ขนาดธนาคารยักษ์ใหญ่ยังปรับตัว คนทำงานยิ่งต้องเปลี่ยนแปลง

ขนาดธนาคารยักษ์ใหญ่ยังปรับตัว คนทำงานยิ่งต้องเปลี่ยนแปลง

ขนาดธนาคารยักษ์ใหญ่ยังปรับตัว คนทำงานยิ่งต้องเปลี่ยนแปลง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ที่มาของข่าวนี้ก็เพราะถ้อยแถลงของ อาทิตย์ นันทวิทยา กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ในงาน 2020 SCB VISION ซึ่งพูดถึงแผนที่ว่า 3 ปีจากนี้ไป SCB จะ Transformation ธุรกิจอย่างไรในอนาคต

เพื่อไม่ให้เป็นการตื่นตูม ทั้งนักลงทุนและประชาชนทั่วไปที่กำลังพล่ามบ่นว่า เมื่อไหร่เศรษฐกิจชาติไทยจะดีขึ้นสักที (ทั้ง ๆ ที่ภาพรวมก็ดีขึ้น รวมถึงบางภาคส่วนธุรกิจก็มียอดขายที่ดีขึ้นตั้งแต่รากหญ้าจนไปถึงธุรกิจขนาดใหญ่อย่าง Real Sector) ทางธนาคารไทยพาณิชย์นั้นก็ได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับประเด็นข่าวนี้

เนื้อหาของซีอีโอ SCB มีอยู่ว่า “แบงก์มีนโยบายลดสาขาลงใน 3 ปี ตั้งเป้าลดสาขาเหลือ 400 สาขา จากปัจจุบันมี 1,153 สาขา โดยธนาคารจะลดสาขาลงตามพฤติกรรมของลูกค้าที่ใช้บริการที่สาขาน้อยลง เนื่องจากปริมาณธุรกรรม โดยจะปรับเปลี่ยนและโยกย้ายพนักงานที่ทำงานในสาขาที่ปิดมาอยู่ศูนย์อบรม (SCB Academy) และใน 3 ปีลดพนักงานเหลือ 15,000 คน จากปัจจุบัน 27,000 คน เพราะในแต่ละปีจะมีพนักงานลาออกเฉลี่ยปีละ 2,000 - 3,000 คน ซึ่งเป็นการลาออกตามวาระเกษียณและลาออกเอง โดยธนาคารไม่มีนโยบายปลดพนักงานออก”

หลังจากข่าวเริ่มออกตามหน้าสื่อ อาทิตย์ นันทวิทยา ในฐานะของผู้กุมบังเหียน SCB ก็ออกมากลบกระแสความตกใจของทั้งคนในและนอกองค์กรเพื่อไม่ให้ลุกลามเกินกว่าจะควบคุมข่าวไปได้ด้วยการบอกว่า “เรื่องนี้ไม่ได้เกิดเพราะ SCB ขาดทุนหรือต้องการลดต้นทุน หรือเพราะมองเห็นว่าเศรษฐกิจไม่ดี แต่นี่คือการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของ SCB ที่เดินเข้าสู่โลกยุค 4.0”

 

Digital Transformation อนาคตที่มาเร็ว คนต้องปรับตัวให้ทัน

ระบุให้ชัดกันก็คือ ทั้งหมดที่ออกมาเป็นข่าวก็เพื่อที่จะบอกว่า SCB กำลังเดินเข้าสู่กระบวนการ Digital Transformation อย่างจริงจังนั่นเอง จากข่าวสารที่ถูกส่งออกมาอย่างเป็นทางการและปรากฏอยู่ในงานแถลงทิศทางของ SCB ระบุไว้ว่า เป็นเส้นทางที่ธนาคารกำหนดไว้ชัดเจนและรู้ถึงจุดอ่อนจุดแข็งของตัวเองเป็นอย่างดี

SCB จะมีการสร้างสมดุลรายได้ใหม่ เนื่องจากรายได้ที่เกิดขึ้นจากบรรดาค่าธรรมเนียนทั้งหลายกำลังลดลงเพราะเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น โดยหลักยึดใหม่ของ SCB นั้นประกอบไปด้วย

  1. ตั้ง Digital Ventures หรือกองทุนสำหรับการลงทุนในบริษัทสตาร์ตอัปเกิดใหม่ มี SCB Abacus ทำหน้าที่ดูแลเรื่องของข้อมูลที่มีค่าต่าง ๆ ในการดำเนินธุรกิจ
  2. พนักงานที่มีหรือคงอยู่นั้นต้องรอบรู้ สามารถให้บริการที่ดีขึ้นกว่าเดิมในอนาคต โดย SCB เน้นที่การพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะที่สอดคล้องกับเทคโนโลยียุคใหม่
  3. SCB จะสร้างบริการใหม่ ๆ ที่เกิดจากความร่วมมือกับพันธมิตร เพื่อขยายขอบเขตไปไกลกว่าบริการทางการเงิน ซึ่งเกิดประโยชน์ตรงไปยังลูกค้า

 

เรื่องนี้หนีอย่างไรก็หนีไม่พ้น

คำเตือนของบริษัทผู้ผลิตเครื่องมือสำหรับธุรกิจการเงินหลายรายเริ่มออกมาให้ความเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงนี้มาตั้งแต่กลางปี 2560 แล้ว โดยพูดถึงเรื่องอุปกรณ์รุ่นใหม่อย่างตู้นับเงินหรือตู้สำหรับให้บริการธุรกิจแบบครบวงจรตั้งแต่เปิดบัญชี, ถอนเงิน ไปจนถึงขอเอกสารและเปิดบริการต่าง ๆ ในตู้เดียว หรือแม้กระทั่งตู้สำหรับให้บริการเชิงธุรกิจอย่างการขอสินเชื่อทำธุรกิจทั้งหลาย

ในอนาคตลูกค้าของธนาคารจะสื่อสารหรือติดต่อทำธุรกิจผ่านทางตู้เหล่านี้ และสามารถสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ที่เป็นมนุษย์ผ่านทางหน้าจอที่นั่งอยู่ในศูนย์ให้บริการแบบทางไกลที่อยู่ที่ไหนก็ได้ในประเทศไทย

ราวกลางปีที่แล้ว Joy Yap ผู้จัดการประจำประเทศไทย NCR Financial Services พูดถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงสู่อนาคตของธุรกิจการเงินไว้ในทิศทางเดียวกับที่เกิดขึ้นกับ SCB ในวันนี้ไว้ว่า “พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปยังคงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และสิ่งเก่าถูกทำลายอย่างมากด้วยเทคโนโลยี โดยที่เทคโนโลยีล้ำยุคสำหรับบริการทางการเงินทั้งออนไลน์และบนอุปกรณ์ไร้สายที่เปิดตัวในวันนี้ ผสานสภาพแวดล้อมของการมีปฏิสัมพันธ์ตัวต่อตัวแบบดั้งเดิม เข้ากับการสร้างบริการทางการเงินที่พร้อมเสมอในทุกช่องทาง ทำให้เกิดการให้บริการกับผู้บริโภคที่ยืดหยุ่น และสามารถควบคุมธุรกรรมตามที่ลูกค้าต้องการเลือกรูปแบบการใช้งาน”

 

Digital Transformation ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป มันกำลังจะแซงหน้าคุณแล้ว

SME ส่วนใหญ่มักมองการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะทางด้านเทคโนโลยีนี้ว่าเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับตัวเองหรือไม่มีทางทำให้ธุรกิจของตัวเองนั้นเกิดผลกระทบ แต่นั่นเป็นความคิดที่น่าจะเรียกว่า คนหลงยุค เพราะไม่อย่างนั้นเทคโนโลยีตามสมัยต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์ โทรสาร หรือแม้กระทั่งอย่างโทรศัพท์มือถือในองค์กร คงไม่ควรได้ใช้ในธุรกิจของตัวเอง

เมื่อเห็นแล้วว่าวันนี้ SCB นั้นเริ่มต้นเดินหน้าในการปรับตัวสู่การเปลี่ยนแปลง แถมยังมีรูปแบบและเส้นทางที่ชัดเจน อย่างแรกธุรกิจอย่าง SME ต้องมองและศึกษาให้เข้าใจในการหยิบจับเอาบริการใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ มาใช้ในการลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ เพราะบริการหลายอย่างที่เกิดขึ้นแล้ว ณ วันนี้ ก็ช่วยให้สามารถลดค่าใช้จ่ายได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งนอกจากค่าใช้จ่ายแล้วยังช่วยให้ธุรกิจ SME นั้นสามารถจัดการธุรกรรมทางด้านการเงินที่สะดวกสบายยิ่งขึ้น

เรียกได้ว่า SME ยุคใหม่นี้จะไม่ต้องคอยมีความรู้สึกเป็นบุญคุณกับเจ้าหน้าที่สินเชื่ออย่างในอดีตที่เห็นกันจนชินชา ทำให้ไม่ว่าจะขอสินเชื่อหรือเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับธนาคารนั้นเสร็จได้อย่างรวดเร็วและง่ายขึ้น เปิดโอกาสให้เอาเวลาที่เคยเสียไปกลับไปใช้ในการดูแลธุรกิจดีกว่า

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook