ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และ ทรัพย์สินส่วนพระองค์

ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และ ทรัพย์สินส่วนพระองค์

ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และ ทรัพย์สินส่วนพระองค์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

มาทำความรู้จัก ทรัพย์สินส่วนพระองค์ กับ ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ กันครับ 2 ส่วนนี้ไม่ใช่ส่วนเดียวกันมีความหมายที่ต่างกัน อย่างเข้าใจผิดคิดว่าเป็นเรื่องเดียวกัน

 

เดิม ทรัพย์สินและการบริหารจัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้ถือกำเนิดขึ้นมาพร้อมๆ กับการปกครองในระบอบกษัตริย์และมีวิวัฒนาการเคียงคู่กับประวัติศาสตร์ชาติไทยมาโดยตลอด นับตั้งแต่สมัยที่ประเทศไทยยังปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ทรัพย์สินทั้งปวง ในท้องพระคลังและในราชอาณาจักรเป็นของพระมหากษัตริย์ ผู้อยู่ในฐานะ “พระเจ้าแผ่นดิน” แต่เพียงพระองค์เดียว อย่างไรก็ตามพระมหากษัตริย์ได้ทรงพยายามแยกพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ออกจากทรัพย์สินของแผ่นดิน โดยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3)

 

การค้าขายกับต่างประเทศเจริญก้าวหน้าขึ้นอย่างมาก ทรงเก็บหอมรอมริบเงินกำไรที่ได้จากการค้าสำเภาซึ่งเป็นพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ไว้เป็นจำนวนมาก ทรงเก็บใส่ไว้ในถุงผ้าสีแดงจำนวนมากซึ่งเรียกกันว่า “เงินถุงแดง” ไว้ข้างพระแท่นที่บรรทม เรียกว่า “เงินข้างที่” ซึ่งต่อมามีจำนวนมากขึ้นก็เก็บไว้ในห้องข้างๆ ที่บรรทม เงินถุงแดงข้างพระแท่นบรรทม (เงินถุงแดงข้างพระที่) นั้น จึงเรียกว่า “คลังข้างที่” ทรงพระราชทานเป็นทุนสำรองให้แก่แผ่นดินสำหรับใช้ในยามบ้านเมืองอยู่ในภาวะคับขัน

 

ภายหลังประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อปี 2475 “กรมพระคลังข้างที่” จึงถูกลดบทบาทมาเป็น “สำนักงานพระคลังข้างที่” อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรีโดยตรง พร้อมกับได้มีการจัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์อย่างเป็นทางการตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พุทธศักราช 2479 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๘๔ และพุทธศักราช 2491 โดยแบ่งทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่

1)ทรัพย์สินส่วนพระองค์ คือ ทรัพย์สินที่เป็นของพระมหากษัตริย์อยู่แล้วก่อนเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ หรือทรัพย์สินที่รัฐทูลเกล้าฯ ถวาย หรือทรัพย์สินที่ทรงได้มาไม่ว่าในทางใดและเวลาใด นอกจากที่ทรงได้มาในฐานะที่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ ทั้งนี้รวมทั้งดอกผลที่เกิดจากบรรดาทรัพย์สินเช่นว่านั้นด้วย (เป็นทรัพย์สินส่วนบุคคล) โดยอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของสำนักงานจัดการทรัพย์สินส่วนพระองค์ ซึ่งทรัพย์สินส่วนพระองค์อยู่ในข่ายที่ต้องเสียภาษีอากรต่างๆ เช่นเดียวกับบุคคลธรรมดาทั่วไป สามารถจำหน่าย จ่าย โอน หรือซื้อขายแลกเปลี่ยนได้

2) “ทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน คือ ทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์ซึ่งใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ เป็นต้นว่า พระราชวัง โดยอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของสำนักพระราชวัง ซึ่งทรัพย์สินส่วนนี้ได้รับยกเว้นการเสียภาษีอากร และ

 

3) “ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ คือ ทรัพย์สินซึ่งเป็นของสถาบันพระมหากษัตริย์ มิได้เป็นกรรมสิทธิ์ของพระองค์ใดโดยเฉพาะ (มิใช่ของบุคคล) มีไว้สำหรับพระมหากษัตริย์ เพื่อทรงใช้สอยในระหว่างที่ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ ไม่สามารถจำหน่าย จ่าย โอน หรือซื้อขายแลกเปลี่ยนได้ เว้นแต่เพื่อประโยชน์แก่ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และโดยได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาต หรือเพื่อสาธารณประโยชน์อันได้มีบทกฎหมายให้โอน หรือจำหน่ายเท่านั้น

 

พระมหากษัตริย์ทรงใช้ได้เพียงดอกผลที่เกิดขึ้นจากทรัพย์สินในส่วนนี้เท่านั้น อันเป็นที่มาของการก่อตั้ง สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ดูแลรักษา และจัดหาผลประโยชน์อันเกี่ยวกับทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งทรัพย์สินส่วนนี้ได้รับยกเว้นภาษีอากร โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานกรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการอื่นอีกไม่น้อยกว่า 4 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์จะได้ทรงแต่งตั้ง

 

และในจำนวนนี้จะได้ทรงแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ 1 คน ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามที่คณะกรรมการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มอบหมาย รวมถึงมีอำนาจลงนามเป็นสำคัญผูกพันสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โดยกำหนดให้รายได้จากการบริหารจัดการหลังหักค่าใช้จ่ายแล้ว ให้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงใช้สอยตามพระราชอัธยาศัยโดยมากมักจะเป็นกิจการในโครงการตามพระราชดำริ การพระราชทานความช่วยเหลือแก่ราษฎร การซ่อมแซมพระอารามหรือพระราชวัง เป็นหลัก

 

ที่มา : สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ http://www.crownproperty.or.th/

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook