เปิดที่มา “ข้าวต้มมัด” จากหาบเร่สู่สายการบิน “บางกอกแอร์เวย์ส”

เปิดที่มา “ข้าวต้มมัด” จากหาบเร่สู่สายการบิน “บางกอกแอร์เวย์ส”

เปิดที่มา “ข้าวต้มมัด” จากหาบเร่สู่สายการบิน “บางกอกแอร์เวย์ส”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เพจเฟสบุ๊กสายการบิน “บางกอกแอร์เวย์ส” ได้มีการโพสต์ข้อความว่า

'ไม่ต้องลำบากแล้วนะยาย'

คำพูดของคุณหมอปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ผู้ก่อตั้งสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ซึ่งพูดไว้กับคุณยายฟูเมื่อ 15 ปีที่แล้ว ได้เปลี่ยนชีวิตของคุณยายฟูจากทำข้าวต้มมัดขายเพียงวันละ 80 ชิ้น/วัน เป็น 4,000 ชิ้น/วัน

ย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2546 เมื่อครั้งคุณหมอมักจะไปวิ่งออกกำลังกายที่สวนลุมพินี ก่อนกลับบ้านต้องแวะไปที่หาบขนมของคุณยายฟู คงดั่น ซึ่งทำขนมไทยหลากหลายชนิดขายประจำในบริเวณนั้น เช่น ข้าวต้มมัด ขนมเทียน ขนมใส่ไส้ แต่ทั้งหมดนั้น ข้าวต้มมัดเป็นขนมที่ขายดีเป็นพิเศษ เพราะมีขนาดพอดีคำ หวานมันกำลังดี เป็นที่ติดอกติดใจของของลูกค้าทั้งขาจรและขาประจำ

เมื่อคุณหมอเป็นลูกค้าประจำได้ระยะหนึ่ง ด้วยความเป็นนักธุรกิจที่เห็นการณ์ไกล จึงเชิญชวนให้คุณยายให้นำข้าวต้มมัดมาเป็นหนึ่งในขนมที่ให้บริการในห้องรับรองของสายการบิน นอกจากจะเป็นการเปิดมิติใหม่ให้กับขนมในเลาจ์นที่มักจะมีแต่พาย เค้ก และแซนด์วิช รสชาติของข้าวต้มมัดที่คุณหมอเชื่อมั่นได้มัดใจผู้โดยสารของบางกอกแอร์เวย์สได้อย่างเหนียวแน่น เรียกได้ว่าผู้โดยสารเกือบทุกคนจะต้องหยิบข้าวต้มมัดมารับประทานเมื่อเข้ามาในห้องรับรอง และนั่นก็ทำให้ข้าวต้มมัดคุณยายฟูเป็นส่วนหนึ่งของบางกอกแอร์เวย์ส ซึ่งก้าวเดินและเติบโตไปด้วยกันมาจนถึงทุกวันนี้

หากจะถามว่าเสน่ห์ของข้าวต้มมัดคุณยายฟูมาจากไหน คำตอบก็คงจะเป็นความพิถีพิถันในทุกขั้นตอน มีการสุ่มตรวจคุณภาพของขั้นตอนต่างๆ เพื่อควบคุมให้ได้มาตรฐานเท่ากันทุกชิ้น บางครั้งคุณภาพข้าวเหนียวไม่เป็นไปอย่างที่ต้องการ คุณยายฟูจะให้เททิ้งและทำใหม่ทันทีเพื่อให้ได้รสชาติคงที่และนำส่งได้ทันเวลา

ทุกคนในบ้านจะต้องตื่นตั้งแต่ตี 4 เพื่อเริ่มขั้นตอนการผลิต ตั้งแต่การผัดข้าวเหนียว ฉีกใบตอง ไปจนถึงการห่อและนึ่ง โดยแบ่งหน้าที่กันไปตามความชำนาญ การห่อขนมจะต้องให้มีขนาดที่เท่ากันทุกชิ้น และไม่ใช้เชือกรัด แต่จะใช้วิธีการจัดเรียงลงบนหม้อซึ้งให้แน่นก่อนจะนำไปนึ่ง ทำให้ขนาดของข้าวต้มมัดพอดีคำเป็นเอกลักษณ์ และง่ายต่อการรับประทาน

คุณยายฟูเริ่มทำข้าวต้มมัดโดยมีลูกสาวเป็นผู้ช่วย เริ่มจากวันละ 80 ชิ้น บวกกับยังคงทำขนมอื่น ๆ หาบเร่ขายที่สวนลุมเหมือนที่เคย จนเวลาผ่านไป บางกอกแอร์เวย์สเป็นสายการบินที่เติบโตขึ้น ปริมาณของข้าวต้มมัดที่ต้องทำต่อวัน จึงเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย คุณยายจึงหยุดขายหาบเร่ และหันมาทำข้าวต้มมัดส่งให้กับบางกอกแอร์เวย์สโดยมีทั้งรุ่นลูกและหลานเป็นลูกมือที่แข็งขัน จนมาถึงปัจจุบัน คุณยายฟูมีอายุมากขึ้น จึงได้ถ่ายทอดเคล็ดลับการทำข้าวต้มมัดให้ได้สืบสานต่อไปจากรุ่นสู่รุ่น

ปัจจุบันครอบครัวของคุณยายฟูจะต้องทำข้าวต้มมัดส่งให้กับบางกอกแอร์เวย์ส เฉลี่ย 4,000 ชิ้น ต่อวัน จึงกลายเป็นโรงงานขนาดย่อมๆ ที่มีทุกคนในครอบครัวมาช่วยกันทำข้าวต้มมัด แบ่งหน้าที่ แบ่งรายได้กันอย่างเท่าเทียม เกิดเป็นธุรกิจภายในครอบครัว และมีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ ทำให้มีรายได้ที่มั่นคง สม่ำเสมอ และยังส่งต่อโอกาสนี้ไปยังเกษตรกรที่เป็นเจ้าของวัตถุดิบต่างๆ อีกด้วย

จากขนมหาบเร่เล็กๆ จนกลายเป็นธุรกิจที่มั่นคงของครอบครัว นอกจากความเป็นเอกลักษณ์ของห้องรับรองผู้โดยสารที่ใครๆ ก็ติดใจ ข้าวต้มมัดคุณยายฟูยังเป็นเสมือนสายใยที่ผูกพันอย่างเหนียวแน่นระหว่างผู้ประกอบการเล็กๆ กับธุรกิจใหญ่ที่จะเป็นต้นแบบของการเรียนรู้ เป็นความสำเร็จที่ WIN WIN ไปด้วยกัน ฝั่งหนึ่งคือความพิถีพิถันใส่ใจ อีกฝั่งหนึ่งคือความจริงใจ ให้โอกาสและทำธุรกิจร่วมกันบนพื้นฐานจริยธรรม จึงกลายเป็นความมั่นใจในกันและกันตลอดมา

ท่ามกลางขนมหลากชนิดอย่างพาย เค้ก และแซนด์วิช ขนมห่อใบตองที่เรียกว่าข้าวต้มมัดยังคงโดดเด่นอยู่ในมุมนั้น ผิวเหลืองนวลของใบตองที่หุ้มห่อความหวานของไส้กล้วย ความหอมจากกะทิ ข้าวเหนียวผสมถั่วดำที่ตรึงใจเมื่อได้สัมผัสลิ้น เรียกได้ว่าเป็นความภาคภูมิใจของครอบครัวคุณยายฟูและบางกอกแอร์เวย์สตลอดไป

ba

ขณะที่คนในโลกโซเชียลต่างแสดงความคิดเห็นในทิศทางเดียวกันว่าชื่นชอบข้าวต้มมัดของสายการบิน บางกอกแอร์เวย์ส เพราะรสชาติอร่อย รวมถึงเป็นขนมไทยที่ขายในรูปแบบหาบเร่แต่กลับถูกยกระดับให้ไปตั้งอยู่ในเลาจ์นของสายการบินดังกล่าว เพื่อให้นักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศได้สัมผัสรสชาติของขนมไทยอย่างแท้จริง และยังเป็นการสร้างอาชีพที่ยั่งยืนให้กับครอบครัวของคุณยายที่ขายข้าวต้มมัดอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม รูปแบบการทำประชาสัมพันธ์ของสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ถือว่าประสบความสำเร็จค่อนข้างมาก เนื่องจากชาวเน็ตส่วนใหญ่แห่คอมเมนต์ไปในทิศทางบวก ถือว่าเป็นการประชาสัมพันธ์ที่ฉลาดมาก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook