โพลชี้พิษหวัด พังแสนล้าน คนเมินกิน-เที่ยว

โพลชี้พิษหวัด พังแสนล้าน คนเมินกิน-เที่ยว

โพลชี้พิษหวัด พังแสนล้าน คนเมินกิน-เที่ยว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โพล ม.หอการค้าไทย ชี้คนไทยแหยงหวัดใหญ่ 2009 เมินกิน-เที่ยว คาดถ้าระบาดยืดเยื้อถึงไตรมาส 4 เศรษฐกิจพัง 1.2 แสนล้าน จีดีพีลบสูงสุด 5.5% "ธนวรรธน์" อัดรัฐอย่าดีแต่พูดไปวัน

วันนี้ (23 ก.ค.) นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจทัศนะประชาชนต่อการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ส่วนใหญ่เห็นว่าการระบาดไข้หวัดใหญ่ 2009 เป็นปัจจัยลบอันดับ 1 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศ ทั้งด้านท่องเที่ยว และการบริโภคประชาชน คาดว่า หากการระบาดเกิดต่อเนื่องจนถึงไตรมาส 3 จะทำให้รายได้จากการท่องเที่ยว และการบริโภคลดลง 3-6 หมื่นล้านบาท และทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี)ไตรมาส 3 ติดลบ 3.5-4.5% ขณะที่จีดีพีทั้งปี ลบ 3.8-4.8% จากเดิมที่ศูนย์คาดว่า จีดีพีปีนี้จะลบ 3.5%-4.5%

นายธนวรรธน์ กล่าวต่อว่า แต่หากการระบาดยังยืดเยื้อถึงไตรมาส 4 จะทำให้รายได้การท่องเที่ยวและการบริโภคลดลง 6 หมื่นล้านบาทถึง 1.2 แสนล้านบาท จีดีพีไตรมาส 4 ลบ 0.5-1% และทั้งปีติดลบ 4-5.5% ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าไข้หวัดใหญ่ 2009 มีผลกระทบทางจิตวิทยา ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจอาจไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่คาดว่าจะฟื้นตัวไตรมาส 4 เพราะทำให้การบริโภคและกิจกรรมบันเทิงลดลง และยิ่งมีคนติดเชื้อและเสียชีวิตมากขึ้น ประชาชนก็ยิ่งกังวล ซึ่งสะท้อนว่าคนไทยยังไม่มั่นใจต่อมาตรการป้องของรัฐ เพราะแนวโน้มการระบาดในไทยยังเพิ่มสูง จากต้นเดือน ก.ค.ที่มีผู้เสียชีวิตต่อผู้ติดเชื้อเพียง 0.4% แต่ขณะนี้เพิ่มเป็น 0.65% และยังมีคนติดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ เห็นว่า สิ่งสำคัญที่รัฐต้องเร่งทำ คือการป้องกันดูแลให้ผู้ติดเชื้อ และเสียชีวิตลดลง ควบคู่กับการเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมา ภายใต้การดำเนินมาตรการที่เป็นรูปธรรม ไม่ใช่พูดเพียงว่าให้ประชาชนเชื่อมั่น หากรัฐเรียกความเชื่อมั่นประชาชนกลับมาได้ แม้การระบาดยังมีอยู่ แต่ผลกระทบทางเศรษฐกิจน่าจะคลายความรุนแรงลงได้

ด้านนายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล กรรมการรองเลขาธิการหอการค้าไทย กล่าวว่า การระบาดไข้หวัดใหญ่ ส่งผลกระทบรุนแรงให้การท่องเที่ยวปีนี้ลดลง 30% ทำให้นักท่องเที่ยวลดลง 2-3 ล้านคน รายได้หายไป 2 แสนล้านบาท และยังกระทบต่อธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง รวมถึงการบริโภคภายในประเทศ ที่สำคัญยังทำให้การส่งออกลดลง เพราะคนกังวลไม่กล้าใช้จ่าย คาดว่าการส่งออกสินค้ากลุ่มอาหารทั้งปีนี้จะลบ 7% ขณะที่ภาพรวมการส่งออกทั้งปีจะติดลบ 15-20% โดยไตรมาส 3 จะติดลบ 18-20% ขณะที่ไตรมาส 4 ติดลบ 10-15%

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook