สำรวจสินค้า "แบรนด์โน" ฮิตก๊อบปี้ "แบรนด์เนม"

สำรวจสินค้า "แบรนด์โน" ฮิตก๊อบปี้ "แบรนด์เนม"

สำรวจสินค้า "แบรนด์โน" ฮิตก๊อบปี้ "แบรนด์เนม"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ดูเหมือนว่ารัฐบาลจะเริ่มจริงจังกับการป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เพราะที่ประชุมระหว่างภาครัฐและเอกชน

โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ที่มี ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน

ได้เห็นชอบจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา พร้อมกำหนดภารกิจไว้ 2 ประการ คือการปราบปรามและรณรงค์สร้างสำนึกไม่ซื้อหรือใช้สินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา

โดยศูนย์ปฏิบัติการเริ่มปฏิบัติการปราบปรามบ้างแล้ว จะเข้มข้นขึ้นปี 2556 เป็นต้นไป

ณัฐวุฒิบอกถึงแนวทางปฏิบัติการว่า "กำลังจัดทำแผนกระชับพื้นที่ในการเข้าตรวจพื้นที่เป้าหมายและพื้นที่ที่ได้รับการร้องเรียน ซึ่งพบว่ามีการร้องเรียนเข้ามาต่อเนื่อง เมื่อหน่วยงานปราบปรามเข้าพื้นที่ตามที่ได้เบาะแสก็พบการกระทำผิดค่อนข้างสูง"

ขณะที่การปราบปราม รอบ 9 เดือนแรกปี 2555 (มกราคม-กันยายน) อันดับแรกที่ถูกจับกุมมากสุดคือ ซีดีภาพยนตร์ ยึดของกลางได้ 276,687 ชิ้น รองลงมา ซีดีเพลง 118,103 ชิ้น เสื้อผ้า 116,387 ชิ้น กระเป๋า 52,631 ใบ ซอฟต์แวร์ 29,926 ชิ้น รองเท้า 14,418 คู่ นาฬิกา 27,830 เรือน และเข็มขัด 5,526 เส้น รวมทั้งสิ้น 641,508 ชิ้น

ซึ่งผลการจับกุมมีสินค้าเมื่อเทียบกับสถิติปีที่ผ่านมาพบว่า หลายชนิดลดลง เพราะรัฐบาลได้เร่งจับกุมและมุ่งการจับกุมในรายใหญ่ รวมถึงรูปแบบการละเมิดเปลี่ยนแปลงไป

โดยด้านบันเทิงจะหันมาไรท์เพลงและภาพยนตร์แทนการปั๊มแผ่น

ขณะที่สินค้าทั่วไปจะหันนำเข้าตามชายแดนแทนการผลิตในประเทศไทย และแหล่งผลิตสำคัญคือจีน กัมพูชา เวียดนาม และมาเลเซีย

จากรวบรวมจากสถิติจับกุมพบว่ายี่ห้อที่นิยมละเมิดมากที่สุดคือกลุ่มเสื้อผ้า ได้แก่ ยี่ห้อ ลี, เวอร์ซาเช่, แอร์โรว์ กลุ่มกระเป๋าคือ ยี่ห้อ หลุยส์ วิตตอง, เฮอร์เมส, ลองชอมป์ กลุ่มรองเท้าคือ ยี่ห้อ ลาคอส, ครอคส์, อาดิดาส กลุ่มนาฬิกาคือยี่ห้อ แท็ค ฮอยเออร์, โรเล็กซ์, โอเมกา กลุ่มเข็มขัด คือ อาร์มานี, ปราดา และ อเบอร์ครอมบี้

แต่แนวโน้มการละเมิดจะเพิ่มความนิยมในตราสินค้าเกาหลี โดยเฉพาะอิทูดี สกินฟู้ด เป็นต้น

ขณะเดียวกัน ก็มีความเห็นจากผู้ปฏิบัติที่มีหน้าที่จับกุมโดยตรง คือ ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับคดีทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ที่บริษัทเจ้าของลิขสิทธิ์ร้องขอให้เข้าร่วมจับกุมมากสุด

พ.ต.อ.กิตติ สะเภาทอง รอง ผบก.ปอศ. เล่าถึงสินค้าก๊อบปี้ยอดฮิตที่ครองตลาดมา ยาวนานว่า ยังคงเป็นสินค้าจำพวกกระเป๋าสตรี รองเท้า และนาฬิกาก๊อบปี้แบรนด์หรู ส่วนใหญ่มีฐานการผลิตที่ประเทศจีน และลักลอบนำเข้ามาประเทศไทย ผ่านมาทางกัมพูชา และลำเลียงเข้าตามแนวตะเข็บชายแดน จ.เชียงราย หนองคาย มุกดาหาร และ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว

เรียกว่า ทั้งขโมยไอเดียและหนีภาษี ผิดกฎหมายหลายบทหลายฉบับ

ซึ่งบรรดานักช็อปมักจะรู้ดีว่าแบรนด์ก๊อบปี้เหล่านี้ ตั้งราคาตามเกรดความเนียนเป๊ะของฝีมือเย็บ ตลอดจนหนังและวัสดุที่ใช้ผลิต สนนราคาหลักหลายพันถึงหลักร้อย เจาะตลาดผู้มีรายได้ปานกลางและ รายได้ต่ำ

สินค้ายอดฮิตอีกอย่างที่ผู้บริโภคนิยม จนเจ้าของลิขสิทธิ์ต้องพาศิลปินนักร้องนักแสดงมาร่วมรณรงค์ คือ เทปผีซีดีเถื่อน

พ.ต.อ.กิตติบอกว่า ฐานการผลิตแผ่นภาพยนตร์และแผ่นเพลง (บลูเรย์) ที่มีความละเอียดสูงอยู่ในประเทศลาว และนำเข้ามาขายในพื้นที่สีแดง

สำหรับพื้นที่สีแดงคือพื้นที่เฝ้าระวังเป็นพิเศษมี 28 จุด ใน 8 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพฯ 8 จุด ชลบุรี 3 จุด เชียงใหม่ 4 จุด ประจวบคีรีขันธ์ 1 จุด สุราษฎร์ธานี 1 จุด กระบี่ 1 จุด ภูเก็ต 3 จุด และสงขลา 4 จุด

ทั้งนี้ พ.ต.อ.กิตติระบุว่า ประเทศไทยมักไม่ค่อยมีผู้ลงทุนผลิตสินค้าก๊อบปี้ เพราะต้นทุนการผลิตค่อนข้างสูง จะมีก็แต่พวกผลิตซอสปรุงรสและซีอิ๊ว เครื่องสำอางปลอมหลากหลายยี่ห้อ ที่ไม่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพจากคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และมักวางขายตามตลาดนัด

ซอสปรุงรสที่มักถูกทำปลอม คือยี่ห้อดังที่มียอดขายสูง ต่อมาบริษัทผู้ผลิตซอสและซีอิ๊วหลายแห่ง ได้ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนจุดสังเกตผลิตภัณฑ์ของแท้ที่ผลิตจากโรงงาน และผลิตภัณฑ์ทำปลอม เพื่อให้ ผู้บริโภคสังเกตก่อนซื้อ

ดังนั้น เมื่อมองแนวโน้มการผลิตสินค้าก๊อบปี้หรือสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ทางปัญญา ในเมืองไทยส่อว่าจะลดลง เพราะต้นทุนผลิตค่อนข้างสูง

ฐานผลิตจึงถูกย้ายไปอยู่รอบๆ ประเทศไทยแล้วลักลอบนำเข้ามาตามแนวชายแดนสู่ใจกลางเมืองหลวงและเมืองท่องเที่ยวสำคัญของไทย

หากรัฐบาลหวังปราบปรามสินค้าก๊อบปี้หรือสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ทางปัญญาให้บรรลุเป้า ต้องขันน็อตเจ้าหน้าที่รัฐตามแนวชายแดน ด่านศุลกากร และด่านตรวจคนเข้าเมือง ให้เข้มข้นกว่าที่เป็นอยู่

ที่สำคัญบิ๊กรัฐบาล นักการเมือง บิ๊กข้าราชการ ต้องเล่นด้วย

ทำให้สินค้าที่ก๊อบปี้ "แบรนด์เนม" กลายเป็น "แบรนด์โน"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook