ธปท.ร่วมตั้งคลินิกแก้หนี้ช่วยประชาชน

ธปท.ร่วมตั้งคลินิกแก้หนี้ช่วยประชาชน

ธปท.ร่วมตั้งคลินิกแก้หนี้ช่วยประชาชน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ธปท.ลงนามร่วมกับสถาบันการเงินเอกชน ตั้งคลินิกแก้หนี้ช่วยประชาชนเป็นหนี้รายละไม่เกิน 2 ล้านบาท ห่วง NPL กู้ซื้อบ้านพุ่ง จับตาใกล้ชิด ชี้ GDP ไตรมาสแรกดี

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. กล่าวภายในงานแถลงข่าวและลงนามความร่วมมือ ในโครงการแก้ไขปัญหาหนี้ส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน หรือ คลินิกแก้หนี้ว่า โครงการดังกล่าวจะช่วยแก้ปัญหาลูกหนี้แบบองค์รวมของลูกหนี้ โดยเฉพาะกลุ่มบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นขึ้นต่อเนื่อง ด้วยการมอบหมายให้บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด หรือ SAM ซึ่งเป็นบริษัทนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี ตั้งแต่ปี 2543 ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางคอยช่วยไกล่เกลี่ยให้ลูกหนี้ ที่มีเจ้าหนี้หลายรายให้สามารถได้ข้อยุติกับธนาคารเจ้าหนี้ในคราวเดียวกันอย่างครบวงจร ภายใต้กรอบกฎหมายที่เป็นมาตรฐาน 

ทั้งนี้ลูกหนี้ที่ต้องการเข้าร่วมต้องเป็นบุคคลธรรมดาที่อายุไม่เกิน 65 ปี ตลอดระยะเวลาที่อยู่ในโครงการ มีภาระหนี้ค้างชำระกับธนาคารพาณิชย์ที่เข้าร่วมโครงการมากกว่า 1 แห่ง ก่อนวันที่ 1 พ.ค. 2560 มูลหนี้รวมกันไม่เกิน 2 ล้านบาท และต้องเป็นผู้ที่มีรายได้ประจำ ซึ่งผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงโดยอยู่ที่ร้อยละ 4 ถึงร้อยละ 7

สำหรับหนี้บัตรเครดิต ต้องเป็นหนี้บัตรที่ออกโดยธนาคารพาณิชย์ที่เข้าร่วมในโครงการนี้เท่านั้น ยกเว้นบัตรเครดิตที่ออกโดยบริษัทในเครือของธนาคาร

นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมโครงการจะต้องไม่ก่อหนี้เพิ่มเติมภายใน 5 ปี เริ่มเข้าร่วมได้ 1 มิถุนายน 2560

สำหรับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL ในกลุ่มสินเชื่อบ้าน ที่เพิ่มสูงขึ้นมากในขณะนี้ ยอมรับว่า เป็นสิ่งที่น่ากังวล แต่จากการดูข้อมูลพบว่าหนี้ที่เพิ่มขึ้นนั้น เกิดจากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา สถาบันการเงินหลายแห่งออกโปรโมชั่นและผ่อนคลาย เงื่อนไขการให้กู้ที่อยู่อาศัย ซึ่งมีทั้งอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน และอัตราการผ่อนชำระต่ำพิเศษด้วย ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

ขณะที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี ไตรมาสแรกที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. ประกาศออกมานั้น ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี โดยเศรษฐกิจไทยเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัว สะท้อนจากภาคการผลิต และรายได้ภาคเกษตรปรับตัวดีขึ้น และส่งผลดีต่อการบริโภคซึ่งดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ ขณะที่การส่งออกเริ่มเห็นการกระจายตัวไปยังประเทศต่างๆ เพิ่มมากขึ้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook