วิธี แก้เครดิตเสีย ไร้การค้างชำระ

วิธี แก้เครดิตเสีย ไร้การค้างชำระ

วิธี แก้เครดิตเสีย ไร้การค้างชำระ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การติดเครดิตเสีย หรือ ถูกแบล็คลิสต์ เกิดจากการเป็นหนี้สถาบันการเงินแล้วไม่ชำระหนี้ตามกำหนดเวลา (ส่วนมากจะเกิดขึ้นเมื่อขาดชำระตั้งแต่ 6 งวดขึ้นไป) ทำให้ไม่สามารถยื่นขอกู้ที่ใดๆ ได้อีกหากไม่ชำระบัญชีให้เสร็จก่อน

เราอาจเคยได้ยินชื่อบริษัทข้อมูลบัตรเครดิตแห่งชาติ ใช่ไหมคะ มันคือบริษัทที่ทำให้หน้าที่รวบรวมข้อมูลเครดิตจากสถาบันการเงินหลายๆ แห่งที่เป็นสมาชิก โดยที่ทุกๆ สิ้นเดือน สถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกเหล่านี้จะส่งรายงานประวัติการเงินของเราไปที่เครดิตบูโร เป็นการเก็บข้อมูลประวัติการชำระหนี้ของเรา จากนั้นบริษัทเครดิตบูโรจะนำข้อมูลมารวบรวมประมวลผลเป็นข้อมูลเครดิตภาพรวมให้สมาชิกอีกทีหนึ่ง


พอสถาบันการเงินหรือเราเองต้องการเรียกดูรายงานข้อมูลเครดิตภายใต้ขอบเขตที่กฎหมายกำหนด บริษัทเครดิตบูโรก็จะเปิดเผยข้อมูลเครดิตในรูปของรายงานให้
โดยสถาบันการเงินมักขอข้อมูลเครดิตจากเครดิตบูโรมาใช้ประกอบการพิจารณาอนุมัติให้สินเชื่อ โดยพิจารณาการให้สินเชื่อจากการเรียนรู้พฤติกรรมการชำระหนี้ของลูกค้าระยะยาว
ฉะนั้น จะเห็นได้ว่า เครดิตบูโร ไม่ได้เป็นผู้จัดให้เราติดแบล็คลิสต์ แต่แค่เป็นผู้รวบรวมข้อมูลการชำระหนี้ของเราจากสถาบันการเงินต่างๆ ที่เป็นสมาชิกเท่านั้นเอง ส่วนระยะเวลาในการจัดเก็บข้อมูลเครดิตของเราจะถูกจัดเก็บไว้เป็นระยะเวลา 3 ปี


แต่ถ้าเราเป็นหนึ่งในคนที่ติดแบล็คลิสต์ ก็อย่าเพิ่งเครียดจนเกินไปนะคะ เพราะเรามีทางแก้ไขและสร้างประวัติการเงินของเราใหม่ และสามารถขอสินเชื่อใหม่ได้

หากคุณยังมีสภาพคล่องทางการเงินอยู่ 


ถ้าคุณสามารถใช้หนี้โดยยังมีเงินเหลือใช้อยู่บ้าง สิ่งที่คุณทำได้คือ


1 สรุปรายการหนี้ที่ยังคงค้างชำระอยู่ เช่น เป็นหนี้ให้กับสถาบันการเงินใด เป็นจำนวนเท่าไร ดอกเบี้ยเท่าไร ต้องชำระต่องวดเท่าไร เพื่อที่เราจะได้ตั้งงบประมาณรายรับรายจ่ายได้อย่างเหมาะสม

2 ใช้หนี้ให้ตรงเวลาทุกงวด เก็บเอกสารการชำระหนี้ทุกชิ้นไว้ทั้งหมด เพราะสามารถนำสเตทเมนท์ที่ชำระตรงเวลานี้ เป็นหลักฐานไปยื่นให้เจ้าหน้าที่ดูเมื่อเวลาต้องการขอสินเชื่อตัวใหม่หลังจากที่พ้นแบล็คลิสต์

3 ใช้เงินก้อนมาปิดชำระ เช่น เงินโบนัส คอมมิชชั่น หรือทรัพย์สินในบ้าน แต่อย่ากู้เงินมาโปะหนี้นะคะ

4 รีไฟแนนซ์ รวมหนี้ชำระเป็นก้อนเดียว จะได้ช่วยให้เราหนีจากอัตราดอกเบี้ยสูงๆ ได้ และลดการต้องจ่ายเงินหลายๆ ทาง

5 วางแผนชำระเงิน ถ้าหนี้ก้อนไหนคิดว่าจ่ายให้หมดได้ไวที่สุด ให้เพิ่มยอดชำระแต่ละงวดเพื่อที่หนี้ก้อนนั้นจะหมดลงไวที่สุด และยิ่งถ้าหนี้ก้อนไหนคิดดอกเบี้ยทบต้นทบดอกยิ่งควรรีบกำจัดออกไปจากชีวิตเรานะคะ

6 หยุดก่อหนี้เพิ่ม ตอนนี้ต้องโฟกัสที่การชำระหนี้ที่มีให้หมดก่อน


หากสภาพทางการเงินของคุณย่ำแย่

ถ้าแต่ละเดือนรายจ่าย(ในการใช้หนี้)ของคุณมากกว่ารายรับเสียอีก ให้ทำดังนี้


1 เจรจากับสถาบันการเงิน วิธีนี้ต้องกล้าๆ หน่อย เพราะจริงๆ สถาบันการเงินก็ไม่อยากให้หนี้ที่เราก่อเป็นหนี้เสียหรอกค่ะ ดังนั้น ลองคุยดูว่า เพิ่มระยะเวลาการชำระหนี้ได้ไหม ปรับโครงสร้างการชำระหนี้ดู แสดงให้สถาบันการเงินเห็นว่าเรามีความตั้งใจจะใช้หนี้ ของอย่างนี้ต้องลองค่ะ จะได้ค่อยๆ ทะยอยจ่ายไปได้ทุกก้อน

2 ขายหนี้รายการใหญ่ เช่น บ้าน รถยนต์ เป็นต้น เพราะหนี้พวกนี้เป็นหนี้ก้อนใหญ่ เพื่อแลกกับการปลดหนี้ก้อนอื่นๆ เราอาจต้องขายของเหล่านี้ รวมถึงขายทรัพย์สินอื่นๆ ที่มีราคาด้วย ถึงคุณจะเสียดาย แต่เพื่อสภาพทางการเงินที่ดีขึ้นก็ควรทำนะคะ

3 หยุดชำระหนี้ ออมเงินครั้งใหญ่ วิธีนี้ให้ใช้เฉพาะตอนที่ถึงทางตันแล้วเท่านั้น คือรอจนหนี้เป็นหนี้เสีย แล้วเราค่อยติดต่อสถาบันการเงินและเจรจาลดหนี้ลงให้เป็นที่พอใจของทั้งสองฝ่าย จากนั้นก็ทำเงินมาค่อยๆ ชำระคืน

ทางที่ดี เพื่อกันไม่ให้เราติดแบล็คลิสต์ เครดิตบูโรให้คำแนะนำในการรักษาเครดิต โดยเฉพาะผู้ที่มีบัตรเครดิตหลายๆ ใบ ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยงสูงหากขาดวินัยทางการเงิน ไว้ดังนี้



สิ่งที่ควรทำเพื่อไม่ให้ติดบัญชีค้างชำระ

1 ระมัดระวังในการสร้างหนี้ หมายถึง ก่อนจะใช้บัตรเครดิต ให้คำนึงถึงจำนวนเงินที่เราต้องชำระในแต่ละเดือนก่อน เช่น ผ่อนรถอยู่กี่บาทต่อเดือน แล้วใช้บัตรเครดิตควรไม่เกินกี่บาทต่อเดือน ภาระหนี้ในแต่ละเดือนจะได้ไม่สูงเกินไป

2 มีบัตรเครดิตยิ่งน้อยใบยิ่งดี ถ้าบัญชีบัตรเครดิตไหนไม่ใช้แล้วก็ปิดซะ เพราะถ้ามีจำนวนบัตรเครดิตมาก สถาบันการเงินจะมองว่าเรามีแนวโน้มที่จะเกิดการก่อหนี้มากขึ้นได้

3 ชำระเงินให้ตรงเวลา การที่เราชำระเงินเลทในแต่ละงวด หรือไม่ชำระเงินติดต่อกัน 6-7 งวด แสดงถึงความไม่มีความรับผิดชอบและอาจแสดงให้เห็นว่าเรามีปัญหาทางการเงินเข้าแล้ว ถ้าหากค้างชำระ 1-2 งวดยังไม่เท่าไร แต่ถ้ามากๆ เข้า แบบนี้เครดิตเสียแน่นอน

4 ถ้าพบข้อมูลในใบแจ้งหนี้ที่ผิดปกติหรือคลาดเคลื่อน ให้ติดต่อสถาบันการเงินทันทีเพื่อแก้ไขข้อมูล


เมื่อเราชำระหนี้ทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว เราต้องไปเช็คเครดิตของเราที่บริษัทข้อมูลแห่งชาติ หรือ เครดิตบูโร เพื่อตรวจสอบว่า สถาบันการเงินเจ้าหนี้ได้แจ้งเปลี่ยนแปลงเครดิตให้หรือยัง แล้วเราก็จะสามารถกลับมาขอสินเชื่อใหม่ได้ค่ะ เพราะฉะนั้น ใครที่ติดแบล็คลิสต์อยู่ อย่าเพิ่งหมดหวังกันนะคะ เพราะเราแก้ไขได้ค่ะ

by Sarita Worravitudomsuk
ติดตามเคล็ดลับการเงิน วิธีการบริหารการเงินส่วนบุคคลได้กับมาสิ บล็อก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook