พงษ์ภาณุ ประกาศเร่งเบิกจ่ายงบไทยเข้มแข็ง

พงษ์ภาณุ ประกาศเร่งเบิกจ่ายงบไทยเข้มแข็ง

พงษ์ภาณุ ประกาศเร่งเบิกจ่ายงบไทยเข้มแข็ง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อธิบดีกรมบัญชีกลางคนใหม่ พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ประกาศนโยบายหลังเข้ารับตำแหน่งใหม่ เตรียมเร่งเบิกจ่ายงบไทยเข้มแข็งให้ได้ 100% หวังกระตุ้นศก.

นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวภายหลังการมอบนโยบายให้กับผู้บริหารและข้าราชการในโอกาสเข้ารับตำแหน่ง ใหม่ ว่า กรมบัญชีกลางเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยเร่งรัดขั้นตอนการเบิกจ่ายของงบลงทุนไทย เข้มแข็ง หลังจากที่ตั้งเป้าหมายลงทุน 4 แสนล้านบาท ในปี 2553 ซึ่งขณะนี้ได้มีการจัดซื้อจัดจ้าง และเบิกจ่ายงบประมาณไปแล้ว 14,500 ล้านบาท

โดยเฉพาะ 4 กระทรวงหลัก ประกอบด้วยกระทรวงคมนาคม สาธารณสุข ศึกษาธิการ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีสัดส่วนได้รับการจัดสรรงบประมาณ 90% ของงบลงทุนทั้งหมดในปี 2553 ดังนั้น จึงเตรียมที่จะหารือในเชิงลึกกับผู้บริหารทั้ง 4 กระทรวง เพื่อเร่งรัดการใช้จ่าย และก่อสร้างโครงการสำเร็จเป็นรูปธรรม

สำหรับการติดตามโครงการลงทุนไทยเข้มแข็ง รัฐบาลจัดทำเว็บไซต์ไทยเข้มแข็งเพื่อให้ติดตามการเบิกจ่าย ควบคุมโครงการให้มีความโปร่งใส ซึ่งกรมบัญชีกลางจะมาแถลงความคืบหน้าโครงการลงทุนของทุกกระทรวงให้เกิดความ ชัดเจน

ส่วนการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2552 ณ วันที่ 29 กันยายน ทุกส่วนราชการสามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้ 92.25% จากเป้าหมาย 94% ในวงเงินทั้งหมด 1.834 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นงบลงทุน 357,331 ล้านบาท เบิกจ่ายไปแล้ว 76.19% สูงกว่าเป้าหมายที่ 74% หรือเป็นเงินประมาณ 272,251 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่างบลงทุนในปี 2553 มีสัดส่วนที่น้อยจึงต้องใช้งบจากไทยเข้มแข็งมาลงทุนเพิ่มเติม และจากการวางแผนการทำงานของกรมบัญชีกลาง ร่วมกับสำนักงบประมาณ และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้วางเป้าหมายเบิกจ่ายงบลงทุนไทยเข้มแข็งให้ได้เต็ม 100% จากวงเงิน 4 แสนล้านบาท เพื่อให้เม็ดเงินลงทุนลงสู่ระบบ และกระตุ้นเศรษฐกิจภายในสิ้นปีนี้

ส่วนการเข้ามารับตำแหน่งงานในกรมบัญชีกลาง ได้วางแนวคิดการทำงาน 3 ด้าน แบ่งเป็น ระยะเร่งด่วน 6-12 เดือน โดยกรมบัญชีกลางต้องเป็นส่วนสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ด้วยการเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินงบประมาณให้ได้ตามเป้าหมาย 94% และงบลงทุน 75% จากงบประมาณ 1.7 ล้านล้านบาท

ขณะที่ระยะที่สองซึ่งเป็นช่วงระยะปานกลาง ต้องมีการปรับวินัยทางการเงินการคลังให้เข้าสู่ภาวะสมดุล เพราะการกู้เงินจาก พ.ร.ก. และ พ.ร.บ. รวม 800,000 ล้านบาท ทำให้ภาระหนี้สาธารณะมีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้นถึง 60% ของจีดีพี จึงต้องหาแนวทางตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เช่น ค่ารักษาพยาบาลของราชการบางส่วน ที่เกินความจำเป็น แต่จะไม่ให้กระทบสิทธิเดิมที่มีอยู่ การให้อำนาจหน่วยงานปฏิบัติมีความสำคัญต่อการดูแลเร่งรัดการเบิกจ่าย ขณะที่ส่วนราชการควรมีการให้คำปรึกษาเท่านั้น

ขณะที่มาตรการระยะยาว จะเน้นสร้างความเข้มแข็งให้องค์กรให้มีความทันสมัย โดยจะมีการปรับโครงสร้างการทำงาน ส่งเสริมบุคลากรทำงานอย่างเป็นระบบ ให้มีความก้าวหน้า เพื่อสนองนโยบายของรัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook