CIMBห่วงเอกชนลงทุนชะลอฉุดศก.

CIMBห่วงเอกชนลงทุนชะลอฉุดศก.

CIMBห่วงเอกชนลงทุนชะลอฉุดศก.
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ซีไอเอ็มบีไทย ห่วงการลงทุนเอกชนไม่ฟื้น ฉุดเศรษฐกิจซึมยาว แนะนโยบายรัฐต้องต่อเนื่อง มอง จีดีพีโต 3.2% ส่งออก 3.0%

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ซีไอเอ็มบีไทย คงประมาณการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในปีนี้ไว้ที่ร้อยละ 3.2 โดยคาดว่าในช่วงไตรมาส 2 จีดีพีจะขยายตัวประมาณร้อยละ 2.9 และ จะขยายตัวร้อยละ 3 ในช่วงไตรมาส 3 และ 4 โดยคาดว่าการส่งออกเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เนื่องจากตลาดโลกฟื้นตัว คาดว่าการส่งออกขยายตัวได้ร้อยละ 3 เพิ่มขึ้นจากครั้งก่อนที่คาดว่าขยายตัวเพียงร้อยละ 0.6 แต่อย่างไรก็ตามเป็นห่วงการลงทุนของภาคเอกชนที่ขยายตัวต่ำติดต่อกัน 4 ปีซ้อน คาดในปีนี้จะโตเพียงร้อยละ 0.7 ดังนั้นรัฐบาลต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับเอกชน โดยการส่งสัญญาณให้ชัดเจนว่า นโยบายและโครงการของรัฐ จะลงทุนต่อเนื่องจนถึงรัฐบาลชุดต่อไปหลังการเลือกตั้ง เพราะคาดว่าจะมีการเลือกตั้งในปี 2561 ซึ่งจะช่วยให้ความมั่นใจดีขึ้น แต่หากการเมืองไม่เป็นไปตามโรดแมป จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นเอกชนลดลงจะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ต่ำเป็นระยะเวลานาน ในลักษณะรูปตัว L  

นายอมรเทพ ยังกล่าวถึงอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศในขณะนี้ว่า ค่าเงินบาทในปัจจุบันแข็งค่ามากที่สุดในภูมิภาค และเป็นการแข็งค่าเร็วจนน่าตกใจ แต่เชื่อว่าจะเป็นเพียงระยะสั้น เท่านั้น เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติยังไม่มั่นใจในนโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ จึงทำให้เม็ดเงินไหลเข้าในภูมิภาคเอเชียรวมทั้งไทย แต่เชื่อว่า ในครึ่งปีหลัง เมื่อนโยบายทรัมป์ มีความชัดเจนจนทำให้เงินเฟ้อของสหรัฐ สูงขึ้นจนทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด ต้องขึ้นดอกเบี้ย เม็ดเงินจะไหลกลับ ไปที่สหรัฐส่งผลให้เงินบาทช่วงปลายปีอ่อนค่าลงอยู่ที่ 35.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และ เชื่อว่าได้ผ่านจุดที่แข็งค่าต่ำสุดไปแล้ว

ส่วนแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย คาดว่าธนาคารแห่งประเทศ หรือ ธปท. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 1.50  ตลอดทั้งปีนี้ และ คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด จะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งส่งผลให้ดอกเบี้ยสหรัฐปรับขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 1.50 เท่ากับประเทศไทย

นอกจากนี้ นายอมรเทพ เปิดเผยว่า ซีไอเอ็มบี ไทย มีข้อเสนอแนะ เพื่อทำให้เศรษฐกิจของประเทศมีความยั่งยืนมากขึ้นโดย กำหนดเป็น นโยบาย 3 ลด เพื่อเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย การลดขนาดภาครัฐ และเพิ่มบทบาทภาคเอกชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุนมากขึ้น เนื่องจาก การใช้จ่ายภาครัฐต่อ GDP ที่ปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 17 มีความคล่องตัวน้อย ดังนั้นควรจะเร่งเดินหน้าความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชน หรือ PPP เร่งการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ให้เข้ามามีบทบาทซึ่งหากรัฐบาลมีรายจ่ายลดลง รัฐบาลก็ไม่มีความจำเป็นต้องมีรายได้มาก และอาจปรับลดภาษี เพื่อกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนของเอกชนได้ การลดกฎระเบียบและเพิ่มความคล่องตัวของส่วนงานราชการให้รองรับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของเอกชน และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจไทยในเวทีโลก ไม่เช่นนั้นแล้ว นักลงทุนต่างชาติอาจยังลังเลที่จะใช้ไทยเป็นฐานการผลิตได้  และ การลดกำแพงเพื่อนบ้าน การเปิดเสรีการค้า ภาคบริการในด้านการเงิน กับหลายประเทศให้มากขึ้น แก้กฎหมายให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจหรือถือครองสินทรัพย์ให้มากขึ้นได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook