อยากรู้มั้ย แหล่งรายได้เพื่อการเกษียณอายุ มีอะไรบ้าง? (1)

อยากรู้มั้ย แหล่งรายได้เพื่อการเกษียณอายุ มีอะไรบ้าง? (1)

อยากรู้มั้ย แหล่งรายได้เพื่อการเกษียณอายุ มีอะไรบ้าง? (1)
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คุณรู้หรือไม่ว่าหลังเกษียณเราจะมีรายได้จากแหล่งใดบ้าง


กองทุนประกันสังคม

กองทุนประกันสังคมเป็นหนึ่งในการออมแบบภาคบังคับค่ะ เพราะรัฐบาลบังคับให้นายจ้างและลูกจ้างต้องส่งเงินเข้าประกันสังคม ซึ่งส่วนหนึ่งของเงินที่เราส่งเข้าประกันสังคมจะกลายมาเป็นแหล่งเงินเพื่อการเกษียณอายุของคุณได้ค่ะ ถ้าหากเราจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนมา 15 ปี พออายุ 55 ปี ก็จะได้รับเงินบำนาญชราภาพ ประมาณ 3,000 บาทต่อเดือน คิดจากเพดานเงินเดือนสูงสุด 15,000 บาทตามข้อกำหนดของกองทุน และถ้าจ่ายสมทบเกินกว่า 15 ปี ก็จะได้โบนัสอีกปีละ 1.5%

สมมติเราจ่ายสมทบมา 30 ปีก่อนเกษียณอายุ จะได้โบนัส 15 ปีหรืออีก 3,375 บาท รวมเป็น 6,375 บาทต่อเดือน ซึ่งยังไม่ได้ปรับด้วยเงินเฟ้อ หากต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติมของประกันสังคมสามารถเข้าไปที่ http://www.sso.go.th ค่ะ


กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ

กรณีเป็นข้าราชการที่เป็นสมาชิกกองทุน จะได้รับเงินบำนาญ = (เงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย x อายุราชการ)/ 50 แต่ต้องไม่เกิน 70% ของเงินเดือนเฉลี่ย หรืออาจเป็นเงินบำเหน็จ = เงินเดือนเดือนสุดท้าย x อายุราชการ ตามเงื่อนไขของทางราชการค่ะ หากต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติมของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการสามารถเข้าไปที่https://www.gpf.or.th ค่ะ


กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นหนึ่งในการออมภาคสมัครใจที่ลูกจ้างและนายจ้างสมัครใจร่วมกันสมทบเข้ากองทุน ถ้าคุณเริ่มทำงานและสะสมเงินเข้ากองทุนนี้ ตั้งแต่อายุ 25 ปี โดยสะสมที่ 3% ของเงินเดือน และสมมติว่าเงินเดือนอยู่ที่เดือนละ 20,000 บาท ถ้าอัตราการเพิ่มของเงินเดือนเพิ่มขึ้นปีละ 5% นายจ้างสมทบให้ 3% และกองทุนได้อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 4% ต่อปี เมื่อคุณอายุ 60 ปี คุณจะมีเงินประมาณ 1.2 ล้านบาทจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพค่ะ

นี่เป็นตัวอย่างคร่าวๆ ของการคำนวณเม็ดเงินที่ได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งในแต่ละบริษัทหรือนายจ้างที่คุณทำงานอยู่ด้วยนั้นก็อาจจะมีกฎเกณฑ์ของเงินสะสม (ซึ่งเป็นส่วนของพนักงาน) และเงินสมทบ (ซึ่งเป็นส่วนของนายจ้าง) ที่แตกต่างกันออกไปในรายละเอียด รวมถึงนโยบายที่จะนำเงินที่สะสมและสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้น ไปลงทุนให้ออกดอกออกผล งอกเงยได้อย่างไร ซึ่งคุณต้องกลับไปศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบริษัทของคุณด้วยนะคะ

นอกจากนี้หากอยากศึกษาความเป็นมา ความเป็นไปของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในประเทศไทยเพิ่มเติม สามารถเข้าไปได้ที่ http://www.thaipvd.com ค่ะ


ยังไม่หมดเพียงเท่านี้นะคะ สำหรับแหล่งรายได้เพื่อการเกษียณอายุอื่นๆ ต้องติดตามต่อตอนหน้าค่ะ สามารถแลกเปลี่ยนประสบการณ์การวางแผนการเงินได้ที่ nipapuntalk@hotmail.com ค่ะ

ผู้เขียน โค้ชนิ นิภาพันธ์ พูนเสถียรทรัพย์ CFP® เจ้าของผลงาน pocket book ‘เปลี่ยนชีวิตสู่ความมั่งคั่งด้วยการวางแผนการเงิน’ ‘มีเงินล้านด้วยการวางแผนการเงิน’ ‘อยากรวยต้องรู้จักวางแผนการเงิน’ และ ‘รวยทะลุเป้า’

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook