คลังผนึก11แบงก์กระตุ้นประกันการส่งออก

คลังผนึก11แบงก์กระตุ้นประกันการส่งออก

คลังผนึก11แบงก์กระตุ้นประกันการส่งออก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐและธนาคารพาณิชย์ไทย 11 แห่งลงนามในความร่วมมือเพื่อกระตุ้นให้ผู้ส่งออกไทยใช้ บริการประกันการส่งออก บริหารความเสี่ยง

นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือภายใต้บริการประกันการส่งออกระหว่าง ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กับสถาบันการเงิน 10 แห่งประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน), ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน), ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน), ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน), ธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน), ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน), ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน), ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย, ธนาคารออมสิน และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ณ กระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2552

ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นผลจาก EXIM BANK ได้รับการอนุมัติเพิ่มทุนจดทะเบียนจากกระทรวงการคลังจำนวน 5,000 ล้านบาทสำหรับให้ "บริการประกันการส่งออก (EXIMSurance)" เพื่อช่วยป้องกันความเสี่ยงให้แก่ผู้ส่งออกไทยจากการไม่ได้รับชำระเงินค่า สินค้าจากผู้ซื้อในต่างประเทศท่ามกลางภาวะวิกฤตการเงินโลก โดยความร่วมมือระหว่าง EXIM BANK กับธนาคารทั้ง 10 แห่งจะช่วยให้ผู้ส่งออกไทยซึ่งเป็นลูกค้าของธนาคารนั้นๆ สามารถเข้าถึงบริการประกันการส่งออกของ EXIM BANK ได้โดยสะดวกขึ้นโดยการติดต่อผ่านธนาคารที่ตนเองมีธุรกรรมอยู่ ทั้งยังมีโอกาสได้รับการขยายสินเชื่อเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากกรมธรรม์ประกัน การส่งออกของ EXIM BANK ถือเป็นหลักประกันประเภทหนึ่งที่สามารถโอนสิทธิการรับค่าชดเชยสินไหมทดแทน ให้แก่ธนาคารผู้ให้กู้ได้

บริการประกันการส่งออกช่วยให้ผู้ส่งออกไทยสามารถเสนอเงื่อนไขการชำระเงิน ที่เหมาะสมและแข่งขันได้ให้แก่ผู้ซื้อในต่างประเทศจำนวนกว่า 200 ประเทศทั่วโลก โดย EXIM BANK จะคุ้มครองความเสี่ยงทางการค้าได้แก่ กรณีผู้ซื้อล้มละลาย ผู้ซื้อไม่ชำระเงินค่าสินค้า และผู้ซื้อปฏิเสธการรับมอบสินค้า หรือความเสี่ยงทางการเมืองได้แก่ การควบคุมการโอนเงินกลับมายังประเทศไทย ผู้ซื้อไม่สามารถนำสินค้าเข้าไปใน ประเทศได้ และเกิดสงคราม จลาจล ปฏิวัติ รัฐประหาร โดย EXIM BANK จะจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้สูงสุดถึง 90% ของความเสียหายที่เกิดขึ้น รวมทั้งช่วยตรวจสอบความน่าเชื่อถือของผู้ซื้อและติดตามหนี้ให้ในกรณีที่เกิด ปัญหา ส่งผลให้ผู้ส่งออกไทยสามารถรักษาส่วนแบ่งตลาดของสินค้าไทยในตลาดเดิม รวมทั้งเพิ่มส่วนแบ่งตลาดในตลาดใหม่ เพิ่มโอกาสให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของไทยเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด ได้มากขึ้น

ข้อมูลจากสถาบันประกันการส่งออกชั้นนำของโลกระบุว่า จำนวนของธุรกิจที่ล้มละลายในประเทศต่างๆ เพิ่มสูงขึ้น โดยคาดว่าในปีนี้จำนวนธุรกิจที่ล้มละลายในสหรัฐฯ จะเพิ่มขึ้นเป็น 62,000 แห่ง (จาก 28,322 แห่งในปี 2550) ในญี่ปุ่นจะเพิ่มขึ้นเป็น 17,000 แห่ง (จาก 14,091 แห่งในปี 2550) ขณะที่สหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสจะเพิ่มขึ้นเป็น 38,200 แห่ง (จาก 22,832 แห่งในปี 2550) และ 62,700 แห่ง (จาก 50,012 แห่งในปี 2550) ตามลำดับ

ตั้งแต่เปิดบริการประกันการส่งออกในปี 2538 จนถึงสิ้นปี 2551 เป็นเวลา 13 ปี EXIM BANK จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ส่งออกที่ไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้าเนื่องจาก ผู้ซื้อปฏิเสธการชำระเงินค่าสินค้าเป็นสัดส่วน 78% อีก 20% ผู้ซื้อล้มละลาย และ 2% ผู้ซื้อปฏิเสธรับมอบสินค้า ธุรกิจส่งออกที่ได้รับการจ่ายค่าสินไหมทดแทนมากที่สุดได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ (58%) รองลงมาได้แก่ เฟอร์นิเจอร์ (11%) อาหารกระป๋อง (9%) ผลิตภัณฑ์พลาสติก (8%) และยางรถจักรยาน (2%)

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook