ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ: สรุปแล้วดีหรือไม่ดี

ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ: สรุปแล้วดีหรือไม่ดี

ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ: สรุปแล้วดีหรือไม่ดี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลังจากที่ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กับตัวแทนสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ออกมาเรียกร้องให้มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำปี 2561 ขึ้นจาก 300 บาทไปเป็น 600-700 บาทต่อวันนั้นก็ได้เกิดกระแสตอบโต้มากมายทั้งจากรัฐบาลและจากฝั่งเอกชน

ในวงการเศรษฐศาสตร์เองการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำก็เป็นประเด็นที่ถูกถกเถียงกันอย่างเผ็ดมันมาเป็นเวลานานหลายสิบปีไม่แพ้กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่อัตราว่างงานต่ำ ช่วงหาเสียง และช่วงที่สังคมเริ่มไม่ทนกับระดับความเหลื่อมล้ำทางรายได้

บทความนี้จะสรุปประเด็นสำคัญเกี่ยวกับ ผลกระทบที่ “สามารถเกิดขึ้นได้” ในเชิงทฤษฎี และหลักฐานจากการวิจัยจริงแบบสั้นๆ มาให้ผู้อ่าน stock2morrow ได้เก็บไปคิดกันเผื่อวันหนึ่งจะมีการขึ้นค่าแรงอีกครั้งครับ

ทฤษฎี: “ดีไม่ดีโดยรวมต้องชั่งน้ำหนัก”

laber2

เหตุผลหลักที่เกิดการเรียกร้องให้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำคือการช่วยการันตีคุณภาพชีวิตของแรงงานที่มีรายได้ต่ำ ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นปัญหาที่แก้ได้จากหลายทาง ไม่จำเป็นต้องแก้ด้วยการให้ค่าจ้างเพิ่มขึ้นเท่านั้น

ผลลัพธ์จากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ในสาขาเศรษฐศาสตร์แรงงานทำนายไว้สามอย่างหลักๆ

1. ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแล้วบริษัทอาจ “โละ” แรงงาน เกิดการจ้างงานน้อยลง ประมาณว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นการไป “รบกวน” กลไกธรรมชาติของอุปสงค์อุปทาน ในตอนแรกที่บริษัทให้คุณค่ากับแรงงานทักษะต่ำแค่ 300 บาทต่อวัน พรุ่งนี้กลับต้องจ่ายมากขึ้นโดยฉับพลันทั้งๆ ที่ทักษะของแรงงานกลุ่มนี้ไม่ได้เพิ่มขึ้น ส่วนจะโละมากน้อยแค่ไหนนั้น ขึ้นอยู่ด้วยว่าบริษัทที่สามารถพลิกแพลงโมเดลธุรกิจและปัจจัยการผลิตได้รวดเร็วแค่ไหน หากทำได้รวดเร็วจะเกิดทำการโยกย้ายเงินก้อนที่ปกติเคยเอามาจ้างแรงงานทักษะต่ำ ก็เอาไปจ้างแรงงานทักษะสูง ซื้อหุ่นยนต์ทำ automation เพิ่ม หรือไป outsource ด้วยวิธีอื่นๆ แทน ยิ่งบริษัทส่วนมากสามารถปรับตัวได้รวดเร็วก็จะมีการโละแรงงานให้เห็นกันมากขึ้น

2.. แต่การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำก็สามารถทำให้แรงงานจำนวนมากมีเงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งก็ไม่ได้เป็นที่น่าแปลกใจนักเพราะมันเป็นสิ่งที่นโยบายมุ่งเน้น (แต่ต้องเน้นว่าสำหรับแรงงานที่ยังไม่โดน “โละออก”นะครับ) อีกทั้งยังสามารถทำให้ช่วยผ่อนปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้ลงไปได้บ้าง

3.. ในเซ็กเตอร์ที่มีการแข่งขันสูงในตลาดแรงงาน (มีนายจ้างแข่งกันจำนวนมากๆ) การไปขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะส่งผลให้เกิดการดันราคาสินค้าให้สูงขึ้น แต่ในตลาดแรงงานที่ไม่ค่อยมีการแข่งขันนัก (มีนายจ้างผูกขาดแค่ไม่กี่ราย) การชึ้นค่าแรงขั้นต่ำมีโอกาสทำให้ราคาสินค้าต่ำลงได้ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าในบริบทของเมืองไทยว่าเซ็กเตอร์ที่ถูกกระทบมากที่สุดมีระดับการแข่งขันมากแค่ไหนในตลาดแรงงานนั้นๆ

ที่จริงยังมีผลลัพธ์ที่เป็นไปได้อื่นๆ อีกมาก เช่น บริษัทอาจประหยัดทำการลดแพคเกจสวัสดิการพนักงาน หรือ ค่าแรงที่สูงขึ้นอาจทำให้นักเรียนบางกลุ่มออกมาทำงานกลางคันแล้วไม่จบการศึกษา แต่สรุปแบบสั้นๆ ก็คือการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำสามารถส่งได้ทั้งผลดีและผลเสียต่อสังคม ท้ายสุดแล้วคำทำนายจากทฤษฎีเหล่านี้จะต้องถูกพิสูจน์ด้วยข้อมูลในระบบเศรษฐกิจจริง ว่าโดยรวมแล้วมันเทไปทางบวกหรือลบ

หลักฐานจากโลกจริง: นโยบายนี้มีความละเอียดอ่อนสูง ไม่ควรปรับแบบฉับพลัน

สหรัฐฯ อเมริกาเป็นประเทศที่มีหลักฐานวิจัยเกี่ยวกับนโยบายนี้มากที่สุดในโลก มีจำนวนงานวิจัยมากจนผลลัพธ์กระจายไปทั่ว ทำให้การถกเถียงเรื่องนโยบายนี้ยืดเยื้อมาเป็นสิบๆ ปี แต่จากหนังสือของนักเศรษฐศาสตร์ที่ไปการสำรวจงานวิจัยกว่า 200 ชิ้น (https://www.amazon.com/What-Does-Minimum-Wage-Do/dp/0880994568) พบว่าการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแบบ “พอประมาณ” (ไม่ปรับขึ้นมากเท่ากับที่เคยเกิดขึ้นในเมืองไทยหรือที่กำลังเรียกร้องกัน) แทบจะไม่มีผลต่อการจ้างงาน ส่วนผลกระทบต่อราคาสินค้า (ราคาอาหาร) มักเป็นไปอย่างที่คิด แต่ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากแบบ 1 ต่อ 1

หากในกรณีไทยเราพบว่าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนั้นแทบไม่สะกิดการจ้างงานจริง นั่นเป็นเรื่องน่ายินดีเนื่องจากข้อดีชั่งน้ำหนักแล้วหนักกว่าข้อเสีย

แต่ทว่าการศึกษาการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทครั้งล่าสุดที่ผ่านมาในประเทศไทยโดย ดร.ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์ (https://thaipublica.org/2016/11/pier-14/) และ Cecilia Poggi พบว่าการปรับขึ้นอย่างฉับพลันและสูงมากอาจไม่ได้หอมหวานขนาดนั้นในกรณีไทย เนื่องจาก:

1. การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำสามารถลดความเหลื่อมล้ำได้จริง แต่แรงงานกลุ่มรายได้ต่ำสุด 10 เปอร์เซ็นต์ของประเทศกลับไม่ได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้น อาจเป็นที่ช่องโหว่ทางกฎหมาย
2. มีผลเสียทำให้มีประชากรออกจากกำลังแรงงานมากขึ้นจริง โดยกลุ่มคนที่ถูกกระทบมากที่สุดคือกลุ่มคนช่วงอายุ 15 ถึง 24 ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีประสบการณ์ทำงานน้อย
3. แรงงานกว่า 60% ที่ทำงานในกิจการขนาดย่อมได้รับค่าแรงขั้นต่ำที่ต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำที่กำหนดไว้

ในมุมมองของผู้เขียนเอง ผมมองว่าเรายังมีหลักฐานน้อยเกินไปกว่าที่จะบุ่มบ่ามปรับค่าแรงขั้นต่ำอย่างฉับพลันและปรับในอัตราสูง และที่จริงแล้วมันเป็นการแก้ไขปัญหาระยะสั้น เพราะเป้าหมายสูงสุดของเราไม่ใช่การบังคับแบบ command and control ให้เกิดงานทักษะต่ำจำนวนมากขึ้นเพียงเพื่อที่จะให้แรงงานไทยทักษะต่ำยังชีพได้ เราต้องการให้พวกเขามีทักษะที่ดีขึ้น เพื่อที่เขาจะได้มีโอกาสได้งานที่สร้างผลิตผลมากขึ้น จำเจน้อยลง และทำให้ชีวิตเขาดีขึ้นไปตามลำดับต่างหาก

นอกจากนี้ก็ต้องไม่ลืมว่ายังมีนโยบายประเภทอื่นๆ อีกมากมายที่สามารถช่วยแก้ปัญหาความเป็นอยู่ของคนที่ลำบากได้โดยไม่ต้องเข้าไปขัดกลไกตลาดโดยที่เราไม่แน่ใจว่าจะเกิดอะไรขึ้นมากขนาดนี้เหมือนกันครับ


ติดตามบทวิเคราะห์จากมุมมองเศรษฐศาสตร์ที่เข้าใจง่ายได้ที่ www.settakid.com
บทความจากทีม Content ของ stock2morrow โดยคุณ ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook