วางแผนการเงินก่อนหยุดทำงาน เพื่อการเกษียณอย่างมั่นคง
คำที่ถูกค้นบ่อย
    Sanook//s.isanook.com/sr/0/images/logo-new-sanook.png60060
    //s.isanook.com/mn/0/ud/85/426127/moneyhub081059.jpgวางแผนการเงินก่อนหยุดทำงาน เพื่อการเกษียณอย่างมั่นคง

    วางแผนการเงินก่อนหยุดทำงาน เพื่อการเกษียณอย่างมั่นคง

    2016-10-08T14:08:00+07:00
    แชร์เรื่องนี้

    คุณเคยคิดออกแบบชีวิตในวัยเกษียณไว้บ้างหรือไม่ ว่าคุณจะเกษียณตอนอายุเท่าไหร่ หลังเกษียณอยากใช้ชีวิตแบบไหน อยากทำอะไร ที่สำคัญคือ “คุณต้องเตรียมเงินไว้ใช้จ่ายเท่าไหร่” หลายคนคงเคยคิดว่าในช่วงเวลานั้นคุณจะต้องมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี แต่ในความเป็นจริงแล้ว หลายคนก็ไม่สามารถใช้ชีวิตแบบที่ฝันเอาไว้ได้ โดยเฉพาะผู้ที่เพิ่มก้าวเข้าสู่วัยทำงาน มีความคิดที่ว่า “นั่นเป็นเรื่องของอนาคต” เรายังมีเวลาในการวางแผนอีกมากมาย แต่เมื่อถึงเวลานั้นจริง ๆ คุณอาจจะเตรียมตัวไม่ทันก็ได้


    การเกษียณอายุ หมายถึง การหยุดทำงานประจำ เท่ากับว่าไม่มีรายได้หลักอีกต่อไป แต่ทุก ๆ วันที่เหลืออยู่คุณยังต้องใช้ชีวิตปกติที่ดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ ยิ่งคุณมีอายุที่ยืนยาวขึ้น คุณก็ยิ่งต้องใช้เงินมากขึ้นเท่านั้น เราขอยกตัวอย่างสักเล็กน้อยเพื่อให้คุณมองเห็นภาพที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น


    ตัวอย่าง : ถ้าคุณเกษียณอายุตอนอายุ 60 ปี และคาดว่าจะมีอายุถึง 80 ปี เท่ากับว่าคุณต้องใช้ชีวิตหลังเกษียณโดยไม่มีรายได้ประมาณ 20 ปี สมมติฐานว่า คุณมีค่าอาหาร 100 บาทต่อวัน (37,000 บาทต่อปี) แสดงว่าคุณต้องเตรียมค่าอาหารหลังเกษียณ (37,000 x 20) เท่ากับ 740,000 บาท ซึ่งเป็นเงินจำนวนที่สูงมาก ที่เราคำนวณเป็นแค่ค่าอาหารอย่างเดียว ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อย่าง ค่าใช้จ่ายส่วนตัว ค่ารักษาพยาบาล ค่าเดินทางท่องเที่ยว และยังไม่ได้คำนึกถึงเรื่องเงินเฟ้อ ที่จะเกิดขึ้นอีก 20 ปีข้างหน้า ที่คุณยังต้องเตรียมเงินไว้ใช้อีกมากมาย หากคุณไม่มีการวางแผนการเงินไว้ล่วงหน้า คุณจะไปเอาจากที่ไหนมา เพื่อให้เพียงพอต่อการดำเนินชีวิตหลังเกษียณของคุณ


    การคำนวณเงินหลังเกษียณ

    ตัวอย่างเช่น A จะเกษียณตอนอายุ 60 ปี และคาดว่าจะมีชีวิตอยู่หลังเกษียณอายุไปอีก 20 ปี ถ้า A มีค่าใช้จ่ายปัจจุบันอยู่ที่ 30,000 บาทต่อเดือน ค่าใช้จ่ายหลังเกษียณของ A จะเท่ากับ (30,000 x 0.7) เป็นจำนวนเงิน 252,000 บาทต่อปี


    จากนั้นคุณต้องนำไปคูณจำนวนปีที่คาดว่าจะมีชีวิตอยู่นั้นคือ (252,000 x 20) เป็นเงิน 5,040,000 บาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่ไม่น้อยเลยทีเดียว


    จากการคำนวณข้างต้นจะเห็นได้ว่า หลังจากเกษียณคุณจะเป็นต้องมีเงินออม หรือเงินลงทุนบางส่วนที่สะสมไว้และสามารถนำมาใช้ตอนเกษียณอายุได้โดยที่คุณคาดไม่ถึง อย่างเช่น การทำประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์หรือแบบบำนาญ เงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินจากกองทุนบำเหน็จ บำนาญข้าราชการ (กบข.) รวมถึงเงินจากกาลงทุนส่วนตัว หรือรายได้จากช่องทางอื่น ๆ ฯลฯ แต่โดยทั่วไปเงินออมเหล่านี้ มักไม่มากพอที่จะทำให้คุณมีชีวิตที่สุขสบาย หรือวิ่งตามความฝันในวัยเกษียณได้


    ดังนั้น คุณควรเริ่มวางแผนการเงินเพื่อการเกษียณตั้งแต่เนิ่น ๆ ดีกว่าเพื่อที่จะได้มีช่วงระยะเวลาพอสมควรให้เงินของคุณงอกเงย เพียงเท่านี้คุณก็ไม่จำเป็นต้องกังวลเกี่ยวกับการใช้ชีวิตหลังเกษียณอีกต่อไป


    เตรียมพร้อมสำหรับวัยเกษียณ
    การเตรียมความพร้อมเป็นสิ่งที่คุณจำเป็นต้องทำอย่างยิ่ง เพราะทุกคนจะต้องพบเจอกับช่วงเวลานี้ ไม่ช้าก็เร็ว หากคุณสามารถเตรียมความพร้อมก่อนการเกษียณได้ คุณก็สามารถใช้ชีวิตหลังการเกษียณได้อย่างมีความสุข และเตรียมความพร้อมทางด้านใดบ้าง ลองมาดูพร้อม ๆ กันเลยค่ะ


    • เตรียมใจ ช่วงเวลาหลังเกษียณอายุ จะเป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างพร้อมกันทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม ตลอดจนฐานะทางการเงิน การเตรียมใจไว้ก่อนล่วงหน้า จะช่วยให้คุณสามารถปรับตัวและใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขมากขึ้น

    • เตรียมกาย สุขภาพร่างกายที่แข็งแรงเป็นสิ่งจำเป็น ที่คุณต้องเตรียมไว้ตั้งแต่ยังหนุ่ม ยังสาว ซึ่งการที่คุณมีสุขภาพร่างกายดี นั่นหมายถึง การใช้เวลาที่เหลืออย่างมีประโยชน์ ลดการเป็นภาระแก่ผู้อื่น มีอารมณ์ และสุขภาพจิตที่ดี

    • เตรียมแผนการใช้เวลา เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตในช่วงที่เหลือของชีวิตได้อย่างมีเป้าหมาย รู้ว่าช่วงเวลาใดจะทำอะไร อย่างเช่น เวลาทำงาน เวลาการตรวจสุขภาพ เวลาท่องเที่ยวพักผ่อน เวลาออกกำลังกาย ฯลฯ

    • เตรียมครอบครัว ความผูกพันในครอบครัว ระหว่างสามี ภรรยา หรือพ่อแม่ลูก เป็นเครื่องบ่งชี้ในระดับหนึ่งว่า เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุจะมีความเอื้ออาทรระหว่างกัน ช่วยเหลือดูแลซึ่งกันและกัน

    • เตรียมเพื่อน รักษาสัมพันธภาพกับเพื่อนไว้ให้มั่นคง ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนใหม่ เพื่อนเก่า เพื่อนบ้าน หรือ เพื่อนร่วมงาน เพราะเพื่อนจะช่วยให้เกิดกำลังใจและมีเป้าหมายในการดำเนินชีวิตมากขึ้น

    • เตรียมแผนการใช้เงิน เพื่อให้คุณสามารถบริหารจัดการเงินก้อนสุดท้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ


    ขั้นตอนเพื่อการเกษียณอย่างมั่นคง

    1. กำหนดอายุที่ต้องการจะเกษียณ อย่างเช่น 55 ปี, 60 ปี หรือจะ early retire ที่อายุ 45 ปี เพื่อจะได้รู้ว่าคุณมีเวลาเตรียมตัว เตรียมการ เตรียมเงิน ว่าเหลือเวลาอีกนานเท่าไหร่

    2. ประมาณช่วงระยะเวลาที่คุณจะใช้ชีวิตหลักเกษียณ อย่างเช่น 20 ปี, 25 ปี, หรือ30 ปีเพื่อให้คุณสามารถคำนวณเงินหลังเกษียณว่ามีความเพียงพอกับเวลาที่เหลือในการดำรงชีวิตของคุณหรือไม่ โดยประเมินจากคนในครอบครัวว่าส่วนใหญ่มีชีวิตถึงอายุประมาณเท่าไหร่ ประกอบกับความแข็งแรงสมบูรณ์ของร่างกาย และพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคุณว่าเสี่ยงมาก เสี่ยงน้อยแค่ไหน

    3. ประมาณการค่าใช้จ่ายหลังเกษียณ ประเมินจาก Lifestyle ที่ออกแบบไว้ อย่างเช่น การท่องเที่ยว พักผ่อน ฯลฯ แต่คุณอย่างลืมคำนึงถึง “เงินเฟ้อ” ด้วย โดยประมาณเป็นรายเดือน แล้วคำนวณเป็นปี จากนั้นก็คำนวณตามช่วงอายุหลังเกษียณ

    4. ประมาณการรายได้หลังเกษียณ อย่างเช่น เงินบำเหน็จ บำนาญ เงินรับจากกองทุนประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ รายได้จากการลงทุน การประกันชีวิต ฯลฯ

    5. วางแผนการออมในปัจจุบัน จากประมาณการค่าใช้จ่าย และรายได้หลังเกษียณ คุณควรจะเริ่มรู้จักเก็บออมเพิ่มอีกเท่าไร และจะสามารถวางแผนการออม การลงทุนได้อย่างเหมาะสมได้

    ดังนั้น หลังเกษียณหากคุณต้องการมีชีวิตดี มีความสุข การวางแผนก่อนเกษียณจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่คุณต้องวางแผนตั้งแรกเริ่มทำงานครั้งแรกเพื่อให้มีเงินเพียงพอต่อการใช้จ่ายหลังเกษียณ เพื่อชีวิตครอบครัวที่มีความสุขตลอดจนเวลาที่เหลืออยู่ของคุณเลยทีเดียว

    สนับสนุนเนื้อหาโดย MoneyHub