ธ.ก.ส.อนุมัติ 4.6 หมื่นล.จำนำยุ้งฉาง มั่นใจเงินถึงมือชาวนาใน 3 วัน

ธ.ก.ส.อนุมัติ 4.6 หมื่นล.จำนำยุ้งฉาง มั่นใจเงินถึงมือชาวนาใน 3 วัน

ธ.ก.ส.อนุมัติ 4.6 หมื่นล.จำนำยุ้งฉาง มั่นใจเงินถึงมือชาวนาใน 3 วัน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

บอร์ด ธ.ก.ส. เห็นชอบสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกหอมมะลิ พร้อมหนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้สถาบันเกษตรกรรวบรวมผลผลิตและแปรรูปข้าวเพื่อเพิ่มมูลค่า สร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรในระยะยาวอย่างยั่งยืน


นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการ ธ.ก.ส. เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2559 ได้พิจารณาเห็นชอบให้ ธ.ก.ส.ดำเนินการให้ความช่วยเหลือชาวนาตามโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2559/60 วงเงินรวม27,410 ล้านบาท และโครงการให้ความช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้แก่ชาวนาผู้ปลูกข้าวหอมมะลิปีการผลิต 2559/60 วงเงินรวม 19,375 ล้านบาท ตามมติคณะรัฐมนตรี รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 46,785 ล้านบาท


โดยชาวนาที่เข้าร่วมโครงการ ฯ จะได้รับเงินเป็นสินเชื่อเพื่อชะลอการขายจาก ธ.ก.ส.ตันละ 9,500 บาท (ต้นข้าว 36 กรัมขึ้นไป) ระยะเวลาคืนเงินไม่เกิน 5 เดือน ไม่มีดอกเบี้ย และได้รับเงินช่วยเหลือค่าเก็บรักษาข้าวเปลือกในยุ้งฉางตันละ 1,500 บาท ตามโครงการชะลอการขายข้าวเปลือกฯ นอกจากนี้ชาวนาจะได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลเป็นค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าวอีกตันละ 2,000 บาท (คำนวณจากการจ่ายเงินช่วยเหลือไร่ละ 800 บาท ไม่เกิน 15 ไร่) ตามโครงการให้ความช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพ รวมเป็นเงินที่ชาวนาจะได้รับทั้งสิ้น 13,000 บาท ต่อตันข้าวเปลือก

สำหรับชาวนาที่ไม่มียุ้งฉางเก็บข้าวเปลือกไว้รอราคาและต้องขายข้าวเปลือกเอง ก็จะได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลตามโครงการให้ความช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว ตันละ 2,000 บาท เพิ่มเติมจากราคาข้าวเปลือกที่ขายได้เช่นเดียวกัน ทั้งนี้ ธ.ก.ส.จะโอนเงินเข้าบัญชีของเกษตรกรโดยตรง


อนึ่ง ได้มีการขยายกลุ่มเป้าหมายตามโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกฯ ให้ครอบคลุมถึงสหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชนที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการรวบรวมแปรรูปและสร้างมูลค่าเพิ่มของข้าวเปลือกด้วย


สำหรับฤดูการผลิตข้าวนาปี ปีการผลิต 2559/60 ก่อนหน้านี้รัฐบาลได้มีมาตรการให้ความช่วยเหลือพี่น้องชาวนาทั้งมาตรการระยะสั้นและมาตรการระยะยาว ประกอบไปด้วย

1. การแบ่งเบาภาระหนี้สินเกษตรกร ผ่านโครงการพักชำระหนี้ต้นเงินและลดดอกเบี้ยเกษตรกร ผู้ปลูกข้าว ปี 2559/60 ให้กับชาวนาที่เป็นลูกค้า ธ.ก.ส. ที่มีหนี้เงินกู้ไม่เกิน 500,000 บาท โดยพักชำระต้นเงินให้เป็นระยะเวลา 2 ปี ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2559 ถึง 30 มิถุนายน2561 และลดดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 3 ต่อปี มีชาวนาได้รับประโยชน์จำนวน 2 ล้านราย

2. การลดต้นทุนการผลิต ผ่านโครงการสนับสนุนเงินช่วยเหลือต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/60 โดยจ่ายเงินช่วยเหลือต้นทุนการผลิตไร่ละ 1,000 บาท รายละไม่เกิน 10 ไร่ เริ่มโครงการตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2559 - 31 ธันวาคม 2559 ยกเว้นภาคใต้ไม่เกินวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560 มีชาวนาได้รับประโยชน์ 3.7 ล้านราย ณ วันที่ 2 พฤศจิกายน 2559 จ่ายเงินให้เกษตรกรแล้ว จำนวน 2.8 ล้านราย เป็นเงิน 23,262 ล้านบาท ซึ่งโครงการดังกล่าวช่วยให้ชาวนาลดต้นทุนการผลิตได้ตันละ 2,500 บาท

3. การคุ้มครองความเสียหายจากภัยธรรมชาติ ผ่านโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2559 พื้นที่เป้าหมาย 30 ล้านไร่ โดยรัฐบาลและ ธ.ก.ส. อุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยแทนเกษตรกร ทั้งนี้มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการรวม 1.5 ล้านคน มีพื้นที่เอาประกันภัย 27 ล้านไร่ รวมค่าเบี้ยประกันภัย 2,700 ล้านบาท

4. การรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ผ่านโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ให้กับ สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน-ศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อรวบรวมข้าวเปลือกสำหรับจำหน่าย/แปรรูป เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม วงเงินสินเชื่อรวม 12,500 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี ระยะเวลาโครงการ 1 ตุลาคม 2559 – 30 กันยายน 2560 ซึ่งในขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ

“ เมื่อชาวนาทำการเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ขอให้ทำการลดความชื้น และดูแลคุณภาพข้าวก่อนนำข้าวเปลือกขึ้นยุ้งฉาง แล้วจึงไปติดต่อพนักงาน ธ.ก.ส.ใกล้บ้านท่าน ให้มาดำเนินการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวเปลือก เพื่อพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ โดย ธ.ก.ส.พร้อมโอนเงินเข้าบัญชีภายใน 3 วัน” นายลักษณ์กล่าว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook