ธปท.ฟ้องดำเนินคดี เพย์ออล ฯ ของ "ฟิล์ม รัฐภูมิ" ทำอี-มันนี่เถื่อน

ธปท.ฟ้องดำเนินคดี เพย์ออล ฯ ของ "ฟิล์ม รัฐภูมิ" ทำอี-มันนี่เถื่อน

ธปท.ฟ้องดำเนินคดี เพย์ออล ฯ ของ "ฟิล์ม รัฐภูมิ" ทำอี-มันนี่เถื่อน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดผยว่า ธปท.ได้กล่าวโทษบริษัท เพย์ออล กรุ๊ป จำกัด ผู้ให้ บริการแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือภายใต้ชื่อ "PayAll"ต่อ กองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ เนื่องจากทำธุรกิจ การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ อี-มันนี่(E-money) โดยไม่ได้รับอนุญาตจากธปท. โดยกระบวนการหลังจากนี้ทางตำรวจจะต้องสืบสวนและเอาผิดกับทางกรรมการและผู้บริหารของบริษัท

สำหรับบทลงโทษตามกฎหมายหรือกรณีที่มีผู้ประกอบธุรกิจที่เข้าข่ายให้บริการกับอีมันนี่โดยไม่ได้รับอนุญาตมีโทษสูงสุดคือจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกิน 200,000 บาทหรือทั้งจำและปรับ

ทั้งนี้ข้อมูลจากเว็บไซต์ www.payallgroup.com พบว่า มีนายรัฐภูมิ โตคงทรัพย์ หรือ ฟิล์ม เป็นประธานบริษัท(President)

 

สำหรับการดำเนินการทางกฎหมายครั้งนี้ ในรายละเอียดคือ  ด้วยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ตรวจพบว่า บริษัท เพย์ออล กรุ๊ป จำกัด (บริษัท) ให้บริการแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือภายใต้ชื่อ “PayAll” โดยให้ผู้ใช้บริการสมัครเป็นสมาชิกในแอปพลิเคชัน และเติมเงินล่วงหน้าเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์เพื่อนำ e-Money ดังกล่าวไปใช้ในการชำระค่าสินค้าหรือบริการจากร้านค้าต่าง ๆ ที่กำหนด

ซึ่งมีลักษณะเป็นการให้บริการ e-Money อันเข้าข่ายเป็นการประกอบธุรกิจบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์โดยไม่ได้รับอนุญาต ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์พ.ศ. 2544 ประกอบพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์พ.ศ. 2551 (พ.ร.ฎ. e-Payment) และประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ประกอบประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ 5 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 58 (การประกอบธุรกิจบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์) ซึ่งเป็นความผิดและมีโทษตามกฎหมายดังกล่าว

ธปท. ในฐานะผู้ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ตาม พ.ร.ฎ.e-Payment และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตามประกาศกระทรวงการคลังข้างต้น ให้ดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษเพื่อดำเนินคดีกับบริษัท เพย์ออล กรุ๊ป จำกัด และบุคคลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2560 ธปท. ได้ดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในความผิดตามกฎหมายดังกล่าว

ธปท. ขอเรียนว่าการประกอบธุรกิจให้บริการ e-Money เป็นธุรกิจที่มีการรับเงินล่วงหน้าจากประชาชนทั่วไปในวงกว้าง จึงต้องได้รับอนุญาตจากทางการก่อนเริ่มประกอบธุรกิจ กฎหมายจึงกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าวต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดและที่สำคัญมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้ใช้บริการ เช่น

- ต้องมีทุนจดทะเบียนและเรียกชำระแล้วตามที่กำหนด และดำรงฐานะทางการเงินและสภาพคล่อง เพื่อให้บริการ e-Money ได้อย่างต่อเนื่อง และไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ใช้บริการ
- ต้องมีการเก็บรักษาเงินของผู้ใช้บริการที่เติมเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์อย่างรัดกุม โดยต้องฝากไว้ที่สถาบันการเงิน และแยกบัญชีไว้ต่างหากจากเงินทุนหมุนเวียนที่ใช้ดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบธุรกิจ
- ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การคุ้มครองผู้บริโภค เช่น การรักษาความลับของข้อมูลผู้ใช้บริการ การคืนเงินให้ผู้ใช้บริการภายในระยะเวลาที่กำหนด และการแก้ไขข้อร้องเรียน เป็นต้น


ธปท. ขอแนะนำให้ประชาชน ร้านค้า และสถานประกอบการ เลือกใช้บริการ e-Money จากผู้ประกอบธุรกิจให้บริการ e-Money ที่ได้รับอนุญาตจากทางการเท่านั้น รวมทั้งควรศึกษาเงื่อนไขของการใช้บริการและดำเนินการเพื่อรักษาสิทธิของตนเอง โดยสามารถตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจให้บริการ e-Money ที่ได้รับอนุญาตและอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของทางการได้จากรายชื่อที่แนบมาพร้อมนี้ และเว็บไซต์ของ ธปท. หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน หมายเลขโทรศัพท์ 1213 หรือ E-mail: e-PaymentSupervisionandExaminationDivision@bot.or.th ทั้งนี้ หากประชาชนพบว่ามีผู้ประกอบธุรกิจให้บริการ e-Money โดยไม่ได้รับอนุญาต ขอให้แจ้ง ธปท. ทราบได้ตามช่องทางข้างต้น

payall2.jpg

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook