ช้างชนช้าง! ธุรกิจใหญ่แห่ขอเอกสารประมูล "รถไฟความเร็วสูง"

ช้างชนช้าง! ธุรกิจใหญ่แห่ขอเอกสารประมูล "รถไฟความเร็วสูง"

ช้างชนช้าง! ธุรกิจใหญ่แห่ขอเอกสารประมูล "รถไฟความเร็วสูง"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดขายเอกสารประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เป็นวันแรก ปรากฏว่าธุรกิจใหญ่มาซื้อกันคึกคัก กลายเป็นศึกช้างชนช้างไปซะแล้ว

วันนี้ (18 มิ.ย. 61) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ทำการเปิดขายเอกสาร Request for Proposal (RFP) สำหรับก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน คือ ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา มูลค่ากว่า 200,000 ล้านบาท เป็นวันแรก ปรากฏว่าได้รับความสนใจจากกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ถึง 7 บริษัทด้วยกัน ประกอบด้วย

1. บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ซึ่งคาดว่าจะเป็นการเข้าร่วมทุนในนามพันธมิตรกลุ่มกิจการร่วมค้า BRS ที่ประกอบไปด้วย บีทีเอส บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) (STEC) และบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (RATCH)

2. บริษัท เจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง จำกัด

3. บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งขณะนี้กำลังดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ สัญญาที่ 1, สัญญาที่ 3 ของการรถไฟแห่งประเทศไทยอยู่เช่นกัน โดยมีการลงนามในสัญญาเมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 60

4. บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้ลงนามในสัญญาจ้างก่อสร้างกับ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2560 ในการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) สัญญาที่ 4 งานโยธายกระดับ ช่วงสถานีบ้านม้า-สถานีสุวินทวงศ์ และสัญญาที่ 6 งานระบบราง

5. บริษัท เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ จำกัด (EnCo) บริษัทลูกในกิจการก่อสร้างของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)

6. บริษัท อิโตชู คอร์ปอเรชั่น จำกัด เป็นบริษัทการค้าระหว่างประเทศของญี่ปุ่น ที่มีเครือข่ายการค้า 65 ประเทศทั่วโลก และเป็นบริษัทที่มี ซีพี เป็นผู้ร่วมถือหุ้น

7. บริษัท ซิโนไฮโดร คอร์ปอเรชั่น จำกัด เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่จากประเทศจีน เชี่ยวชาญด้านการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างเขื่อนในอาเซียน โดยมีโครงการในพม่า 55 เขื่อน ลาว 28 เขื่อน และโครงการในประเทศไทย ล่าสุดได้เซ็นสัญญาดำเนินโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าในอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน โครงการพระราม 3 ร่วมกับการไฟฟ้านครหลวง และบริษัท เทด้า จำกัด บริษัทลูกในเครือ สามารถ คอร์ปอเรชั่น

ทั้งนี้ การเปิดขายเอกสาร Request for Proposal (RFP) โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 18 มิ.ย.-9 ก.ค. 2561 ก่อนที่จะมีการประชุมชี้แจงครั้งที่ 1 ในวันที่ 23 ก.ค. ต่อไป

>> อนุมัติรถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน "ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา"

สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เป็นโครงการที่ใช้โครงสร้างและแนวเส้นทางการเดินรถเดิมของระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแอร์พอร์ตลิงก์ (Airport Rail Link) ที่เปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบัน โดยจะก่อสร้างทางรถไฟขนาด 1.435 เมตร (Standard Gauge) ส่วนต่อขยาย 2 ช่วงจากสถานีพญาไท ไปยังสนามบินดอนเมือง และจากสถานีลาดกระบัง ไปยังสนามบินอู่ตะเภา พร้อมเชื่อมเข้าออกสนามบิน โดยใช้เขตทางเดิมของการรถไฟฯ เป็นส่วนใหญ่ รวมระยะทาง 220 กิโลเมตร มีผู้เดินรถรายเดียวกัน

มีความเร็วสูงสุด 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง สำหรับช่วงการเดินทางระหว่างเมือง คือ สถานีสุวรรณภูมิ ถึง สถานีอู่ตะเภา และความเร็วสูงสุด 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง สำหรับช่วงการเดินทางในเมือง คือ สถานีดอนเมือง ถึง สถานีสุวรรณภูมิ

ประกอบไปด้วยสถานีรถไฟความเร็วสูงจำนวน 9 สถานี ได้แก่ ดอนเมือง บางซื่อ มักกะสัน สุวรรณภูมิ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ศรีราชา พัทยา และอู่ตะเภา

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook