Facebook เตรียมรวม WhatsApp - IG - Messenger เป็นแพลตฟอร์มเดียว ภายในปี 2020

Facebook เตรียมรวม WhatsApp - IG - Messenger เป็นแพลตฟอร์มเดียว ภายในปี 2020

Facebook เตรียมรวม WhatsApp - IG - Messenger เป็นแพลตฟอร์มเดียว ภายในปี 2020
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

New York Times อ้างข้อมูลจากแหล่งข่าวใกล้ชิดสี่ราย ว่าโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่ มีแผนรวมโครงสร้างพื้นฐานของทั้งสามแอพพลิเคชั่นในเครือเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อสร้างแพลตฟอร์มรับส่งข้อความที่สามารถสื่อสารถึงกันได้อย่างสะดวก

การรวมกันครั้งนี้ จะทำให้การส่งข้อความ หรือแชร์ข้อมูลต่างๆระหว่างแอพพลิเคชั่นในเครือ ทำได้ง่ายขึ้น โดยไม่ต้องสลับแอพไปมา เช่น สามารถส่งข้อความจาก WhatsApp เข้าไปที่ Messenger ได้โดยตรง เป็นต้น โดยที่แอพแต่ละตัวจะยังเปิดให้บริการแยกกันตามเดิม

ด้านโฆษกของบริษัทฯ ก็ยืนยันว่าเรื่องนี้เป็นความจริง และเริ่มต้นดำเนินงานแล้ว แม้ไม่ได้ให้รายละเอียดใดๆเพิ่มเติม แต่คาดว่าน่าจะแล้วเสร็จก่อนสิ้นปีนี้ หรืออย่างช้าที่สุดไม่เกินต้นปี 2020 หลังบริษัทฯทำการระดมตัววิศวกรนับพันคนมาดูแลโปรเจกต์นี้โดยเฉพาะ

“เรากำลังพัฒนาให้ผลิตภัณฑ์ส่งข้อความแบบ end-to-end ของบริษัทกว้างขึ้น ทำให้ง่ายต่อการเข้าถึงเพื่อนๆ และครอบครัวของผู้ใช้ ภายในเครือข่าย”

การควบรวมครั้งนี้ จะเท่ากับเป็นการสร้างแพลตฟอร์มสื่อสารที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกด้วย โดยปัจจุบัน Whatsapp นั้นเป็นแอพรับส่งข้อความที่มีผู้ใช้งานมากที่สุดในโลกอยู่แล้ว ที่จำนวน 1,500 ล้านคน (ข้อมูลในเดือนกันยายน 2018) รองลงมาคือ Messenger ที่มีผู้ใช้งาน 1,300 ล้านคน

ส่วน Instagram ซึ่งมีผู้ใช้งานราว 1,000 ล้านคน แม้จะไม่ใช่แอพรับส่งข้อความโดยตรง แต่ก็มีฟีเจอร์นี้เช่นกัน

AHEAD TAKEAWAY

ปรับตัวก่อนอิ่มตัว

ไม่ว่าธุรกิจของคุณจะใหญ่แค่ไหน การ pivot หรือการปรับแนวทางการทำธุรกิจ เพื่อหาจุดลงตัวที่เหมาะสมระหว่างผลิตภัณฑ์ของบริษัท และตลาด ก็ยังเป็นเรื่องจำเป็นเสมอ

เหมือนกรณีของ Netflix ที่เริ่มจากธุรกิจส่งดีวีดีให้ผู้เช่าทางไปรษณีย์ มาเป็นผู้ให้บริการสตรีมมิ่ง ก่อนจะต่อยอดมาเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์เองด้วยอย่างในปัจจุบัน

Facebook นั้น ก็เริ่มทยอยปรับโครงสร้างองค์กรมาตลอด ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว ด้วยการรวมผลิตภัณฑ์เดิมๆ เช่น IG, Whatsapp ฯลฯ ไว้ใต้โครงสร้างบริหารชุดหนึ่ง และเพิ่มเติมหน่วยงานใหม่ๆ เพื่อมองหาช่องทางในการรับมือกับเทคโนโลยีที่มีความเคลื่อนไหวตลอดเวลา

เหตุผลหนึ่งก็เพราะการเติบโตของยอดผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียนั้นเริ่มถดถอย เพราะความ “อิ่มตัว” แล้ว

ทางเลือกของ ซัคเกอร์เบิร์ก และทีมผู้บริหาร คือการทำอย่างไรเพื่อรักษากลุ่มผู้ใช้งานที่มีไว้ต่อไป และขยายฐานผู้ใช้งานออกไปสู่กลุ่มอื่นๆที่ไม่ได้มีบัญชีโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่

ย้ำว่า Whatsapp และ Instagram คือส่วนหนึ่งของ Facebook

การควบรวมโครงสร้างพื้นฐานของแอพในเครือทั้งหมดเข้าด้วยกัน จึงถือเป็นอีกตัวเลือกที่น่าสนใจ

ยิ่งเมื่อบรรดาผู้บริหารของแอพอย่าง InstagramWhatsApp และ Oculus ทยอยแยกตัวออกไปตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว การตัดสินใจรวบทุกอย่างเข้าไว้เป็นศูนย์กลาง ก็น่าจะยิ่งทำให้บริษัทแม่เคลื่อนไหวได้ง่ายขึ้น

เพราะการทำแบบนี้เท่ากับประกาศอย่างเต็มตัวว่าข้อมูลของบริษัทเหล่านั้น ก็คือข้อมูลที่เป็นกรรมสิทธิ์ของ Facebook นั่นเอง ในทรรศนะของ ไบรอัน ไวเซอร์ นักวิเคราะห์จาก Pivotal Research Group

“การทำแบบนี้เท่ากับตอกย้ำว่าพวกเขาคือบริษัทเดียวกันนั่นเอง”

ซึ่งจะว่าไปแล้วก็แทบไม่ต่างกับกรณีของ Google ที่มีหลายผลิตภัณฑ์ในเครือ ซึ่งแต่ละบริการ/ผลิตภัณฑ์ ก็มีการส่งต่อข้อมูลถึงกันและกัน ตามที่ระบุไว้ในข้อตกลงผู้ใช้งานในตอนลงทะเบียนสมัครนั่นเอง

สะดวก แต่ไม่ปลอดภัย?

แต่ในอีกแง่ สิ่งที่ ซัคเกอร์เบิร์ก ต้องระวังเป็นพิเศษ จากทรรศนะของ ทิม แม็คเคย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูลส่วนบุคคล จากบริษัทซอฟท์แวร์ Synopsys ก็คือ ปัญหาความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน ที่เป็นชนักติดหลังของบริษัทฯมาโดยตลอด

“การรวมข้อมูลส่วนบุคคล และการกำหนดค่าความเป็นส่วนตัวจากทั้งสามแอพพลิเคชัน ไม่ใช่เรื่องเล็กๆที่ควรมองข้าม” แม็คเคย์กล่าว

“จะเป็นเรื่องดีหากว่าทีมพัฒนาฯ ได้ดูตัวอย่างก่อนหน้านี้ และจัดลำดับความสำคัญความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้เอาไว้เป็นเรื่องแรกๆ”

“ในตอนนี้การควบรวมคาดว่าจะใช้เวลาหนึ่งปีจึงจะเสร็จสมบูรณ์ และด้วยการเข้ารหัสแบบครบวงจรซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการ เราจึงควรคาดหวังว่าทีมวิศวกรจะให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของข้อมูล ทั้งในแพลตฟอร์มและในตัวของแอพเอง”

เพราะหากไม่สามารถแก้ตรงจุดนี้ได้ บางทีความสะดวกที่ ซัคเกอร์เบิร์ก พยายามนำเสนอนั้น อาจกลายเป็นเหตุให้ผู้คนเลือกถอยห่างจากแอพอื่นๆในเครือ เหมือนที่เคยเกิดกับบริษัทแม่ก็เป็นได้

แนวโน้มในอนาคต?

การควบรวมแอพในเครือ หรือพยายามนำเสนอผลิตภัณฑ์/บริการให้ครบ จบในแอพเดียวนั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด เพราะเป็นสิ่งที่บริษัทยักษ์ใหญ่หลายรายพยายามทำกันมาตลอด

เพราะโดยธรรมชาติของผู้ใช้แล้ว ต่อให้โหลดแอพพลิเคชั่นมาใช้งานมากแค่ไหน สุดท้าย จะมีแอพเพียงไม่กี่ตัวที่เราใช้งานอย่างจริงจัง ส่วนที่เหลือ ก็มีโอกาสจะถูกลบทิ้งเพื่อให้เหลือพื้นที่ใช้งานสำหรับเรื่องอื่นๆแทนมากกว่า

เหมือนที่ Tencent ของจีน ใส่ทั้งฟีเจอร์เสริม หรือ add-on ต่างๆลงไปใน WeChat จนคนสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้โดยแทบไม่ต้องกดออกเพื่อไปเข้าแอพอื่น

ขณะที่ในบ้านเรา ตัวอย่างหลักๆที่ชัดเจน ก็คือ LINE ที่พัฒนาไปไกลมากกว่าแค่แอพพลิเคชั่นสำหรับรับส่งข้อความที่มีสติกเกอร์โดนใจเท่านั้น เพราะยังมี timeline ที่เปิดให้รับฟีดเรื่องราวของคนรู้จัก wallet สำหรับจ่ายค่าบริการซื้อสินค้า รวมถึงบริการอื่นๆอีกสารพัด เพื่อดึงให้ผู้ใช้อยู่กับตัวแอพให้นานที่สุด และมีแนวโน้มที่จะขยายตัวออกไปได้อีก หลังจับมือกับธนาคารกสิกรไทย ตั้งบริษัท “บริษัท กสิกร ไลน์ จำกัด” เมื่อเร็วๆนี้

อีกตัวอย่างที่น่าสนใจไม่แพ้กัน ก็คือ Grab ที่ไม่ต้องการหยุดตัวเองไว้ที่บริการเรียกรถ แต่ต้องการเป็นแพลตฟอร์ม ในลักษณะที่เรียกว่า “everyday super-app” ขยายรูปแบบการให้บริการรูปแบบอื่น อาทิ การชำระเงินออนไลน์ หรือการจัดส่งสินค้า ฯลฯ นั่นเอง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook