BTS เปิดใจ! เหตุใดรถไฟฟ้าถึงมาช้านะเธอ

BTS เปิดใจ! เหตุใดรถไฟฟ้าถึงมาช้านะเธอ

BTS เปิดใจ! เหตุใดรถไฟฟ้าถึงมาช้านะเธอ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“06.15 น. ระบบอาณัติสัญญาณสถานีสยามขัดข้อง ทำให้ขบวนรถเคลื่อนที่ได้ช้า ทีมงานกำลังแก้ไขโดยเร็วที่สุด อาจมีผู้โดยสารสะสมมากบนชานชาลา โปรดระมัดระวังการเข้าออกขบวนรถ” 25/6/2561

นี่เป็นข้อความใน Twitter ของ @BTS_SkyTrain ที่มีผู้ติดตาม 2.5 ล้าน – 3 ล้านคน เป็นสัญญาณที่อาจทำให้คนกรุงฯ หัวเสียตลอด 1 สัปดาห์ (25-29 มิ.ย. 61) หลังบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ชี้แจงว่าอยู่ระหว่างการเปลี่ยนระบบวิทยุสื่อสารในระบบอาณัติสัญญาณ เพื่อรองรับส่วนต่อขยายเส้นทางรถไฟฟ้าที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งเป็นปัญหาที่เหนือการคาดการณ์

การเปลี่ยนระบบอาณัติสัญญาณดังกล่าว ถือเป็นหัวใจสำคัญของความปลอดภัยทั้งระบบตัวรถและผู้โดยสาร ซึ่ง Sanook! Money ได้มีโอกาสพูดคุยกับ นายอาณัติ อาภาภิรม กรรมการทีปรึกษา บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เพื่อเคลียร์ทุกข้อสงสัยกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

 _bts0013นายอาณัติ อาภาภิรม กรรมการทีปรึกษา บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

ระบบอาณัติสัญญาณของรถไฟฟ้า หัวใจของการเดินรถที่ใช้กันทั่วโลก

นายอาณัติ อาภาภิรม กรรมการที่ปรึกษา บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ระบบอาณัติสัญญาเป็นระบบที่ห้องควบคุมส่งสัญญาณไปที่รถไฟฟ้า เพื่อให้ห้องควบคุมได้รับทราบว่ารถไฟฟ้าแต่ละขบวนวิ่งในเส้นทางใดบ้าง และวิ่งด้วยความเร็วเท่าไหร่ โดยที่ห้องควบคุมจะได้บริหารจัดการเดินรถในระบบอัตโนมัติได้ถูกต้องตามความต้องการของประชาชนในช่วงเวลานั้นๆ

หากระบบอาณัติสัญญาณไม่ชัดเจน หรือขาดหาย ห้องควบคุมจะไม่สามารถติดต่อกับรถไฟฟ้าได้ ส่งผลให้การเดินรถไฟฟ้าต้องหยุดตัว หรือมีการกระตุกในบางครั้ง สาเหตุที่ขบวนรถหยุดเดินนั้นก็เพื่อเป็นการรักษาความปลอดภัยของผู้โดยสารภายในขบวน ซึ่งเป็นระบบที่ใช้กันทั่วโลก

ที่ผ่านมา BTS ได้รับการร้องเรียนจากผู้โดยสารถึงการเดินรถที่มีความกระตุก และการหยุดขบวนรถที่ชานชาลาอย่างกะทันหัน ส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าปัญหาดังกล่าวมาจากพนักงานควบคุมรถไฟฟ้ามากกว่าระบบอาณัติสัญญาณที่ไม่เสถียร

unnamed(4)รถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีสยาม

รถไฟฟ้าไม่ลื่นไหล เหตุ! ถูกคลื่นรบกวน

นายอาณัติ เชื่อว่าระบบอาณัติสัญญาณรถไฟฟ้าฺ BTS ถูกรบกวนมาโดยตลอดแต่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่รับได้ ซึ่งแต่ก่อน BTS ใช้ระบบอาณัติสัญญาณตามรางรถไฟฟ้า ต่อมาได้เปลี่ยนรูปแบบมาเป็นการส่งสัญญาณแบบไร้สาย (Wireless) เพราะสัญญาณห้องควบคุมสามารถส่งตรงถึงตัวรถไฟฟ้าได้ทันที ทำให้ได้ข้อมูลของขบวนรถที่ละเอียด แถมสะดวกในการปรับปรุง แต่! ข้อเสีย คือ ถูกคลื่นภายนอกรบกวนได้ง่าย เช่น กองถ่ายละครข้างแนวเส้นทางรถไฟฟ้าปล่อยสัญญาณ WIFI ออกมา 3 วัตต์ ส่งผลให้การเดินรถเกิดการสะดุดตัว เป็นต้น

 

“บอมบาดิเย่ร์” แนะเปลี่ยนระบบอาณัติสัญญาณเป็น “Moxa” แก้ปัญหารถกระตุก

นายอาณัติ ระบุว่า ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบอาณัติสัญญาณ บอมบาดิเย่ร์จากประเทศแคนาดา แนะให้เปลี่ยนระบบอาณัติสัญญาณเป็น “Moxa” เนื่องจากที่ผ่านมา BTS ประสบปัญหาการเดินรถขัดข้องในสายสีลมอย่างหนัก ประกอบกับระบบอาณัติสัญญาแบบไร้สายเป็นระบบเก่า สัญญาณกว้าง ถูกรบกวนได้ง่าย อีกทั้งในปลายปีนี้ (61) จะมีการเปิดให้บริการส่วนต่อขยายโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว (ใต้) ช่วงสำโรง-สมุทรปราการ จึงต้องเร่งวางระบบให้แล้วเสร็จตามกำหนดการ

แน่นอน ระบบใหม่ย่อมดีกว่าระบบเก่าเสมอ…ซึ่งระบบรับสัญญาณวิทยุ Moxa มีสัญญาณที่แคบและแรงกว่า ถูกคลื่นภายนอกรบกวนได้น้อยกว่า โดย BTS เชื่อว่าระบบดังกล่าวจะช่วยแก้ปัญหาการถูกคลื่นภายนอกรบกวนได้เป็นอย่างดี และคาดว่าการเดินรถไฟฟ้า BTS ทั้ง 52 ขบวนจะมีความคล่องตัว สร้างความสะดวกสบายให้กับผู้ใช้บริการมากขึ้น

unnamedรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีสยาม

ผู้โดยสารโวย BTS สนั่นกรุงฯ! เหตุล่าช้า 2-3 ชั่วโมง TOT รับบทพระเอกปิดคลื่น 2300 MHz เพื่อส่วนรวม

นายอาณัติ กล่าวว่า ทาง BTS ได้ดำเนินการติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ Moxa ที่ขบวนรถไฟฟ้าทั้ง 52 ขบวนมานานแล้ว ซึ่งจะแล้วเสร็จในวันศุกร์ที่ 29 มิ.ย.นี้ แต่ในระหว่างนั้นโอเปอร์เรเตอร์รายหนึ่งได้เปิดใช้งานคลื่นความถี่ 2300 MHz ซึ่งอาจทับกับคลื่น 2400 MHz ที่ BTS ปรับมาใช้ อาจมีผลให้ขบวนรถไฟฟ้าที่วิ่งให้บริการบริเวณสถานีสยาม พร้อมพงษ์ และอโศกต้องหยุดตัวลง และยังส่งผลกระทบไปยังเส้นทางเดินรถไฟฟ้าขบวนอื่นๆ ด้วย

ทาง BTS จึงต้องเปลี่ยนการเดินรถจากระบบอัตโนมัติ (Automatic) มาเป็นระบบควบคุมแมนวล (Manual) ในเส้นทางที่มีคลื่นรบกวน ทำให้การเดินรถไฟฟ้าเกิดความล่าช้ามากขึ้น ซึ่งโอเปอร์เรเตอร์ดังกล่าวยินดีที่จะให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหากับ BTS อย่างเต็มที่

ล่าสุดสำนักงาน กสทช. ได้เรียกโอเปอร์เรเตอร์รายดังกล่าว, BTS และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ TOT ซึ่งเป็นเจ้าของคลื่นความถี่ 2300 MHz เพื่อหาแนวทางแก้ไขร่วมกัน ซึ่งงานนี้ ทีโอทีรับบทเป็นพระเอก ยอมปิดสัญญาณดังกล่าวตลอดแนวเส้นทางรถไฟฟ้า BTS ที่มีปัญหาประมาณ 10 สถานี เพื่อป้องกันคลื่นรบกวนระบบอาณัติสัญญาณของรถไฟฟ้า BTS พร้อมยืนยันว่าโอเปอร์เรเตอร์ที่เช่าสัญญาณทีโอที ในคลื่นความถี่ 2300 MHz จะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้บริการค่ายดังกล่าว เพราะสามารถเปลี่ยนไปใช้คลื่นความถี่ย่าน 2100 MHz โดยอัตโนมัติได้

 

จับตา! หลัง 29 มิ.ย.นี้ BTS มั่นใจการเดินรถไฟฟ้าจะลื่นมากขึ้น

สำหรับการแก้ไขระบบการเดินรถไฟฟ้าบีทีเอสในระยะหลังจากนี้ นายอาณัติ ยืนยันว่าจะดำเนินการติดตั้งระบบ Moxa ให้แล้วเสร็จในวันที่ 29 มิ.ย.นี้ จากนั้นจะปรับระบบอาณัติสัญญาณดังกล่าวให้ห่างจากคลื่นความถี่ 2300 MHz ของโอเปอร์เรเตอร์ดังกล่าวออกไป ในวันเสาร์ที่ 30 มิ.ย.นี้ และจะปล่อยสัญญาณของระบบ Moxa ทันที เพื่อทำการทดลองวิ่งของตัวรถ โดยเชื่อว่าหากดำเนินการในลักษณะเช่นนี้ ปัญหาการถูกคลื่นภายนอกรบกวนจะน้อยลง

 

“ขัดข้อง” จนเคยชิน คนโซเชียลเห็นแล้วปวดใจ

BTS มีช่องทางการสื่อสารไปยังผู้โดยสาร 3 ช่องทาง ได้แก่ Facebook  Twitter และ Line โดย Twitter มีผู้ติดตามมากถึง 2.5 – 3 ล้านคน ซึ่งนายอาณัติ กล่าวว่าในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน ทางบีทีเอสพร้อมที่จะทำทุกอย่างเพื่อที่จะสื่อสารไปยังผู้ใช้บริการ แต่ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์รถไฟฟ้าไม่สามารถเดินรถในระบบอัตโนมัติได้นั้น จึงจำเป็นที่จะต้องให้พนักงานประกาศให้ผู้โดยสารรับทราบถึงเหตุขัดข้องทันที ส่วนการสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษให้กับชาวต่างชาตินั้น จะต้องดูความพร้อมของพนักงานที่ประจำในสถานีนั้นด้วย ทั้งนี้ ทางบีทีเอส จะรับฟังข้อติชมของผู้ใช้บริการเพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไขในอนาคตต่อไปให้ดียิ่งขึ้น

unnamed(2)รถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีสยาม 

ผ่อนหนักให้เบา หัวใจของการเยียวยา 

นายอาณัติ กล่าวถึงมาตรการเยียวยาผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบจากกรณีรถไฟฟ้าบีทีเอสขัดข้อง ว่าจะพิจารณาเป็นรายกรณีไป เช่น หากผู้ใช้บริการที่ซื้อตั๋วรายเดือนไม่สามารถเดินทางในวันนั้น สามารถมาขอเพิ่มเที่ยวได้โดย BTS จะอนุมัติเที่ยวการเดินทางนั้นให้, ผู้โดยสารสามารถขอจดหมายรับรองที่เดินทางไปทำงานสายได้ที่ช่องจำหน่ายตั๋วทุกสถานี และการให้คูปองแก่ผู้โดยสารใช้เดินทางได้ 1 วัน เป็นต้น

 

“ไม่มีธุรกิจขนส่งใดที่สามารถชดเชยผู้โดยสารได้อย่างเต็มที่ แต่ละบริษัทจะเลือกบรรเทาความเดือดร้อนของผู้โดยสารตามเหตุสมควร” นายอาณัติ กล่าว

 

ส่วนกรณีที่โลกโซเชียลมีการถกเถียงกันถึงเรื่องการหยุดระบบรถทั้งหมด เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้แล้วเสร็จก่อนนำกลับมาให้บริการกับประชาชนนั้น นายอาณัติ ยืนยันจะยังคงให้บริการอยู่เช่นเดิม และจะไม่มีการปิดระบบใดๆทั้งสิ้น เนื่องจากการปิดระบบเป็นเรื่องใหญ่ซึ่งจะต้องขออนุมัติจากกรุงเทพมหานครก่อน

 

“ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น บีทีเอสจะยังคงให้บริการประชาชนต่อไป แม้ว่าจะล่าช้าก็ตาม เราจะไม่ปิดระบบอย่างแน่นอน” นายอาณัติ ยืนยัน

 

unnamed(7)บัตรแมงมุม

BTS ร่วมบัตรแมงมุมชัวร์! ขอศึกษารายละเอียดก่อน หวังจูนระบบเข้าด้วยกัน

กรณีการเข้าร่วมบัตรแมงมุุม นายอาณัติ ระบุว่า BTS ยินดีร่วมกับบัตรแมงมุมอย่างแน่นอน แต่ขอศึกษารายละเอียดก่อน เนื่องจาก BTS ใช้บัตร Rabbit มาเป็นเวลา 10 ปี และจำหน่ายบัตรไปแล้ว 9-10 ล้านใบ ซึ่งเริ่มก่อนที่รัฐบาลจะคิ๊กออฟเปิดตัวบัตรแมงมุมเมื่อวันที่ 22 มิ.ย.ที่ผ่านมา

แต่ด้วยธุรกิจ Payment ที่พัฒนาไปไกล การจะดำเนินการใดๆ จะต้องต้องละเอียดและรอบคอบมากยิ่งขึ้น ซึ่งในอนาคตคาดว่าบัตรแมงมุมจะพัฒนาไปถึงขั้นเป็นบัตรเครดิตก็เป็นได้ พร้อมยืนยันว่า BTS จะไม่มีการยกเลิกบัตร Rabbit แน่นอน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook