ปิดกิจการ 7-11 อินโดฯ สาเหตุไม่ใช่แค่ห้ามขายแอลกอฮอล์

ปิดกิจการ 7-11 อินโดฯ สาเหตุไม่ใช่แค่ห้ามขายแอลกอฮอล์

ปิดกิจการ 7-11 อินโดฯ สาเหตุไม่ใช่แค่ห้ามขายแอลกอฮอล์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เป็นกระแสฮือฮาไม่ใช่น้อยเกี่ยวกับข่าวร้านสะดวกซื้อแบรนด์ดัง 7-11 ในอินโดนีเซียที่ประกาศเลิกดำเนินธุรกิจและปิดทุกสาขาภายในเดือนมิ.ย. 2017 ส่วนใหญ่สื่อนำเสนอไปในทางเดียวกันว่าเป็นผลจากรัฐบาลออกกฎห้ามขายเบียร์ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดในร้าน 7-11 อินโดนีเซียอยู่ภายใต้การบริหารของบริษัท Modern Sevel Indonesia ซึ่งเป็นมาสเตอร์แฟรนไชส์ เปิดบริการครั้งแรกเมื่อปี 2009 ที่จาร์กาตา และขยายสาขาอย่างรวดเร็วเกือบ 200 สาขาทั่วประเทศโดย 65% ของลูกค้ามีอายุต่ำกว่า 30 ปี

 7-11-2

มุมนั่งรับประทานใน 7-11

ก่อนหน้านั้น วัยรุ่นและคนวัยหนุ่มสาวของอินโดนีเซียมักจับกลุ่มสังสรรค์กันตามร้านอาหารข้างทาง แต่หลังจากที่ 7-11 ใช้กลยุทธ์ปรับร้านสะดวกซื้อตามแนวคิด eat-in-store โดยจัดวางโต๊ะเก้าอี้ให้นั่ง มีไวไฟให้ใช้ฟรี และที่สำคัญบริการตลอด 24 ชม. ร้าน 7-11 จึงกลายเป็นสถานที่ชุมนุมของลูกค้ากลุ่มนี้ เพราะที่ร้านมีบริการอาหารพร้อมทานราคาไม่แพง เช่น ข้าวผัด อาหารว่าง และขนมขบเคี้ยว รวมถึงเครื่องดื่ม น้ำหวาน สเลอปี้ที่ได้รับความนิยม พร้อมด้วยเบียร์และไวน์


รายงานระบุเฉพาะเครื่องดื่มเบียร์อย่างเดียวทำยอดขายคิดเป็น 8-12% ของยอดขายทั้งหมด นอกจากนั้นการจำหน่ายเบียร์ยังกระตุ้นยอดขายสินค้าอาหารและขนมขบเคี้ยวให้เพิ่มขึ้นด้วย นอกจากแนวคิดทำร้านสะดวกซื้อให้เป็นร้านอาหารด้วยนั้น ทาง 7-11 อินโดนีเซีย (บางสาขา) ยังจูงใจลูกค้าด้วยการจัดกิจกรรม เช่น การแสดงดนตรีสดบริเวณลานหน้าร้าน หรือการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอล เป็นต้น ซึ่งทำให้ผู้คนไปรวมกันหน้าร้าน ทำให้ยอดขายสูงขึ้น


อย่างไรก็ตาม หลังจากที่รัฐบาลอินโดนีเซียออกกฎห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก็ส่งผลกระทบต่อ 7-11 ไม่น้อย ยอดขายลดลงอย่างเห็นได้ชัด ปีที่ผ่านมา ยอดขายหดเหลือ 891,000 ล้านรูเปียหรือราว 2,280 ล้านบาท จากยอด 1.2 ล้านล้านรูเปียที่เคยทำได้ก่อนหน้า ส่งผลให้บริษัทขาดทุน 636,000 ล้านรูเปีย (ประมาณ 1,627 ล้านบาท) ก่อนหน้านั้น บริษัทก็ทยอยปิดร้าน 7-11 ไปแล้วเกือบ 50 สาขา จนเหลือ 120 สาขาในปัจจุบัน และ 120 สาขาที่ว่านี้ก็กำลังจะปิดฉากลงภายในเดือนมิ.ย.นี้

แน่นอนว่าการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อยอดขายสินค้าอื่นในร้าน 7-11 แต่ปัญหาไม่ได้มีแค่นั้น แต่ยังเกี่ยวเนื่องกับตัวบทกฎหมายด้วย กล่าวคือภายใต้กฎหมายด้านธุรกิจของอินโดนีเซีย บรรดาร้านสะดวกซื้อ โมเดิร์นเทรด ร้านค้าส่ง หรือแม้กระทั่งห้างสรรพสินค้าที่ต้องการดำเนินธุรกิจค้าปลีกจำเป็นต้องขอใบอนุญาตที่เรียกว่า IUTM เพื่อจำหน่ายสินค้าปลีก ผลการตรวจสอบกลับพบว่าร้าน 7-11 อินโดนีเซียราว 60 แห่งไม่มีใบอนุญาตนี้

7-11-3

7-11 อินโดฯถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลให้ชมฟรี

นอกจากนั้น กฎระเบียบอันซับซ้อนของรัฐบาลอินโดนีเซียเองก็เป็นอุปสรรคเช่นกัน ข้อมูลจากบริษัทวิจัยสไปร์ระบุอินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีธุรกิจแฟรนไชส์ใหญ่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีการประเมินว่า ไม่ต่ำกว่า 60% ของธุรกิจแฟรนไชส์ในอินโดนีเซียเป็นแฟรนไชส์ที่มาจากต่างประเทศ และกฎระเบียบอันหยุมหยิมบวกกับระบบราชการอันล่าช้าเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจของแฟรนไชส์ต่างชาติไม่น้อย อย่างเคส 7-11 ก็ถูกกระทรวงการค้าเรียกไปสอบถามว่าตกลงดำเนินธุรกิจอะไรกันแน่ระหว่างร้านสะดวกซื้อกับร้านอาหาร

หรือแม้กระทั่ง 7-11 อินโดนีเซียถอดใจไม่ทำธุรกิจนี้ต่อแล้วและเจรจากับ CP Restu Indonesia บริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ของไทยเพื่อขายกิจการทั้งหมดให้ในราคา 1 ล้านล้านรูเปีย โดยทำข้อตกลงไปเมื่อ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา แต่ก็ยังติดขัดตรงที่ข้อตกลงนี้ยังไม่ผ่านการอนุมัติของหลายหน่วยงานรวมถึงกระทรวงการค้า และหน่วยงานคลังของรัฐ

ไม่ใช่ 7-11 เท่านั้นที่เจอปัญหา แม้กระทั่ง IKEA เชนค้าปลีกเฟอร์นิเจอร์รายใหญ่จากสวีเดนเมื่อปีที่แล้ว ก็เจอกรณีขายแฟรนไชส์ในอินโดนีเซียแต่ต้องเจอปัญหาลิขสิทธิ์เนื่องจากมีบริษัทอินโดนีเซียชิงจดทะเบียนการค้าภายใต้ชื่อ IKEA Surabaya ไว้แล้ว ทำให้ IKEA จากสวีเดนต้องจ่ายค่าธรรมเนียมให้บริษัทท้องถิ่นอินโดฯเจ้านี้เพื่อให้สามารถใช้ชื่อ IKEA ในการดำเนินธุรกิจ ขณะเดียวกัน แบรนด์ปิแอร์ การ์แดงของฝรั่งเศสก็ไม่สามารถเปิดช้อปโดยใช้ชื่อนี้ในอินโดนีเซียเนื่องจากมีการจดลิขสิทธิ์ชื่อทางการค้าไปแล้วเมื่อปี 1977 ทั้งนี้ปิแอร์ การ์แดงเป็นแบรนด์ดังระดับโลก มีการต่อสู้ในศาล แต่ศาลอินโดนีเซียตัดสินให้บริษัทเครื่องแต่งกายจากฝรั่งเศสแพ้คดี


ที่มา:
http://indonesiaexpat.biz/other/info-for-expats/challenges-retail-franchises-in-indonesia/
www.thejakartapost.com/news/2017/04/26/7-eleven-sold-as-business-declines.html


Text : วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook