"Shopee ออนไลน์" แพลตฟอร์มช็อปปิ้งออนไลน์ที่โตเร็วสุดในอาเซียน

"Shopee ออนไลน์" แพลตฟอร์มช็อปปิ้งออนไลน์ที่โตเร็วสุดในอาเซียน

"Shopee ออนไลน์" แพลตฟอร์มช็อปปิ้งออนไลน์ที่โตเร็วสุดในอาเซียน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วัยรุ่นจำนวนมากคงจะได้เห็นการจับคู่กันระหว่าง ณเดช คูกิมิยะ และญาญ่า อุรัสยา โดยใช้สีส้มเป็นธีมในการเปิดตัวแอพลิเคชั่นออนไลน์ช็อปปิ้ง ที่ชื่อว่า "Shopee" ซึ่งที่ผ่านมาถือว่าโตเร็วมากในประเทศไทย รวมถึงระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย

Shopee เป็นตลาดซื้อขายแบบโซเชียลที่มุ่งเน้นการใช้งานผ่านโทรศัพท์มือถืออันดับแรก (Mobile First) เพื่อให้ทุกคนสามารถเลือกดูและซื้อขายได้อย่างสะดวก โดยเป็นแพลตฟอร์มที่ออกแบบขึ้นเพื่อชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยการผสานคุณลักษณะของตลาดซื้อขายแบบผู้บริโภคสู่ผู้บริโภค (C2C) เข้ากับระบบการชำระเงินและการสนับสนุนด้านโลจิสติกส์ เพื่อให้การช้อปปิ้งออนไลน์กลายเป็นเรื่องที่สะดวก ปลอดภัย และไร้ความยุ่งยาก

shopee_2

ในปี 2016 ที่ผ่านมา Shopee มียอดการดาวโหลดสูงถึง 25 ล้านครั้ง โตเป็น 4 เท่านับจากปี 2015 มียอดการติดตามในโลกโซเชียลมากกว่า 2 ล้านคน มียอดการสั่งซื้อโดยเฉลี่ยสินค้า 1,595 ชิ้นต่อคน ซึ่งสินค้าที่มีคนสั่งซื้อมากที่สุดสำหรับผู้หญิงคือ "ชุดชั้นในกระชับสัดส่วน" ในขณะที่ผู้ชายนิยมซื้อ "ฟิลม์กันรอยสมาร์ทโฟน" และมียอดการแชตในกล่องข้อความมากถึง 9,805 ข้อความ

Shopee เป็นบริษัทมาจากประเทศสิงคโปร์ ดูแลโดยบริษัท Garena ซึ่งมีผู้ก่อตั้งคือ Forrest Li ใช้บริษัท SEA Ltd. ในการถือหุ้น 99% ในบริษัท Garena ก่อนที่ประกาศขายหุ้นให้กับกลุ่ม Tencent Holdings Ltd. ยักษ์ใหญ่ของจีน 40%

Garena ก่อตั้งเมื่อปี 2009 ที่ประเทศสิงคโปร์โดย Forrest Li และกลุ่มเพื่อนของเขา มีจุดประสงค์ในการก่อตั้ง คือ ให้บริการเกมออนไลน์ระดับโลก อีกทั้งยังเป็นผู้พัฒนาโมบายแอปพลิเคชั่นที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ Forrest Li ได้ตั้งชื่อบริษัทนี้ว่า "Garena" ซึ่งเป็นการผสมคำของคำว่า "Global Arena" 

ตั้งแต่ก่อตั้งมา Garena ได้เติบโตมาอย่างยิ่งใหญ่ และเป็นผู้นำในการให้บริการแพลตฟอร์ม ออนไลน์, มือถือ, และการสื่อสารในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, ไต้หวัน, และฮ่องกง

นอกจากนี้ Garena ยังเป็นผู้ให้บริการเกมออนไลน์ที่เป็นเจ้าดังในประเทศไทยแล้ว พวกเขายังเป็นเจ้าของแอปพลิเคชั่น TalkTalk ระบบสื่อสารด้วยภาพและเสียงแบบเรียลไทม์ และต่อมาในปี 2013 ได้เปิดตัว BeeTalk อีกด้วย กระทั่งเปิดตัว Shopee ที่กลายเป็นแพลตฟอร์มช็อปปิ้งแข่งขันกับ Lazada ของจีน และ 11 streets ของเกาหลีใต้ ไม่เพียงแค่นั้น พวกเขายังพัฒนาแอปพลิเคชั่น Wallet กระเป๋าเงินบนโลกอินเทอร์เน็ตอย่าง Airpay ที่เริ่มเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยอย่างจริงจังแล้ว

อีกทั้งเมื่อไม่นานมานี้ SEA Ltd. ได้ประกาศจะขายหุ้น IPO ในตลาดหุ้น New York Stock Exchange โดยมี 3 ยักษ์ใหญ่อย่าง Goldman Sachs Group Inc, Morgan Stanley และ Credit Suisse Group AG เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน จดทะเบียนบริษัทเข้าตลาดหุ้น คาดว่าจะระดมเงินได้มากถึง 696 ล้านเหรียญสหรัฐ 

Morgan Stanley ชี้แจงว่าการระดมทุนครั้งนี้จะเป็นบวกกับกลุ่มธุรกิจ shopping platform ในกลุ่มธุรกิจของ Garena เป็นอย่างมาก เพราะการลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ Garena เป็นธุรกิจที่มีการโตเร็ว และแย่งส่วนแบ่งจาก Alibaba Group ได้ไม่ยาก ปัจจุบันธุรกิจของ Garena จะขาดทุนอยู่ แต่จะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น

  • ปี 2014 Garena ประกาศผลประกอบการขาดทุน 225 ล้านเหรียญ จากรายได้ 345.7 ล้านเหรียญ

  • ปี 2015 Garena ประกาศผลประกอบการขาดทุน 107.3 ล้านเหรียญ จากรายได้ 292.1 ล้านเหรียญ

shopee_3

สำหรับ Shopee ในประเทศไทยถือว่าเป็น 1 ในประเภทแถบภูมิภาคอาเซียนที่โตเร็วมากๆ ซึ่ง Garena ได้เปิดตัวเมื่อเดือนธันวาคม 2558 ปัจจุบันมีผู้ใช้มากกว่า 4 ล้านคน ภายใน 2 ปี มีสินค้าให้เลือกซื้อมากกว่า 3 ล้านรายการ ซึ่งถือว่าโตเร็วกกว่า Lazada ที่เข้ามาทำการตลาดก่อนหน้าเป็นอย่างมาก

สิ่งที่ทำให้ Shopee แตกต่างจากคู่แข่งรายอื่นในตลาดอยู่ตรงที่ความรวดเร็ว ความปลอดภัย และการนำเสนอสินค้าในราคาที่ถูกกว่า

  • ความรวดเร็ว - ผู้ซื้อสามารถติดต่อกับผู้ขายได้โดยตรงผ่านข้อความแชต (LiveChat) สามารถสอบถามรายละเอียดของสินค้าได้ 

  • ความปลอดภัย - การซื้อขายผ่านแอปพลิเคชั่นที่เชื่อถือได้โดยมี Shopee เป็นสื่อกลาง เมื่อเกิดปัญหาก็สามารถสอบถามทาง Shopee ได้โดยตรง 

  • สินค้าที่ถูกกว่า - ทาง Shopee มีการแจกโค้ดส่วนลด รวมถึงผู้ขายเองก็สามารถลดได้เองเช่นกัน แต่ตรงส่วนนี้ถือว่าแข่งขันกันสูงไม่ว่าจะเป็นของ Lazada หรือ 11 Streets ซึ่งทางผู้ซื้อต้องลองเช็คราคาจากหลายๆ แหล่งเสียก่อน

ปัจจุบัน Shopee มีให้บริการอยู่ทั้งหมด 7 ประเทศ ประกอบด้วย ไต้หวัน, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, เวียดนาม, สิงคโปร์ และประเทศล่าสุดก็คือไทย ซึ่งเปิดมาได้ราวครึ่งปี มียอดผู้สมัครใช้งานกว่า 4 ล้านราย แต่ทางผู้ให้บริการไม่ได้แยกว่าคนที่สมัครเข้ามาเป็นผู้ซื้อหรือผู้ขาย

ถึงแม้อุตสาหกรรม shopping platform โดยลักษณะ E-Commerce จะเป็นการค้าขายที่กำลังเป็นเทรนด์แห่งอนาคตที่โดนใจคนรุ่นใหม่ และดูเหมือนว่าจะมาแทนที่ Modern Trade ในปัจจุบัน แต่ด้วยเรื่องของวัฒนธรรมของแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน เช่น คนสิงคโปร์นิยมเดินห้างเพื่อซื้อของ ส่วนวัฒนธรรมของไทยนิยมเดินห้างเพราะพาครอบครัวไปเที่ยวในวันครอบครัว เป็นต้น

ดังนั้น "ความแตกต่างทางวัฒนธรรม" ก็เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาเช่นกัน สุดท้ายแล้วอุตสาหกรรมในอนาคตที่กำลังมาแรง ก็ใช่ว่าทุกคนจะทำกำไรได้ทั้งหมด สำหรับนักลงทุนแล้ว เรายังจำเป็นต้องสอดส่องและติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดต่อไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook