7 ข้ออ้างยอดฮิต “ไม่ยอมทำบัญชีรายรับรายจ่าย” ที่ควรเลิก!

7 ข้ออ้างยอดฮิต “ไม่ยอมทำบัญชีรายรับรายจ่าย” ที่ควรเลิก!

7 ข้ออ้างยอดฮิต “ไม่ยอมทำบัญชีรายรับรายจ่าย” ที่ควรเลิก!
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สวัสดีครับเพื่อนๆ มาพบกับเรื่องราวดีๆ ที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับเรื่องเงินๆ ทองๆ ของเพื่อนๆ กันอีกแล้วนะครับ คราวนี้มาดูสิ่งที่เราเรียกว่า “บัญชีรายรับรายจ่าย” กันนะครับ เพื่อนๆ หลายคนอาจจะรู้จักกันอยู่แล้วนะครับ ว่ามันคือ บัญชีที่เราทำขึ้นเพื่อติดตาม รายรับ รายจ่ายของเราเอง เพื่อที่จะได้รู้ว่าเรามีรายได้ทางไหนบ้าง จ่ายไปกับเรื่องอะไรบ้าง จำเป็นหรือไม่ และเราควรวางแผน แบ่งสันปันส่วนกับรายได้ของเราอย่างไร เพื่อความมั่นคงทางการเงิน ซึ่งวันนี้ สิ่งที่เราเอามาฝากไม่ได้มีแค่นี้ครับ แต่เป็นสิ่งที่อ่านแล้วหลายๆ คนอาจจะโดนใจเลยก็ได้ เพราะมันคือ 7 ข้ออ้างยอดฮิตที่ทำไมหลายๆ คน แม้จะรู้ว่าสิ่งนี้ดี ก็ไม่ยอมทำเสียที มาดูกันครับว่ามีข้ออ้างอะไรบ้าง!

1. การทำบัญชีเป็นเรื่องน่ากลัว

ข้อแรกเลยครับ หลายๆ คนมักบอกว่าการทำบัญชีเป็นเรื่องที่น่ากลัว เพราะไม่อยากรู้เห็นว่าการเงินของคุณเองแย่แค่ไหน บางคนแทบไม่มีเงินเก็บเลย เงินรายได้เข้ามาก็ใช้จ่ายเสียหมด และกลัวว่าหากต้องทำบัญชีจริงๆ จะรับไม่ได้ครับ แต่จริงๆ แล้วมันไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัวเลยครับ ขอใช้คำว่าเป็นเรื่องน่าประหลาดใจ หรือตกใจมากกว่า ที่บางครั้งเราพอลองทำบัญชีรายรับรายจ่ายครั้งแรกแล้ว ก็รู้ว่า เราใช้จ่ายไปกับบางเรื่องเยอะเกินไปมาก และหากลดทอนไปได้ อาจจะมีเงินเก็บเพิ่มขึ้นเยอะเลยล่ะครับ

2. ไม่ชอบหรือไม่เก่งเรื่องตัวเลข

บางคนบอกว่า ไม่ชอบเรื่องบวกเลขใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่ชอบวิชาเลขมาตั้งแต่เด็กๆ แต่จะบอกว่า การทำบัญชีรายรับรายจ่าย ไม่ได้ต้องการทักษะเลขขั้นสูงใดๆ เลยครับ แค่เลขระดับประถมที่พอบวกลบเลขได้ ก็สามารถจดบันทึกรายรับรายจ่ายได้แล้วครับ

3. พอทำบัญชีแล้ว จะไม่กล้าซื้อของที่อยากได้และไม่มีความสุข

ในตอนเด็กๆ เราทำอะไรก็ตาม ก็ไม่ต้องคำนึงถึงผลอะไรมากนัก เพราะสุดท้ายก็มีพ่อแม่ของเรามีจัดการปัญหาอะไรก็ตามที่เราก่อไว้ให้ ไม่ว่าเราจะอยากได้อะไร ก็คงไม่มีปัญหาอะไรมากนัก แต่เมื่อเราเติบโตเป็น “ผู้ใหญ่” ทุกอย่างที่เราทำ ทุกปัญหาที่เราสร้าง เราต้องแก้เอง แม้กระทั่งเรื่องเงินๆ ทองๆ หากคุณใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย ซื้อของทุกอย่างที่อยากได้ เมื่อเวลาผ่านไป และคุณไม่มีเงินทองเก็บ จนถึงคราวที่ต้องใช้จ่ายเงินก้อนใหญ่ขึ้นมา จะมีเพียงแค่ตัวคุณเองนะครับ ที่ต้องรับผลจากสิ่งนั้น เพราะฉะนั้น หากทำบัญชีแล้ว และสถานะการเงินของคุณไม่เหมาะกับการซื้อของที่อยากได้ และไม่จำเป็นอีกต่อไป มันอาจจะเป็นสิ่งเตือนใจที่ดีสำหรับคุณก็ได้ครับ

4. ไม่มีเวลามานั่งทำบัญชีเลย ยุ่งมาก

แน่นอนครับ การทำบัญชีรายรับรายจ่าย และสรุปการเงินครั้งแรก จะค่อนข้างใช้เวลาราว 2 ชั่วโมง เพราะเพื่อนๆ ต้องมานั่งดูบัญชีธนาคารแต่ละอัน ทรัพย์สิน หนี้สิน บิลค่าใช้จ่ายต่างๆ ค่ากิน ค่าช้อปในแต่ละเดือน และสรุปออกมาใส่ตาราง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเพื่อนๆ ไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว แต่มีคู่ครองแล้ว ก็จะใช้เวลามากขึ้นเพราะต้องมีการพูดคุยเรื่องการเงินกันด้วย แต่กระนั้น นี่คือเวลาที่ต้องใช้ของการทำในเดือนแรกเท่านั้น เดือนที่สองจะใช้เวลาน้อยลงกว่าครึ่งครับ และต่อๆ ไปอาจจะใช้เวลาอัพเดทเพียงแค่ 10-15 นาทีเท่านั้น เพราะฉะนั้น เรื่องเวลาไม่ควรเป็นข้ออ้างเลยทีเดียว

5. ทุกวันนี้ก็เหมือนทำบัญชีอยู่แล้ว ทุกอย่างอยู่ในหัวหมด

ลองคิดดูนะครับว่า รายจ่ายเป็นสิบๆ อย่างคุณจะจำหมดได้อย่างไร ทั้ง ค่าผ่อนบ้าน ค่าผ่อนรถ ค่าโทรศัพท์ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอินเทอร์เน็ต ค่ารถไฟฟ้า ค่าน้ำมัน ค่าบัตรเครดิต ค่าฟิตเนสรายเดือน ค่าเคเบิลทีวี ยอดคงเหลือในบัญชีต่างๆ ทั้ง บัญชีเงินเก็บ บัญชีใช้จ่าย บัญชีกองทุน บัญชีเงินฉุกเฉิน สิ่งเหล่านี้ เพื่อนๆ สามารถจดจำและบันทึกได้จากการจดจำจริงหรือ? ถ้าไม่ จดลงใส่สมุด หรือทุกวันนี้มีแอพลิเคชั่นในมือถือมากมายที่ใช้งานง่ายแบบสุดๆ เลยล่ะครับ

6. ไม่มีเงินเหลือจะทำบัญชี จะทำไปทำไม

สาเหตุที่คุณไม่มีเงินเหลือที่จะต้องทำบัญชี ก็เพราะว่าคุณไม่ทำบัญชีตั้งแต่ต้นนั่นแหละครับ จำไว้เสมอนะครับว่า หากมีเงินเข้า ไม่ว่าสุดท้าย เงินจะออกไปแค่ไหน ก็สามารถทำบัญชีได้ และการทำบัญชีนี่แหละครับ ที่จะช่วยติดตามการใช้จ่ายให้เพื่อนๆ ว่าการใช้จ่ายแบบไหนสามารถลดทอนได้เพราะไม่จำเป็น และสุดท้ายเพื่อนๆ จะมีเงินเก็บเหลือเองครับ

7. ทำบัญชีไม่ได้ เพราะไม่มีรายได้ประจำ

ข้อนี้ถือเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ครับ ว่าหากเพื่อนๆ เป็นฟรีแลนซ์ หรือทำอาชีพค้าขาย ซึ่งรายได้แต่ละเดือนไม่เท่ากัน มากน้อยลดหลั่นกันไปตามปัจจัยต่างๆ ภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ จึงค่อนข้างยากที่จะทำบัญชี แต่พี่หมีก็ยังอยากให้เพื่อนๆ ทำบัญชีอยู่ดีครับ โดยสิ่งที่เพื่อนๆ พอทำได้คือการทำงบประมาณง่ายๆ โดยดูจากรายได้ต่อเดือนเฉลี่ย 3-4 เดือนที่ผ่านมา เพื่อนๆ ก็นำรายได้ต่อเดือนเฉลี่ยมาวางแผนรายรับรายจ่ายได้ครับ อย่างน้อย ถ้ามีเดือนไหนที่เพื่อนๆ รู้ว่า รายได้จะน้อยกว่ารายได้เฉลี่ยที่เคยได้ เพื่อนๆ จะได้ใช้โอกาสนี้ลดทอนรายจ่ายที่ไม่จำเป็นต่อเดือนนั้นลง เดือนนั้นๆ จะได้ไม่ตึงเกินไปนั่นเองครับ

หวังว่า 7 ข้อนี้จะเป็นสิ่งเตือนใจให้เพื่อนๆ หันมาเริ่มทำบัญชีรายรับรายจ่ายเพื่อความมั่นคงทางการเงินของเพื่อนๆ เองไม่มากก็น้อยนะครับ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook