บัญชีกลางโว ! ทำข้อตกลงคุณธรรมประหยัดงบได้สูงถึง 6 พันล.บาท

บัญชีกลางโว ! ทำข้อตกลงคุณธรรมประหยัดงบได้สูงถึง 6 พันล.บาท

บัญชีกลางโว ! ทำข้อตกลงคุณธรรมประหยัดงบได้สูงถึง 6 พันล.บาท
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กรมบัญชีกลางเผย หลังจากนำข้อตกลงคุณธรรมมาใช้ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558-2560 ประหยัดงบได้กว่า 6,126.28 ล้านบาท โดยมุ่งเน้นให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้และป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันในการจัดซื้อจัดจ้าง

นางสาวอรนุช ไวนุสิทธิ์ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบการเงินการคลัง ในฐานะโฆษกกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า การนำข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) มาใช้ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างเริ่มตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน มีหน่วยงานภาครัฐเจ้าของโครงการเข้าร่วม จำนวน 44 โครงการ มูลค่ารวมทั้งสิ้น จำนวน 223,762.90 ล้านบาท และได้ลงนามในสัญญาจัดซื้อจัดจ้างแล้ว จำนวน 23 โครงการ มูลค่ารวมทั้งสิ้น จำนวน 32,201.43 ล้านบาท ประหยัดงบประมาณได้สูงถึง 6,126.28 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 19.14 ถือว่าเป็นความสำเร็จที่เกิดจากทุกฝ่ายที่ร่วมมือกันทำให้การจัดซื้อจัดจ้างเกิดความโปร่งใส และเกิดการแข่งขันมากขึ้น

นางสาวอรนุช กล่าวเพิ่มเติมว่า นับเป็นเรื่องดีที่โครงการจัดทำข้อตกลงคุณธรรมได้รับการยอมรับและเห็นว่าเป็นโครงการที่มีประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ เนื่องจากได้รับคำแนะนำที่เป็นประโยชน์จากผู้สังเกตการณ์ในการจัดซื้อจัดจ้างแต่ละโครงการ จึงทำให้หน่วยงานราชการ และรัฐวิสาหกิจ เสนอโครงการเข้าร่วมการจัดทำข้อตกลงคุณธรรมอย่างต่อเนื่อง และมีมูลค่าโครงการสูงขึ้นด้วย เช่น โครงการของกรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งได้เข้าร่วมโครงการตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558-2560 รวม 3 โครงการ มูลค่ารวม 2,283.90 ล้านบาท บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เข้าร่วมในปี 2559-2560 รวม 3 โครงการ มูลค่ารวม 56,300 ล้านบาท และการไฟฟ้านครหลวง เข้าร่วมในปี 2558 และ 2560 รวม 4 โครงการ มูลค่ารวม 13,906.75 ล้านบาท เป็นต้น

ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ขึ้นบัญชีรายชื่อผู้สังเกตการณ์กับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) แล้วจำนวน 162 คน และปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้สังเกตการณ์แล้วจำนวน 100 คน โดยกรมบัญชีกลางได้ร่วมมือกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) และสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทยจัดอบรมหลักสูตร Independent Observer Program (IOP) ให้กับผู้สังเกตการณ์ เพื่อเสริมสร้างทักษะและความเข้าใจในการปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้สังเกตการณ์ รวมทั้งร่วมกับธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank : ADB) จัดอบรมหลักสูตรผู้สังเกตการณ์ขั้นสูง (Advanced Training Independent Observer) ให้กับผู้สังเกตการณ์ที่ผ่านหลักสูตร IOP แล้ว เพื่อเพิ่มทักษะขั้นสูงมากขึ้น

นอกจากนี้ เพื่อให้มีจำนวนผู้สังเกตการณ์เพียงพอกับโครงการของหน่วยงานภาครัฐที่สนใจเข้าร่วมโครงการจัดทำข้อตกลงคุณธรรม หลังจากที่พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ซึ่งจะมีผลใช้บังคับในวันที่ 23 สิงหาคม 2560 ที่จะถึงนี้โดยกรมบัญชีกลางจะเปิดรับสมัครบุคคลที่มีความรู้ประสบการณ์ตามคุณสมบัติ เสนอต่อองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) พิจารณาขึ้นบัญชีรายชื่อผู้สังเกตการณ์ต่อไป

นางสาวอรนุช กล่าวทิ้งท้ายว่า การจัดทำข้อตกลงคุณธรรมเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่สำคัญในการตรวจสอบและช่วยลดช่องโหว่ในการทุจริตคอร์รัปชัน พร้อมสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคเอกชนที่จะเข้าร่วมจัดซื้อจัดจ้างในโครงการภาครัฐ ว่ามีความโปร่งใสมีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติได้อย่างแท้จริง รวมทั้งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายเงินงบประมาณ และยกระดับความเชื่อมั่นของโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของประเทศไทยได้อีกด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook