ปิดดีล! Disney บรรลุข้อตกลงทุ่มเงิน 2 ล้านล้านบาท 'เทคโอเวอร์' Fox

ปิดดีล! Disney บรรลุข้อตกลงทุ่มเงิน 2 ล้านล้านบาท 'เทคโอเวอร์' Fox

ปิดดีล! Disney บรรลุข้อตกลงทุ่มเงิน 2 ล้านล้านบาท 'เทคโอเวอร์' Fox
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ดิสนีย์ (Disney) ใกล้ 'เทคโอเวอร์' ทเวนตี้ เฟิร์สต์ เซ็นจูรี ฟ็อกซ์ (21st Century Fox) สมใจด้วยมูลค่า 60 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทยเกือบ 2 ล้านล้านบาท

รายงานจากสำนักข่าว CNBC เปิดเผยว่า แม้การเจรจาระหว่างดิสนีย์และฟ็อกซ์ ใกล้จะได้ข้อยุติก็จริง แต่ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยที่ยังต้องตกลงกันอีกเล็กน้อย และคาดว่าทุกอย่างจะเสร็จสิ้น พร้อมกับมีการประกาศแถลงข่าวอย่างเป็นทางการในวันพฤหัสบดีตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐอเมริกา หรือตรงกับวันศุกร์ในเวลาประเทศไทย

อันที่จริงการขายกิจการ 'ธุรกิจบันเทิง' ของทเวนตี้ เฟิร์สต์ เซ็นจูรี ฟ็อกซ์ ไม่ได้มีเพียงแค่ดิสนีย์รายเดียวเท่านั้นที่ให้ความสนใจ แต่ยังมีโซนี่ (Sony) และคอมคาสต์ (Comcast) ก่อนที่เจ้าของตัวจริงเสียงจริงของทเวนตี้ เฟิร์สต์ เซ็นจูรี ฟ็อกซ์ อย่างตระกูลเมอร์ด็อค จะตัดสินใจเลือกขายธุรกิจส่วนนี้ให้กับดิสนีย์ด้วยเหตุผลที่ว่า ดิสนีย์เป็นบริษัทที่น่าทำธุรกิจร่วมกันด้วยมากกว่า และข้อเสนอที่ดิสนีย์เสนอมานั้นก็สมน้ำสมเนื้อกับมูลค่าของธุรกิจ

อย่างไรก็ดีธุรกิจสื่ออื่นๆ อาทิ Fox News และ Fox Sports  ยังคงอยู่ภายใต้การดูแลของตระกูลเมอร์ด็อคต่อไป

ดีลนี้มีอะไรให้กังวล?

แน่นอนว่า การเข้ามาซื้อกิจการฟ็อกซ์โดยดิสนีย์นั้น ทำให้ดิสนีย์สามารถขยายอาณาจักรความบันเทิงได้ไกลสุดกู่ เนื่องจากลิขสิทธิ์ที่ฟ็อกซ์ถือครองนั้น ก็ล้วนแต่เป็นลิขสิทธิ์ที่สามารถทำเงินในอนาคตให้กับดิสนีย์ได้อย่างงดงาม นั่นเป็นเพราะว่าฟ็อกซ์ เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ชุด Avatar จนไปถึงเวลานี้ฟ็อกซ์เองก็ยังเป็นผู้ดูแลลิขสิทธิ์ STAR WARS ไตรภาคเดิม เอพพิโซด 1-6 

นอกจากนี้ลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ที่ มาร์เวล (หนึ่งในบริษัทลูกของดิสนีย์) ก็จะได้สิทธิ์ในการนำซูเปอร์ฮีโร่กลับมาอยู่ภายใต้การดูแลของตัวเองอีกครั้ง โดยซูเปอร์ฮีโร่เหล่านี้ประกอบไปด้วยกลุ่ม X-Men, Deadpool และ Fantastic Four

อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่ากังวลก็คือบรรดาคู่แข่งของดิสนีย์ในฮอลลีวู้ด อาจมองว่า การเข้าซื้อกิจการครั้งนี้มีโอกาสให้ดิสนีย์ผูกขาดด้านความบันเทิงได้เหมือนกัน แต่ถ้าวิเคราะห์จากมุมมองต่างๆ อย่างรอบด้านแล้ว ประเด็นนี้น่าจะตกไป เพราะการเข้าซื้อฟ็อกซ์ ไม่น่าจะเข้าข่ายการผูกขาดทางการค้า เนื่องจากธุรกิจบันเทิงยังมีช่องทางที่สามารถสร้างความแตกต่างอีกมาก และแม้ดิสนีย์จะได้แฟรนไชส์ชื่อดังทั้งหมด ก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่การันตีได้ว่า ดิสนีย์จะได้กำไร หรือประสบความสำเร็จจากแฟรนไชส์ที่ซื้อมาจากฟ็อกซ์อยู่ดี

ทำไมฟ็อกซ์ถึง 'exit' จากธุรกิจบันเทิง?

ประเด็นนี้สืบเนื่องจากการที่ธุรกิจบันเทิงในปัจจุบันกำลังถูก 'Disrupt' โดยเฉพาะการมาของเน็ตฟลิกซ์ (Netflix) ที่มีแนวโน้มดึงดูดผู้คนให้อยู่ดูออริจินัล คอนเทนต์ (Original Content) โดยเน็ตฟลิกซ์มีจุดขายตรงที่ง่าย สะดวก อีกทั้งราคาค่าบริการของเน็ตฟลิกซ์ต่อเดือนมีราคาไม่แพง เมื่อคำนวณจากการที่ต้องไปดูหนังในโรงภาพยนตร์ที่มีค่าใช้จ่ายจิปาถะที่จุกจิก จึงทำให้การเลือกดูซีรีส์หรือคอนเทนต์จากเน็ตฟลิกซ์เป็นเรื่องที่ง่ายกว่า เป็นเหตุให้ฟ็อกซ์รู้สึกว่า ขืนสู้ต่อไปก็มีโอกาสที่จะโดนถาโถมด้วยกระแสเทคโนโลยี การเลือกขายธุรกิจส่วนนี้ให้กับดิสนีย์จึงเป็นทางออกที่ดีกว่า

แล้วใครกันที่จะอยู่รอดจากการโดนเทคโนโลยี Disrupt? 

แน่นอนว่า ดิสนีย์ก็มีกริ่งเกรงไม่น้อยว่าจะโดนคลื่นลูกใหม่พัดพา นั่นจึงทำให้ดิสนีย์มีการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน และมีนัยสำคัญ ดังเช่น การประกาศทำสตรีมมิงของตัวเองในปี 2019 เพราะหากว่ากันตามความเป็นจริงแล้ว ดิสนีย์ก็คงจับสัมผัสได้เช่นกันว่า เทรนด์ของผู้บริโภคหลังจากนี้จะอยู่ที่สตรีมมิงนี่แหละ ถ้าไม่ทำตอนนี้ มีโอกาสที่ดิสนีย์จะ 'ตกขบวน' และถูก 'Disrupt' เช่นกัน 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook