จำนำข้าว ระบายข้าว เปิด 11 วิธี ขาย ′จีทูจี′

จำนำข้าว ระบายข้าว เปิด 11 วิธี ขาย ′จีทูจี′

จำนำข้าว ระบายข้าว เปิด 11 วิธี ขาย ′จีทูจี′
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การระบายข้าวแบบจีทูจี (government to government) หรือรัฐต่อรัฐ ของกระทรวงพาณิชย์ ที่ถูกตั้งข้อสังเกตว่าเป็นแค่ตัวเลขลม ไม่มีการส่งขายออกต่างประเทศจริง

และข้าวที่อนุมัติได้ระบายหมุนเวียนขายในประเทศ ซึ่ง นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กำหนดเปิดแถลงชี้แจงขั้นตอนการระบายข้าวที่ถูกตั้งข้อสงสัยดังกล่าว ในวันที่ 10 ตุลาคม

ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เห็นชอบวิธีการระบายข้าวสต๊อกรัฐบาล 5 วิธีการ ได้แก่

1.การเจรจาขายแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล (จีทูจี)

2.เปิดประมูลขายเป็นการทั่วไปให้พ่อค้าข้าวและผู้ส่งออก

3.ซื้อขายในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า (เอเฟด)

4.ขายให้องค์กรภายในประเทศหรือนอกประเทศ

5.บริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติ


โดยมอบหมายให้คณะกรรมการระบายข้าว ที่มีนายบุญทรงเป็นประธาน และมีตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ ทำหน้าที่ในการกำหนดและกำกับดูแลการระบายข้าวที่เหมาะสมและได้ประโยชน์สูงสุด

จากการประเมินสถานการณ์การค้าข้าวโลกในปีนี้ พบว่าตลาดค้าข้าวโลกเจอปัญหาอินเดียนำข้าวในสต๊อกออกมาดัมพ์ราคาขาย ประกอบกับเศรษฐกิจโลกไม่ดีจึงหันไปซื้อข้าวราคาถูกลงแทน

ทำให้ตลาดค้าข้าวโลกต้องแข่งขันลดราคาขายตาม สวนทางกับนโยบายรัฐบาลไทยที่ต้องการเพิ่มราคาข้าวและเพิ่มรายได้เกษตรกรในประเทศ เน้นการระบายข้าวแบบจีทูจีเป็นหลัก เพราะขายได้ปริมาณสูง และได้ราคาต้นทุนที่แท้จริง

ขณะที่การเปิดประมูลระบายข้าวทั่วไป จะเจอปัญหาการเสนอซื้อในราคาต่ำ และผู้เสนอซื้อจะใช้ราคาขายข้าวอินเดีย ซึ่งเป็นราคาต่ำมาเป็นเกณฑ์ในการตั้งราคาเสนอซื้อ

ทำให้ราคาที่เสนอต่ำกว่าราคาเกณฑ์กลางที่คณะกรรมการกำหนดไว้ที่คำนวณย้อนหลังจากราคาซื้อขาย 3 เดือนเป็นหลัก เช่นเดียวกับการเสนอราคาซื้อขายในตลาดเอเฟท (ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า) มักอ้างอิงราคาข้าวอินเดียในราคาต่ำ


คณะกรรมการระบายข้าวจึงหันใช้วิธีการขายแบบจีทูจี เพราะมีความคล่องตัวในเรื่องการเจรจาเงื่อนไข และมีวิธีการส่งมอบข้าว หรือ INCOTERM ปี 2010 (International Commercial Terms)

ได้มากถึง 11 รูปแบบ (ข้อตกลงเงื่อนไขการขนส่ง INCOTERM 2010 หรือข้อกําหนดในการส่งมอบสินค้า หรือเงื่อนไขการส่งมอบสินค้า Incoterms

ระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายที่เป็นสากล กําหนดขึ้นโดยสภาหอการค้านานาชาติ หรือ International Chamber of Commerce

เพื่อให้คู่ค้าทั้งผู้ซื้อและผู้ขายทราบถึงขอบเขตความรับผิดชอบภาระค่าใช้จ่ายและความ เสี่ยงต่างๆ โดยช่วยให้ทั้งสองฝ่ายที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรมมีความเข้าใจตรงกัน) ดังต่อไปนี้


1.EXW-Ex Works (...the named place)

ผู้ขายจะสิ้นสุดภาระการส่งมอบสินค้า เมื่อผู้ขายได้เตรียมสินค้าไว้พร้อมสำหรับส่งมอบให้กับผู้ซื้อ ณ สถานที่ของผู้ขายเอง โดยผู้ซื้อจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการขนส่งสินค้าไปยังคลังสินค้าของผู้ซื้อเอง


2.FCA-Free Carrier (...the named point of departure)

เงื่อนไขการส่งมอบ ผู้ขายจะสิ้นสุดภาระการส่งมอบสินค้า เมื่อผู้ขายได้ส่งมอบสินค้าให้กับผู้รับขนส่งที่ระบุโดยผู้ซื้อ ณ สถานที่ของผู้รับขนส่งที่ผู้ขายต้องทําพิธีการส่งออกรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้า และความเสี่ยงภัยระหว่างการขนส่งจากสถานที่ของผู้ขาย จนกระทั่งถึงสถานที่ของผู้รับขนส่งฯ ส่วนค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการขนสินค้าและความเสี่ยงภัยต่างๆ ไปยังจุดหมายปลายทางเป็นของผู้ซื้อ


3.FAS-Free Alongside Ship (...the named port of origin)

เงื่อนไข การส่งมอบนี้ ผู้ขายจะสิ้นสุดภาระการส่งมอบสินค้า เมื่อผู้ขายได้นําสินค้าไปยังกราบเรือ ณ ท่าเรือต้นทางที่ระบุไว้ ส่วนค่าใช้จ่ายในการนำของขึ้นเรือ ค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้า ความเสี่ยงภัยในการนำของขึ้นเรือและระหว่างการขนส่งเป็นภาระของผู้ซื้อใน ทันทีที่สินค้าถูกส่งมอบไปยังกราบเรือและผู้ซื้อต้องรับผิดชอบการทําพิธีการส่งออกด้วย


4.FOB-Free On Board (...the named port of origin)

เงื่อนไขการส่งมอบนี้ ผู้ขายจะสิ้นสุดภาระการส่งมอบสินค้า เมื่อผู้ขายได้ส่งมอบสินค้าข้ามกราบเรือขึ้นไปบนเรือสินค้า ณ ท่าเรือต้นทาง ที่ระบุไว้ ผู้ขายเป็นผู้รับผิดชอบการทําพิธีการส่งออกด้วย ส่วนค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้า และค่าใช้จ่ายอื่นๆ รวมทั้งความเสี่ยงภัยในการ ขนส่งสินค้าเป็นภาระของผู้ซื้อ ในทันทีที่ของผ่าน กราบระวางเรือไปแล้ว


5.CPT-Carriage Paid To (...the named place of destination)

เงื่อนไขการส่งมอบนี้ ผู้ขายจะสิ้นสุดภาระการส่งมอบสินค้าเมื่อผู้ขายได้ส่งมอบสินค้าให้ผู้รับขนส่งที่ระบุโดยผู้ซื้อ ณ สถานที่ของผู้รับขนส่งสินค้าที่เมืองท่าต้นทาง ผู้ขายเป็นผู้รับผิดชอบในการทําพิธีการส่งออกและจ่ายค่าระวางขนส่งสินค้า ส่วนค่าใช้จ่ายอื่นๆ รวมทั้งความเสี่ยงภัยในการขนส่งเป็นภาระของผู้ซื้อในทันทีที่สินค้าถูกส่งมอบให้แก่ผู้รับขนส่งสินค้าที่เมืองท่าต้นทาง


6.CIP-Carriage and Insurance Paid To (...the named place of destination)

เงื่อนไขการส่งมอบนี้ ผู้ขายจะสิ้นสุดภาระการส่งมอบสินค้าเมื่อผู้ขายได้ส่งมอบสินค้าให้ผู้รับขนส่งที่ระบุโดยผู้ซื้อ ณ สถานที่ของผู้รับขนส่งสินค้าที่เมืองท่าต้นทาง ผู้ขายเป็นผู้รับผิดชอบในการทําพิธีการส่งออกจ่ายค่าระวางขนส่งสินค้าและค่าประกันภัยขนส่งสินค้า เพื่อคุ้มครองความเสี่ยงภัยในการขนส่งสินค้าจนถึงมือผู้ซื้อให้แก่ผู้ซื้อด้วย


7.CFR-Cost and Freight (...the named port of destination)

เงื่อนไขการส่งมอบนี้ ผู้ขายจะสิ้นสุดภาระการส่งมอบสินค้าเมื่อผู้ขายได้ส่งมอบสินค้าข้ามกราบเรือขึ้นไปบนเรือสินค้า ผู้ขายเป็นผู้รับผิดชอบในการทําพิธีการส่งออกและจ่ายค่าระวางขนส่งสินค้า ส่วนค่าใช้จ่ายอื่นๆ รวมทั้งความเสี่ยงภัยในการขนส่งสินค้าเป็นภาระของผู้ซื้อในทันทีที่ของผ่านกราบระวางเรือไปแล้ว


8.CIF-Cost, Insurance & Freight (...the named port of destination)

เงื่อนไขการส่งมอบนี้ ผู้ขายจะสิ้นสุดภาระการส่งมอบสินค้าเมื่อผู้ขายได้ส่งมอบสินค้าข้ามกราบเรือขึ้นไปบนเรือสินค้า ผู้ขายเป็นผู้รับผิดชอบในการทําพิธีการส่งออก จ่ายค่าระวางเรือ และค่าประกันภัยขนส่งสินค้าเพื่อคุ้มครองความเสี่ยงภัยในการขนส่งสินค้าจนถึงมือผู้ซื้อให้แก่ผู้ซื้อด้วย


9.DAT - Delivered At Terminal (...Delivered At Terminal)

เป็นเทอมใหม่แทน DEQ (Delivered Ex Quay) จากข้อมูลเบื้องต้น เทอม DAT สามารถใช้กับการขนส่งแบบใดก็ได้รวมทั้งใช้ได้กับการขนส่งที่ต้องใช้ทั้งสองโหมด สำหรับการส่งมอบสินค้านั้นถือว่าผู้ขายได้ส่งมอบสินค้า เมื่อมีการขนถ่ายสินค้าลงจากยานพาหนะที่บรรทุกไปไว้ยังที่ที่ผู้ซื้อจัดไว้ ณ อาคารขนถ่ายสินค้าในท่าเรือหรือปลายทางตามที่ระบุไว้


10.DAP - Delivered At Place (... Delivered At Place)

เป็นเทอมใหม่แทน DAF (Delivered At Frontier), DES (Delivery Ex Ship), DEQ (Delivered Ex Quay) และ DDU (Delivered Duty Unpaid) ซึ่งทางหอการค้านานาชาติเห็นว่า ทั้งสี่เทอมดังกล่าวค่อนข้างคล้ายกันมากแตกต่างกันเพียงเล็กน้อย จึงยุบรวมกันเพื่อให้เกิดความสะดวกยิ่งขึ้น และตามข้อมูลเบื้องต้น ผู้ขายตามเทอม DAP จะต้องรับผิดชอบในค่าใช้จ่ายต่าง ยกเว้นค่าภาษีและพิธีการนำเข้า และต้องรับความเสี่ยงภัย จนสินค้าถึงจุดหมายปลายทาง


11.DDP-Delivered Duty Paid (Door to Door) (...the named point of destination)

เงื่อนไข การส่งมอบ ผู้ขายจะสิ้นสุดภาระการส่งมอบสินค้าเมื่อผู้ขายได้จัดให้สินค้าพร้อมส่งมอบ ณ สถานที่ปลายทางของผู้ซื้อซึ่งผู้ขายเป็นผู้รับผิดชอบ การทําพิธีการส่งออก จ่ายค่าระวางขนส่งสินค้า ค่าประกันภัยขน ส่งสินค้า
และเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายอื่นๆ รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการนําของลงจากเรือและค่าขนส่งสินค้าไปยังสถานที่ที่ผู้ซื้อระบุไว้ จนกระทั่งสินค้าพร้อมส่งมอบ ณ สถานที่ปลายทาง ผู้ขายต้องเป็นผู้ดําเนินพิธีการนําเข้าสินค้าให้แก่ผู้ซื้อและเป็นผู้จ่ายค่าภาษีนําเข้าแทนผู้ซื้อด้วย


การเจรจาขายข้าวจีทูจีของแต่ละประเทศ จึงมีราคาและเงื่อนไขที่แตกต่างกัน

บางประเทศในเอเชียนิยมซื้อหน้าคลังและว่าจ้างบริษัทมาขนย้ายข้าวจากคลัง ปรับปรุง และส่งไปกับตู้คอนเทนเนอร์ที่มีการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศตามปกติ

ไม่เหมือนการขายแบบซีไอเอฟที่ผู้ขายต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่าย ปรับปรุงข้าว และการส่งมอบถึงท่าเรือผู้ซื้อ วิธีการนี้กระทรวงพาณิชย์จะหลีกเลี่ยงในการเจรจาจีทูจี เพราะมีขั้นตอนยุ่งยากและต้นทุนสูงกว่าการขายหน้าคลัง

โดยทุกครั้งที่มีการขนข้าวออกต้องมีการชำระเงินค่าข้าวก่อน ไม่ว่าจะเป็นรูปเงินสดหรือผ่านบัญชีชำระเงิน พร้อมกับหนังสือยืนยันการส่งออกข้าวแล้ว


รวมข่าวปัญหาจำนำข้าว

 



แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook