จากดอยสู่แก้ว การเดินทางของเมล็ดกาแฟที่เป็นมากกว่าเครื่องดื่มของคนเมือง

จากดอยสู่แก้ว การเดินทางของเมล็ดกาแฟที่เป็นมากกว่าเครื่องดื่มของคนเมือง

จากดอยสู่แก้ว การเดินทางของเมล็ดกาแฟที่เป็นมากกว่าเครื่องดื่มของคนเมือง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

     เคยสงสัยกันไหมว่า ลาเต้ร้อนที่เราแวะซื้อก่อนเข้าออฟฟิศทุกเช้าอเมริกาโน่รสเข้มที่ต้องดื่มทุกครั้ง เวลาแวะพักเติมน้ำมัน กาแฟที่เราดื่มกันแทบทุกช่วงเวลาเหล่านี้ มีที่มาจากไหน? และนอกจากปลายทางความสุขจากรสชาติแล้วระหว่างการเดินทางมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง?

     วันนี้เราจะพาคุณ ตามรอยเส้นทาง...เพื่อหาคำตอบ

อราบิก้า 2 - 3 ต้นของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
จุดเริ่มต้นของกาแฟในประเทศไทย เริ่มจากต้นกาแฟเพียง 2 - 3 ต้น บนดอยอินทนนท์จังหวัดเชียงใหม่

     เมื่อปี พ.ศ. 2517 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตร ต้นกาแฟต้นแรกของประเทศไทย ที่บ้านหนองหล่ม บนดอยอินทนนท์ พระองค์ต้องทรงพระดำเนินด้วยพระบาทไปตามไหล่เขาสูงชันกว่า 6 กิโลเมตร เมื่อเสด็จพระราชดำเนินมาถึงต้นกาแฟ ทอดพระเนตรเห็นว่า ต้นกาแฟสมบูรณ์ดี มีพระราชกระแสว่า ที่นี่กาแฟสามารถปลูกได้ ให้ช่วยกันส่งเสริม แต่ต้องใส่ปุ๋ยและนำหญ้ามาใส่ที่โคนต้น มีพระราชกระแสให้ชนเผ่าปกาเกอะญอ ทดลองปลูกเพื่อทดแทนการปลูกฝิ่น และพระราชทานเมล็ดกาแฟที่ชาวพะโย ตาโร ชาวปกาเกอะญอทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายกลับมาเพื่อให้ไปแจกจ่ายกับราษฎรคนอื่นๆ ปลูกต่อไป

     กาแฟต้นแรกที่เป็นต้นกำเนิดกาแฟอีกหลายร้อยต้นในไร่ของชาวไทยภูเขาเป็น “กาแฟสายพันธุ์อราบิก้า” ที่ผ่านการวิจัยและปรับปรุงสายพันธุ์โดยนักวิชาการจากมูลนิธิโครงการหลวง จนทำให้สามารถต้านทาน “โรคราสนิม” ที่มักระบาดในต้นกาแฟที่ปลูกในเขตร้อนชื้น (พื้นที่สูงในภาคเหนือ) อีกทั้งยังนำต้นแบบวิธีการปลูกและผลิตเมล็ดกาแฟมาจากประเทศโคลัมเบีย ซึ่งมีสภาพภูมิประเทศใกล้เคียงกับพื้นที่สูงของไทย จึงทำให้ต้นกาแฟอราบิก้าจากมูลนิธิโครงการหลวงเติบโตได้ดีในประเทศไทย

     ผลจากการสนับสนุนในทุกด้านจากมูลนิธิโครงการหลวง ทำให้ชาวไทยภูเขามีความรู้ความสามารถในการปลูกกาแฟอราบิก้าจนปลูกกาแฟกันอย่างแพร่หลายในพื้นที่สูงทางภาคเหนือของไทยจนกลายเป็นอาชีพที่ยั่งยืนของชาวไทยภูเขา และทำให้เรามีกาแฟคุณภาพดีไว้ดื่มกันจนถึงทุกวันนี้

 

(ขอบคุณภาพจากเว็บไซต์มูลนิธิโครงการหลวง)

ปลูก เก็บ โม่ หมัก ล้าง ตาก สี คั่ว บรรจุ
ก่อนจะมาเป็นกาแฟอราบิก้าคุณภาพดี รสชาติเยี่ยมแบบฉบับมูลนิธิโครงการหลวง จะต้องผ่านกระบวนการผลิตที่เข้มข้นดังนี้
     - ปลูก – ปลูกด้วยดินที่ระบายน้ำได้ดีมีค่าความเป็นกรดด่างระหว่าง 5.0 – 5.5 บนพื้นที่สูงไม่ต่ำกว่า 1,000 เมตร ท่ามกลางอุณหภูมิ 18 - 22 องศาเซลเซียส บนยอดดอย มีปริมาณฝนต่อปีที่เหมาะสม และได้รับการดูแลด้วยความเอาใส่ใจในทุกขั้นตอน โดยมีการลงบันทึกการเติบโตของกาแฟตั้งแต่ระยะเริ่มออกดอก เพื่อกำหนดระยะเวลาและปริมาณที่ต้องเก็บเกี่ยวในแต่ละฤดู
     - เก็บเกี่ยว - เก็บเฉพาะผลกาแฟเชอรี่ที่สุกพอดีด้วยมือ ไม่แห้ง ไม่เขียว ไม่สุกเกินไป เพราะความสุกของผลกาแฟ ส่งผลต่อรสชาติและความสุขของผู้ดื่ม
     - โม่ – หลังเก็บเกี่ยว ผลกาแฟเชอรี่จะถูกนำไปแปรรูปด้วยการโม่เอาเปลือกกาแฟออกภายใน 24 ชั่วโมง ก่อนจะเกิดกลิ่นเหม็นเปรี้ยว เมื่อโม่แล้วจึงคัดแยกเมล็ดกาแฟออกจากเปลือกผลกาแฟ แล้วล้างทำความสะอาด
     - หมัก - หมักด้วยน้ำสะอาดประมาณ 12 – 48 ชั่วโมง เพื่อให้กาแฟมีรสชาติดีขึ้น และให้จุลินทรีย์ตามธรรมชาติย่อยสลายเนื้อของผลกาแฟที่เป็นเหมือนเมือกที่เกาะอยู่ที่เมล็ดกาแฟ
     - ล้าง – เมื่อหมักจนได้ที่ จึงนำเมล็ดกาแฟที่ผ่านการหมักแล้ว มาล้างให้สะอาดอีกครั้ง เพื่อให้รสชาติของกาแฟคั่วกลมกล่อมยิ่งขึ้น
     - ตากแห้ง – นำเมล็ดกาแฟที่ล้างสะอาดมาตากให้แห้งใช้เวลาประมาณ 7 – 14 วัน จนได้ความชื้นอยู่ประมาณ 7 - 10% เมื่อเมล็ดกาแฟแห้งดีแล้ว จึงจัดเก็บไว้รอการแปรรูปต่อไป เมล็ดกาแฟในขั้นตอนนี้จะมีเปลือกบางๆ สีเหลืองหุ้มอยู่ เรียกว่า กาแฟกะลา
     - สี – ก่อนนำเมล็ดกาแฟไปคั่ว จะต้องมีการแปรรูปขั้นตอนสุดท้าย โดยนำกาแฟกะลาที่เก็บไว้นั้นมาสีเปลือกกะลาออก แยกสิ่งแปลกปลอมปน คัดขนาด แยกเมล็ดเบาที่ไม่สมบูรณ์ แยกเมล็ดที่มีสีผิดปรกติด้วยเครื่องอิเล็กทรอนิกส์จนได้เมล็ดกาแฟสีเขียวหยก พร้อมนำไปคั่วเป็นกาแฟคั่วหอมกรุ่น
     - คั่ว – คั่วเมล็ดกาแฟด้วยเครื่องคั่ว ที่ควบคุมสีเมล็ด เวลา และความร้อนด้วยระบบคอมพิวเตอร์ โดยแบ่งระดับการคั่วเป็น 3 ระดับ
1) คั่วอ่อน (Light Roast) ใช้ความร้อนประมาณ 350 °F คั่วนาน 10 – 15 นาที จะได้เมล็ดกาแฟเป็นสีน้ำตาลอ่อน ไม่มีความมันที่ผิวเมล็ด
2) คั่วกลาง (Medium Roast) ใช้ความร้อน 400 – 430 °F เป็นเวลา 15 – 20 นาที จะได้เมล็ดกาแฟสีน้ำตาล มีความมันจากน้ำมันในเมล็ดกาแฟเคลือบผิวเจือจาง
3) คั่วเข้ม (Dark Roast) ใช้ความร้อน 450 °F คั่วนาน 15 – 20 นาที จะได้เมล็ดกาแฟสีน้ำตาลแก่เกือบไหม้ มีน้ำมันเคลือบผิวกาแฟจนเป็นเงา จะให้รสชาติเข้มข้นและกลิ่นหอมแบบ Espresso ที่คนไทยคุ้นเคย
     - บรรจุ - มาถึงขั้นตอนสุดท้ายคือนำเมล็ดกาแฟคั่วที่ได้บรรจุลงถุงพร้อมส่งขายสู่ตลาดเพื่อเสิร์ฟเหล่าคอกาแฟต่อไป

 

พร้อมแล้ว เมล็ดกาแฟไปไหนต่อ?
     ต่อจากนี้ เมล็ดกาแฟจากมูลนิธิโครงการหลวงนับแสนกิโลกรัมจะถูกส่งออกไปวางจำหน่ายในร้านค้าของมูลนิธิโครงการหลวงต่างๆ เป็นการส่งเสริมช่องทางการตลาดให้เกษตรกรที่ร่วมโครงการ และสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน

     ส่วนอีกหนึ่งปลายทาง เมล็ดกาแฟคั่วที่มีคุณภาพมุ่งหน้าตรงสู่เมือง ก่อนจะแยกย้ายไปยังร้านกาแฟต่างๆ ในย่านชุมชน ธุรกิจ รวมถึงร้านกาแฟในสถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศ ด้วยเส้นทางนี้เอง ได้เปิดโอกาสให้คนเมือง ผู้ห่างไกลแหล่งวัตถุดิบ ได้ดื่มด่ำกาแฟอราบิก้ารสเยี่ยม ที่ชงด้วยเมล็ดกาแฟคุณภาพ จากมูลนิธิโครงการหลวงอันแสนห่างไกล ได้ใกล้เพียงเอื้อมมือ...

     ทั้งหมดนี้คือ เส้นทางหอมกรุ่นของกาแฟไทยจากยอดดอยถึงคนเมืองบนพื้นราบ ที่ไม่เพียงนำรสชาติกาแฟสัญชาติไทยอันเต็มเปี่ยมไปด้วยคุณภาพมาถึงผู้ดื่มปลายทางเท่านั้นแต่ยังนำพาความ “เกื้อกูล” ให้แก่เกษตรกร โดยการสร้างอาชีพ สร้างรายได้แก่คนในชุมชน ด้วยการให้ความรู้ และสนับสนุนการปลูกกาแฟแบบอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกับการทำอาชีพ ช่วยให้เกษตรกรและคนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่แห่งโอกาสที่ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต ช่วยหล่อเลี้ยงสังคมไทยอย่างยั่งยืนตลอดไป



เกร็ดเมล็ดกาแฟ
     - ปัจจุบันมูลนิธิโครงการหลวงมีพื้นที่ส่งเสริมการปลูกกาแฟอราบิก้าในศูนย์พัฒนาโครงการหลวง 24 ศูนย์ รวมทั้งหมด 9,491 ไร่
     - เกษตรกรกว่า 2,602 ราย ปลูกกาแฟอราบิก้าและขายกาแฟผ่านมูลนิธิโครงการหลวงปีละประมาณ 400 - 500 ตัน
     - 630,000 กิโลกรัม คือปริมาณเมล็ดกาแฟดิบที่ ปตท. สั่งซื้อจากมูลนิธิโครงการหลวง ระหว่างปี 2557 - 2560
     - มูลนิธิโครงการหลวงร่วมกับ ปตท. ทำวิจัยและพัฒนา ส่งเสริม การปลูกและผลิตกาแฟระบบอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ในป่าเสื่อมโทรม 100 ไร่ ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ควบคู่กับการอนุรักษ์ธรรมชาติและการรวมกลุ่มวิสาหกิจของเกษตรกรชาวไทยภูเขา เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนอย่างยั่งยืน

 

[Advertorial]

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook