โฮปเวลล์ : ศาลปกครองสูงสุด ตัดสินสั่งรัฐจ่ายค่าโง่ 12,000 ล้านบาท

ตัดสินคดีโฮปเวลล์! ศาลปกครองสูงสุดสั่งรัฐจ่ายค่าโง่ 12,000 ล้านบาท

ตัดสินคดีโฮปเวลล์! ศาลปกครองสูงสุดสั่งรัฐจ่ายค่าโง่ 12,000 ล้านบาท
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เว็บไซต์ thebangkokinsight รายงานว่า ศาลปกครองสูงสุดพิพากษากลับคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น ให้กระทรวงคมนาคม โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ต้องปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2551

โดย รฟท. ต้องคืนเงินชดเชยให้กับบริษัทโฮปเวลล์จากการบอกเลิกสัญญารวมเป็นเงิน 11,888 ล้านบาท โดยไม่รวมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี พร้อมคืนหนังสือค้ำประกันมูลค่า 500 ล้านบาทที่ออกโดยธนาคารกรุงเทพ

ประกอบด้วยเงินที่บริษัทได้ชำระเป็นค่าตอบแทนจากการใช้ประโยชน์จากที่ดินของ รฟท. ถึงก่อนวันบอกเลิกสัญญาเป็นเงิน 2,850 ล้านบาท รวมถึงเงินค่าออกหนังสือค้ำประกัน 38 ล้านบาท และเงินค่าก่อสร้าง 9,000 ล้านบาท โดยดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 180 วันนับคดีถึงที่สุด

โดยประเด็นที่ศาลต้องวินิจฉัยมี 3 ประเด็น

1. การยอมรับหรือบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการดังกล่าว จะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่ ข้อเท็จจริงปรากกฎว่า ก่อนที่บริษัทโฮปเวลล์ จะยื่นคำเสนอข้อพิพาท ได้ทำหนังสือขอให้กระทรวงคมนาคม และรฟท. ระงับข้อพิพาทโดยการเจรจาประนีประนอมยอมความให้เสร็จภายใน 60 วัน

ซึ่งกระทรวงคมนาคม และ รฟท. ได้รับหนังสือแล้วกลับเพิกเฉย ไม่พยายามเจรจา บริษัทโฮปเวลล์ จึงมีสิทธิยื่นคำเสนอข้อพิพาท ให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดได้ เมื่อพิจารณาคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในประเด็นดังกล่าวแล้ว เห็นว่า การพิจารณาของอนุญาโตตุลาการเป็นตามเงื่อนไขสัญญาสัมปทานข้อ 31.1 ระบุว่า

"เมื่อมีข้อพิพาทเกิดขึ้นเกี่ยวกับสัญญาคู่สัญญาจะต้องมีการประนีประนอมระงับข้อพิพาทนั้นก่อน หากภายในระยะเวลา 60 วัน ไม่สามารถประนีประนอมระงับข้อพิพาทได้ ให้นำข้อพิพาทเสนออนุญาโตตุลาการชี้ขาดได้"

ดังนั้น คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในส่วนนี้จึงไม่ปรากฎเหตุที่จะทำให้เป็นคำชี้ขาดที่ฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแต่อย่างใด

2. สิทธิเสนอให้ระงับข้อพิพาท โดยวิธีอนุญาโตตุลาการของกระทรวงคมนาคม และ รฟท. พ้นกำหนดระยะเวลาตามกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ข้อตกลงระงับข้อพิพาทระหว่างกระทรวงคมนาคม รฟท. และบริษัทโฮปเวลล์ เป็นสัญญาทางแพ่งชนิดหนึ่งที่บังคับกันได้ และไม่ได้มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ 

ดังนั้น สิทธิเรียกร้องตามสัญญาสัมปทานจึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม.193/30

ทั้งนี้ ข้อพิพาทตามสัญญาสัมปทานเกิดขึ้นนับแต่วันที่กระทรวงคมนาคม และ รฟท. มีหนังสือบอกสัญญากับบริษัทโฮปเวลล์ ลงวันที่ 27 มกราคม 2541 ซึ่งบริษัทโฮปเวลล์เสนอข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2547 ยังไม่ครบ 10 ปี จึงยังคงใช้สิทธิเรียกร้องได้ การที่กระทรวงคมนาคม และ รฟท. อ้างว่าบริษัทโฮปเวลล์ ไม่อาจเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดได้ เพราะเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องเกิน 1 ปี ตาม ม.51 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครอง และวิธีพิจารณาศาลปกครอง พ.ศ.2542 และคณะอนุญาโตตุลาการเห็นว่า ไม่อาจนำระยะเวลาตามบทบัญญัติดังกล่าวมาบังคับใช้กับการใช้สิทธิเรียกร้องที่จะเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการได้ เนื่องจากเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องตามกฎหมายคนละฉบับนั้น

ศาลเห็นว่า เมื่อพิจารณาคำชี้ขาดของศาลอนุญาโตตุลาการในประเด็นนี้แล้ว แม้คำชี้ขาดได้อ้างเหตุทางข้อกฎหมายเกี่ยวกับลักษณะของสัญญาและอายุความแตกต่างไปจากที่ศาลปกครองสูงสุดได้เคยวินิจฉัยไว้แล้วก็ตาม แต่เมื่อเป็นคำชี้ขาดที่ให้ผลว่า ข้อพิพาทที่เสนอเป็นข้อพิพาทที่รับไว้พิจารณาได้ อันเป็นผลตรงกับที่ศาลปกครองสูงสุดได้เคยวินิจฉัยไว้ก่อนแล้ว 

ดังนั้น คำชี้ขาดในประเด็นนี้จึงไม่ปรากฎเหตุบกพร่องถึงขนาดทำให้เป็นคำชี้ขาดที่ฝ่าฝืนต่อตัวบทกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน อีกเช่นกัน

3. คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่มีการกำหนดประเด็นว่า สัญญาสัมปทานเลิกกันไปโดยปริยาย หรือโดยข้อกฎหมายหรือไม่ และกระทรวงคมนาคม รฟท. และบริษัทโฮปเวลล์จะกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ ม.391 หรือไม่เพียงใดนั้น เห็นว่า คดีนี้สัญญาพิพาทลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน การแจ้งยกเลิกสัญญาโดยฝ่ายปกครองแต่เพียงฝ่ายเดียวจึงยังไม่มีผลทางกฎหมายให้สัญญาเป็นอันเลิกกันในทันที

อย่างไรก็ตาม มีข้อเท็จจริงปรากฎว่า กระทรวงคมนาคม และ รฟท. ได้มีหนังสือแจ้งมติ ครม. ที่บอกเลิกสัญญาต่อบริษัทโฮปเวลล์ และได้มีหนังสือแจ้งยืนยันเจตนาที่ไม่ประสงค์จะมีข้อผูกพันตามสัญญาอีกต่อไป ถือเป็นกรณีที่ได้แสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาอย่างชัดเจนแล้ว และต่อมาบริษัทโฮปเวลล์ได้ยินยอมย้ายคนและเครื่องมือออกจากพื้นที่สัมปทานและไม่ได้เข้าไปดำเนินการใดๆ ในพื้นที่ดังกล่าวอีก อันเป็นการแสดงออกถึงการตกลงให้สัญญาเป็นอันเลิกกัน

เมื่อสัญญาเป็นอันเลิกกันแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึง่ได้กลับคืนสู่ฐานะที่เป็นอยู่เดิม เทียบเคียงหลักการให้กลับคืนสู่ฐานะเดิม กรณีที่มีการบอกเลิกสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม.391 คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่เห็นว่าสัญญาเป็นอันเลิกกันและให้คู่สัญญาคืนสู่ฐานะเดิมดังที่เป็นอยู่เดิมจึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแต่อย่างใด

สำหรับคำชี้ขาดในส่วนที่กำหนดให้กระทรวงคมนาคม และ รฟท. ต้องดำเนินการให้บริษัทโฮปเวลล์กลับคืนสู่ฐานะที่เป็นอยู่เดิมนั้น ศาลเห็นว่า เมื่อพิจารณารายละเอียดในประเด็นข้อโต้แย้งต่างๆ ของกระทรวงคมนาคม และ รฟท. ที่อ้างเป็นเหตุให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการนั้น ล้วนแต่เป็นการโต้แย้งดุลพินิจการพิจารณาข้อเท็จจริง และการปรับใช้กฎหมายข้อสัญญาขออนุญาโตตุลาการ ซึ่งคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในประเด็นต่างๆ ดังกล่าว เป็นการวินิจฉัยว่า คู่สัญญาฝ่ายใดปฏิบัติตามสัญญาโดยถูกต้องแล้วหรือไม่ อย่างไร และคู่สัญญาแต่ละฝ่ายมีความรับผิดต่อกันหรือไม่อย่างไร เป็นเรื่องระหว่างคู่สัญญาเท่านั้น ไม่ได้มีลักษณะเป็นเรื่องเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแต่อย่างใด จึงไม่ปรากฎเหตุให้อำนาจศาลปกครองเพิกถอนคำชี้ขาดในส่วนนี้ได้เช่นกัน จึงพิพากษากลับคำ

"พิพากษาศาลปกครองกลาง เป็นยกคำร้องและให้บังคับตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ โดยให้กระทรวงคมนาคม และ รฟท. ปฏิบัติตามคำชี้ขาดดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน นับตั้งแต่คดีถึงที่สุด และให้คืนค่าธรรมเนียมศาลในชั้นอุทธรณ์จำนวน 16,535,504 บาท ให้แก่บริษัทโฮปเวลล์"

สำหรับคดีนี้ ภายหลังกระทรวงคมนาคม และ รฟท. บอกเลิกสัญญาสัมปทาน บริษัทโฮปเมลล์ได้ยื่นข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2547 และเมื่ออนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดให้ รฟท. ต้องจ่ายคืนเงินชดใช้ค่าบอกเลิกสัญญาให้กับบริษัทโฮปเวลล์ คู่กรณีทั้งสองฝ่ายต่างมีการยื่นฟ้องกันเองต่อศาลปกครองกลาง ต่อมาศาลปกครองกลางมีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2557 เพิกถอนคำชี้ขาดดังกล่าว สุดท้ายศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษากลับคำดังกล่าว ถึงเป็นการปิดตำนานคดีสัมปทานโฮปเวลล์ที่ยาวนานกว่า 15 ปี

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook