ล้ำไปอีก! เปลี่ยนขยะเป็น "ทองคำ" ได้แล้ว

ล้ำไปอีก! เปลี่ยนขยะเป็น "ทองคำ" ได้แล้ว

ล้ำไปอีก! เปลี่ยนขยะเป็น "ทองคำ" ได้แล้ว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิล ของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ หรือ กพร. อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ จะเป็นศูนย์ ITC ด้านการเรียนรู้และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในการรีไซเคิลขยะภายในประเทศ

ซึ่งศูนย์ดังกล่าว จะสามารถเปลี่ยนขยะเป็น แร่ โลหะ และพลังงานทดแทนให้แก่ภาคอุตสาหกรรมได้ หรือที่เรียกกันในหลายประเทศว่า “การทำเหมืองแร่ในเมือง (Urban Mining)” เพื่อเป็นแหล่งทรัพยากรทดแทนให้แก่ภาคอุตสาหกรรม ลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติใหม่ ลดการเกิดขยะและปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ขับเคลื่อนสู่ Zero Waste Society และ Circular Economy

นอกจากการพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลต้นแบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเน้นให้บริการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทั้งระดับห้องปฏิบัติการ (Lab scale) และระดับโรงงานต้นแบบ (Pilot scale) ศูนย์แห่งนี้ยังเปิดให้มีการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการถ่ายทอดเทคโนโลยีทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ โดยผู้ประกอบการที่สนใจสามารถเข้ามาเรียนรู้และอบรมได้ ผ่านเทคโนโลยีถึง 49 ชนิด  เพื่อผลักดันไปสู่การสร้างผู้ประกอบการ ในอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ Circular Economy

“นวัตกรรมและเทคโนโลยีของศูนย์แห่งนี้ สามารถเปลี่ยนซากอิเล็กทรอนิกส์ ให้เป็นทองคำได้ โดยอาศัยวิธีการคัดแยกซากอิเล็กทรอนิกส์ ก่อนเข้ากระบวนการตรวจสอบปริมาณแร่ และสกัด จนกระทั่งถึงกระบวนการหลอมให้เป็นทองคำ รวมไปถึงแร่โลหะอื่นๆ เช่น เงิน แพลทินัม แพลเลเดียม โรเดียม นีโอดีเมียม ลิเทียม ทองแดง อะลูมิเนียม เป็นต้น เช่นเดียวกับซากพลาสติกที่สามารถแปลงเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่า โดยจะไม่เหลือเป็นซากรอกำจัดอย่างที่ผ่านมา” รมช.อุตสาหกรรมกล่าว

ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนซากอิเล็กทรอนิกส์ ประมาณ 400,000 ตัน/ปี โดยสามารถจัดการผ่านกระบวนการรีไซเคิลอย่างถูกวิธีได้เพียง ประมาณ 100,000 ตัน อีก 100,000 ตัน อยู่ภายในบ้านของทุกคน และอีกประมาณ 200,000 ตันถูกจัดการอย่างไม่เป็นระบบ

ส่วนจำนวนขยะพลาสติกในประเทศนั้นมีประมาณ 2,000,000 ตัน/ปี มีการจัดการอย่างเป็นระบบเพียง 500,000 ตัน ส่วนที่เหลือ 1,500,000 ตัน มีระบบการจัดการเช่นการกลบฝัง อีกส่วนหนึ่งก็มีการจัดการที่ไม่เป็นระบบ ซึ่งขยะเหล่านี้หากมีระบบการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพและครบวงจร ตั้งแต่กิจกรรม/กระบวนการที่ก่อให้เกิดขยะ กระบวนการคัดแยก การจัดเก็บรวบรวม การขนส่ง  การรีไซเคิล การบำบัด และการกำจัด  ขยะเหล่านี้จะเป็นแหล่งทรัพยากรทดแทนที่สำคัญของประเทศได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook