ผู้ใช้บริการ “ธนาคารออนไลน์” มี 2 บัญชีดีกว่ามั๊ย

ผู้ใช้บริการ “ธนาคารออนไลน์” มี 2 บัญชีดีกว่ามั๊ย

ผู้ใช้บริการ “ธนาคารออนไลน์” มี 2 บัญชีดีกว่ามั๊ย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อภินิหารเงินออม

จากข่าวที่คนร้ายไปขอซิมใหม่จากค่ายมือถือแห่งหนึ่งแล้วสวมรอยใช้บริการธนาคารออนไลน์ เพื่อขโมยเงินของผู้เสียหาย (รายละเอียดข่าวทั้งหมดอ่านได้ที่ลิงค์ท้ายบทความ) เรื่องนี้น่าจะสั่นคลอนความเชื่อมั่นทั้งฝ่ายธนาคาร ค่ายมือถือ รวมทั้งส่งผลต่ออนาคตของระบบ e-payment ที่ภาครัฐกำลังสนับสนุนอยู่ไม่น้อย #ผู้ใช้บริการหวั่นไหวง่าย #เราก็เช่นกัน

ส่วนตัวก็แอบกังวลเพราะตัวเองก็ทำธุรกรรมออนไลน์เกือบทั้งหมด ตั้งแต่โอนเงิน ถอนเงิน ซื้อกองทุนรวมและซื้อหุ้น พอเกิดเรื่องนี้ปุ๊บก็เปิดทุกบัญชีของเราดูว่าทุกอย่างยังอยู่ครบไหม โชคดีที่ยังไม่เป็นอะไร #โล่งอก เพราะโลกออนไลน์อะไรๆก็เกิดขึ้นได้


เราจะทำอย่างไรต่อไป

ในมุมของผู้ใช้บริการอาจจะต้องปรับตัว เพื่อจะได้อยู่กับระบบที่ยังมีช่องโหว่แบบนี้ให้ได้ ถ้านั่งรอให้ทุกขั้นตอนของผู้ให้บริการสมบูรณ์แบบ 100% อาจจะต้องใช้เวลานานแสนนานนนนนน แต่ถ้าเปลี่ยนมาปรับวิธีจัดการเงินของตัวเองน่าจะทำได้เร็วกว่า แนวคิดการใช้บริการธนาคารออนไลน์ในบทความนี้มาจากประสบการณ์ส่วนตัว ถ้าเห็นว่าเป็นประโยชน์ก็ลองนำไปปรับใช้ได้นะจ๊ะ


ผู้ใช้บริการ “ธนาคารออนไลน์” ควรแยก 2 บัญชี

 

 

บัญชีที่ 1 ออมทรัพย์

บัญชีออมทรัพย์นี้เปิดใช้บริการธนาคารออนไลน์และทำเป็นบัตรเดบิต เราจะใช้เป็นจุดศูนย์กลางในการทำธุรกรรมการเงินทุกอย่าง มีการยืนยันคำสั่งแบบ One Time Password (OTP) ผ่านทาง SMS ตัวอย่างการใช้บริการธนาคารออนไลน์

ใช้กดเงินสดเพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
จ่ายค่าสินค้าหรือบริการ ผ่านหน้าร้านค้าและระบบออนไลน์
ซื้อกองทุนรวมหรือซื้อหุ้นแบบออนไลน์
ใช้ในยามฉุกเฉิน สมมติว่าลืมหยิบกระเป๋าสตางค์มาจากบ้าน เราก็โอนเงินแบบออนไลน์เข้า ATM ของเพื่อน แล้วกดเงินสดออกมาใช้จ่ายได้

แม้ว่าธนาคารออนไลน์จะทำให้เราสะดวกสบายทุกการจับจ่ายใช้สอย อยากซื้ออะไรก็ตวัดที่หน้าจอมือถือ สไลด์จิ้มเลือกของที่ถูกใจ จ่ายเงิน แล้วอีกไม่กี่วันก็ได้ของมาส่งที่ประตูหน้าบ้าน ทำให้เราไม่ต้องก้าวขาออกจากบ้านฝ่าดงรถติดเสียเวลาไปซื้อเอง แต่ความง๊าย ง่ายนี่เอง มันก็ทำให้ชีวิตเรายุ่งวุ่นวายได้เช่นกัน

ลองคิดเล่นๆว่าถ้าเราเก็บเงินจำนวนหลายแสนบาทไว้ในบัญชีออมทรัพย์ที่เปิดใช้บริการธนาคารออนไลน์ หากวันหนึ่งเกิดความผิดปกติ มีคนร้ายขโมยถอนเงินเหมือนในข่าว มันก็ทำให้เงินที่เราเก็บไว้หายวับไปในพริบตา มีเงินแสนก็หมดทั้งแสน มันสุดแสนจะเจ็บใจ ดังนั้น เราควรเก็บเงินไว้ในบัญชีธนาคารออนไลน์เฉพาะเท่าที่ใช้ในแต่ละเดือนเท่านั้น จะได้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด เช่น

มนุษย์เงินเดือน สมมติตั้งงบค่าใช้จ่ายแต่ละเดือนไว้ที่ 15,000 บาท (เงินใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน 10,000 บาท เผื่อใช้ฉุกเฉิน 5,000 บาท) แบ่งเก็บ 2 ที่ คือ บัญชีออมทรัพย์ 10,000 บาท ส่วนอีก 5,000 บาทเก็บไว้ที่บัญชีที่ 2 กองทุนรวมตลาดเงิน

เจ้าของกิจการ รู้ว่าแต่ละเดือนจะต้องใช้เงินหมุนเวียนในร้านเท่าไหร่ ก็เก็บเงินจำนวนนั้นไว้ในบัญชีออมทรัพย์ แล้วเก็บเงินเผื่อช่วงฉุกเฉินไว้ในกองทุนรวมตลาดเงิน

บัญชีที่ 2 กองทุนรวมตลาดเงิน

“แก้มลิง” เป็นที่กักเก็บน้ำฝนไว้ชั่วคราวเพื่อรอการระบายออก ป้องกันน้ำท่วมและเก็บน้ำไว้ในช่วงหน้าแล้งได้ ซึ่งกองทุนรวมตลาดเงินนั้นเหมือน “แก้มลิงทางการเงิน” ที่เป็นจุดพักเงินชั่วคราวเพื่อรอไปใช้ในเรื่องอื่นๆ แล้วเก็บไว้ใช้ในช่วงฉุกเฉินได้อีกด้วย ถ้ามีโจรมาขโมยเงินในบัญชีออมทรัพย์ของเรา ก็ยังเหลือเงินในกองทุนรวมตลาดเงินไว้ใช้ในช่วงตามจับโจรมาลงโทษ

กองทุนรวมตลาดเงินนั้นมีความเสี่ยงต่ำสุด มีความคล่องตัวใกล้เคียงเงินสด เพราะขายหน่วยลงทุนวันนี้ เราได้รับเงินในวันต่อไป ซึ่งการสั่งซื้อหรือขายกองทุนรวมในระบบออนไลน์จะมีการแจ้งไปที่อีเมล์ของเราทุกครั้ง เหมาะมากๆที่จะใช้แหล่งเก็บเงินออมระยะสั้น

วิธีจัดการ 2 บัญชีออนไลน์

เริ่มจากเราตั้งงบไว้ว่าแต่ละเดือนจะใช้จ่ายเดือนละเท่าไหร่ สมมติใช้ทั้งหมด 15,000 บาท แบ่งเป็นใช้ในชีวิตประจำวัน 10,000 บาทเอาไว้ในบัญชีออมทรัพย์ และเงินฉุกเฉิน 5,000 บาทไว้ที่กองทุนรวมตลาดเงิน โดยส่งคำสั่งซื้อขายแบบออนไลน์ ระบบจะส่งยืนยันคำสั่งซื้อไปทางอีเมล์ เราสามารถตรวจสอบความถูกต้องได้ทันที

ถ้ามีเหตุจำเป็นต้องใช้เงิน 5,000 บาท จึงขายกองทุนรวมออกมา จะมีการยืนยันคำสั่งขายไปทางอีเมล์ให้เราตรวจสอบ เมื่อเงินสดเข้าบัญชีออมทรัพย์ในวันรุ่งขึ้น เราก็กดออกมาใช้ได้ทันที

เราไม่รู้ว่าต่อไปโจรมันจะหาช่องโหว่เพื่อขโมยเงินแบบไหนอีกบ้าง แน่นอนว่าหน่วยงานที่ให้บริการ ทั้งธนาคารและค่ายมือถือก็จะต้องออกมาแสดงความรับผิดชอบ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับระบบความปลอดภัยของตนเองต่อไป ส่วนตัวเราเป็นผู้บริโภคไม่ควรนั่งรอเฉยๆ เพื่อรอวันที่จะตกเป็นเหยื่ออย่างเดียวก็ไม่ได้นะจ๊ะ เราควรหาวิธีการปกป้องตัวเองควบคู่กับไปด้วย

ข้อมูลเพิ่มเติม

รายละเอียดของข่าวการขโมยเงินออนไลน์ คลิกที่นี่
การรับผิดชอบของธนาคาร คลิกที่นี่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook