


- ตารางการประชุมแน่นขนาดไหน

ผมว่าสังคมไทยเป็นสังคมบ้าประชุม การบ้าประชุมของสังคมไทยมีสาเหตุหนึ่งมาจากความรู้สึกที่ว่า ไม่อยากรับผิดในเชิงส่วนตัว เพราะฉะนั้น เรื่องทั้งหลายก็ไปตัดสินในที่ประชุม และทุกคนก็รับผิดเหมือนกัน ใช้ที่ประชุมเป็นที่ตัดสิน เพื่อที่ว่าจะได้ไม่ต้องเสี่ยงตัดสินใจเอง ความจริงไม่น่าจะเป็นเรื่องถูก ผู้บริหารก็ต้องตัดสินใจระดับหนึ่ง เพราะคุณเป็นผู้บริหาร แต่ไม่ใช่ทุกเรื่องนำเข้าห้องประชุมทั้งหมด

เราก็เป็นสังคมที่เอะอะ...ตั้งคณะกรรมการ ตั้ง ๆ แล้วในที่สุดก็จะมีคณะกรรมการเหล่านี้เต็มไปหมด แล้วก็ต้องประชุมวันละ 3 ชุด อาทิตย์ละ 20 ชุด เรียกว่าไม่ต้องทำการทำงานแล้ว และระบบที่เกี่ยวข้องกับราชการ รัฐวิสาหกิจ เรามักจะไปจับผิดกันหยุมหยิม ๆ

การจับผิดประเภทนี้ มันทำให้มาเร่งปฏิกิริยาของการมีคณะทำงาน คณะกรรมการนโยบายอีก แบบว่าจะได้ไม่ต้องมาจับผิดฉันคนเดียว ก็ไปจับผิดคณะกรรมการ ถ้าเกิดอะไรขึ้นมา ก็ไม่เกี่ยวกับตัวเอง เพราะกรรมการว่ามาอย่างนั้น

ในที่สุดก็กลายเป็นสังคมที่ไม่มีใครรับผิดชอบ และประชุมเต็มไปหมด แต่ก็ไม่สามารถตัดสินใจเดินหน้ากันไปได้สักเรื่อง เพราะเอาเข้าจริง ๆ เรื่องสำคัญ ๆ กรรมการก็ไม่กล้าตัดสินอีก ถึงแม้ความรับผิดจะแบ่งกัน 10 คน แต่ไม่มีใครอยากเป็น 1 ใน 10 ที่ต้องรับผิดชอบ นั่งประชุมไป 4 ชั่วโมง จบลงโดยไม่มีอะไรเดินไปข้างหน้า นี่ปัญหาของประเทศชาติ


- ทางออกคืออะไร

ผู้บริหารทุกระดับ ทั้งบริษัทเอกชน องค์กรรัฐวิสาหกิจ ต้องรู้ว่าเขาจ้างให้มาเป็นผู้บริหาร จ้างให้มาตัดสินใจ ก็ต้องตัดสินใจ โดยใช้ขบวนการขั้นตอนการตัดสินใจที่ถูกต้อง ถ้าใช้กระบวนการตัดสินใจที่ถูกต้องบนพื้นฐานการรักษาผลประโยชน์สูงสุดของหน่วยงานที่คุณดูแล ก็ต้องทำไป

"แล้วการมาจับผิดหยุมหยิมนินทาสารพัด ใส่ร้ายกัน ก็ต้องเลิก ไม่งั้นไม่ต้องทำงานกัน ไม่งั้นประเทศไทยก็จะย่ำอยู่กับที่ตลอดไปแบบนี้ ฉะนั้นทุกคนต้องร่วมกันคิดแบบนี้เหมือน ๆ กัน ต้องระดมการคิดแบบนี้เหมือน ๆ กัน

ผมบอกการบินไทยว่า ผมไม่ต้องการประชุมอย่างงี้อีกแล้ว อะไรที่เป็นคณะกรรมการตามโครงสร้างรักษาไว้ประชุมหมด แต่อะไรที่เป็นคณะกรรมการตั้งขึ้นมาใหม่ ไม่จำเป็นก็ยกเลิกเสีย และก็ประชุมเป็นเรื่อง ๆ สมมติ ผมอยากจะเน้นเรื่องรายได้ของปีหน้า ผมก็จะประชุมผู้ที่เกี่ยวข้องเรื่องรายได้ เป็นเรื่อง ๆ ไป เราจะได้รู้ว่าจะพูดเรื่องอะไร แล้วก็เดินหน้าไปได้ ไม่ใช่ประชุมแล้วมี 15 วาระ ทั้งที่เรื่องรายได้เป็นเรื่องสำคัญที่สุด แต่ต้องเป็น 1 ใน 15 วาระ โห...มันจะไปไหนได้"


- ไม่มีการกำหนดจัดลำดับความสำคัญของวาระ ?

ทุกคนก็บอกว่าวาระของตัวเองสำคัญหมด ทุกคนก็อยากนำเข้าหมด (ลองเข้ามาทำงานสัก 1 อาทิตย์ไหม จะได้เห็น)


- หากเกิดกรณีผิดพลาดขึ้นมาโดยไม่ผ่านการประชุม ความรับผิดชอบจะไปตกที่ใคร

ทุกอย่างมีกฎระเบียบ ระเบียบบอกว่าเรื่องนี้ต้องผ่านที่ประชุม ก็ต้องผ่านที่ประชุม แต่ถ้าไม่ต้องผ่านที่ประชุม ก็ทำตามขั้นตอน 1-4 ตามระเบียบกำหนด แต่วันนี้จะทำ 1-4 แต่ก็ต้องเพิ่มการประชุมเข้าไปด้วย เพื่อจะบอกว่าฉันไม่ได้ตัดสินใจคนเดียวนะ

มีคนตั้งเยอะแยะช่วยกันตัดสินใจ แต่ที่ว่าช่วยกันคิดตั้งเยอะแยะนั่นไม่ได้ช่วยกันตัดสินใจจริงหรอก ทำให้เรื่องดีเลย์ไปอีก 3 สัปดาห์ 3 เดือน

ทุกที่มีกระบวนการการทำงานของมัน ไม่ว่าเอกชนหรือรัฐบาล กระบวนการทำงานเป็นคัมภีร์ ถ้าตราบใดทำตามกระบวนการแล้ว การตัดสินใจนั้นก็ถูกต้อง แต่ไม่ได้หมายความว่าการตัดสินใจนั้นเป็นประโยชน์สูงสุดขององค์กรหรือไม่ แต่ต้องดูว่ากระบวนการตัดสินใจนั้นถูกต้องหรือไม่ ชอบด้วยกระบวนการการทำงานหรือไม่

รัฐวิสาหกิจไม่ใช่ราชการ ราชการแก้ยาก เพราะมี พ.ร.บ.บริหารแผ่นดินเยอะแยะมากมาย ซึ่งทำให้แก้ไม่ได้ แต่หน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แล้ว สามารถใช้กฎหมายตลาดหลักทรัพย์ ใช้ พ.ร.บ.บริษัทมหาชน เพราะฉะนั้นก็ยึดคัมภีร์นี้เป็นหลักดำเนินการ

แต่เวลานี้เราไปยึดทุกอย่าง รัฐวิสาหกิจยึดระบบราชการ ยึดหลักกฎเกณฑ์ทุก ๆ อย่างเหมือนตอนที่เป็นรัฐวิสาหกิจเต็ม ๆ ตัว แล้วเอาบางอย่างของการเป็นบริษัทมหาชนมาใช้ แบบนี้ก็เจ๊ง...ใช่ไหม (ผมไม่ได้หมายถึงการบินไทยนะ)

"ผมบอกการบินไทยว่า หลายอย่างที่การบินไทยทำ ข้าราชการยังไม่ทำเลยนะ คุณเป็นบริษัทมหาชน แต่คุณทำหลายอย่างที่ข้าราชการไทยเลิกทำไปแล้ว"

ทั้งนี้ สรจักรได้สรุปอย่างเข้าใจปัญหาในฐานะผู้ผ่านการทำงานมาหลายองค์กรว่า วิถีวัฒนธรรมการทำงานของแต่ละองค์กรก็แตกต่างกัน เพียงแต่อยากให้ผู้บริหารมีเวลาทำงาน

จึงต้องย้ำขอเวลาในการทำงาน ไม่ใช่ขอเวลาส่วนตัว เพราะดีดีการบินไทยบอกว่า

"ผมไม่มีครอบครัวถึงทำได้ ถ้ามีครอบครัว ใครจะทำได้แบบนี้ ถ้ามีจริง คงหย่ากันตั้งแต่อาทิตย์แรกแล้ว"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook