นักลงทุนฉบับวัยเกษียณ จัดสรรเงินลงทุนเพื่อสร้างรายได้แบบนี้สิ !
คำถามที่ว่า จะใช้ชีวิตเกษียณอย่างไรดีให้เป็นสุข และไม่ทุกข์จากเรื่องเงิน เป็นคำถามที่ต้องการคำตอบโดยการทำความเข้าใจเรื่องเงินให้ถ่องแท้ และการจัดการเงินที่มีอยู่ในจำนวนจำกัดให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นสูงสุดในช่วงเวลาเกษียณ
หลังจากที่ได้รับเงินเกษียณ ไม่ว่าจะเป็น บำเหน็จ/บำนาญ เงินกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนประกันสังคม ตลอดจนสวัสดิการที่เบิกได้ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ควรจัดสรรเงินดังกล่าวออกเป็นหลายส่วนด้วยกัน เช่น เงินออม เงินลงทุน และเงินที่กันไว้ใช้จ่ายยามปกติ เป็นต้น และควรนำเอาส่วนของเงินออม และเงินสำหรับลงทุนมารวมกันเป็นก้อนใหญ่แล้วแบ่งเป็น 3 ก้อน เพื่อนำไปลงทุนโดยสามารถแจกแจงรายละเอียดได้ดังต่อไปนี้้
1. เงินก้อนแรก คือ 1 ใน 3 ของเงินก้อนใหญ่นั้น ควรนำไปลงทุนในรูปแบบเงินออมเพื่อให้เกิดรายได้จากอัตราดอกเบี้ย ในรูปแบบของ "เงินฝาก" ซึ่งในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ธนาคารพาณิชย์ หรือสถาบันการเงินต่างแข่งกันเสนอให้ผู้บริโภคที่สูงวัย และอยู่ในวัยเกษียณ โดยมักจะมีแนวความคิดว่า ออมเงินเพื่อการมีชีวิตเกษียณที่เป็นสุข
โดยในกรณีนี้สถาบันการเงินจะให้ค่าตอบแทนที่ค่อนข้างสูงกว่าผลิตภัณฑ์การเงินแบบอื่น แต่จะมีข้อจำกัดไว้เพื่อผู้สูงอายุ/วัยเกษียณ เท่านั้นจึงเป็นการดีถ้าได้มีการลงทุนในเงินออมประเภทนี้ เพราะมีความปลอดภัยสูง ความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ เนื่องจากรัฐบาลเป็นผู้ค้ำประกันเงินต้นรวมทั้งดอกเบี้ยเต็มจำนวน จึงไม่ต้องกังวลใจใด ๆ ว่า เงินจะสูญหาย หรือไม่ได้รับดอกเบี้ย เมื่อเกิดวิกฤตทางการเงิน เพียงแต่ควรเน้นการฝากเงินกับธนาคารพาณิชย์ หรือสถาบันการเงินที่น่าเชื่อถือ และรัฐบาลรับรองเท่านั้น
2. เงินส่วนที่สอง ควรนำไปซื้อหน่วยลงทุนใน "กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ " หรือ ลงทุนใน " กองทุนรวมหุ้นระยะยาว” ซึ่งเป็นกองทุนแบบพิเศษที่มอบสิทธิ์พิเศษแก่ผู้ลงทุนโดยการนำเงินลงทุนในแต่ละปีมาใช้เป็นส่วนลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งการลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ และกองทุนรวมหุ้นระยะยาว LTF มีข้อดีมากกว่าการลงทุนเปิดพอร์ตเพื่อซื้อขายในตลาดหุ้นโดยตรง คือ
เป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำกว่า แต่ได้ผลตอบแทนที่สูง และนักลงทุนสามารถนำเงินที่ลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว LTF ไปหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 15% ของรายได้ในแต่ละปี แต่ต้องไม่เกินจำนวน 500,000 บาท โดยเฉพาะผู้ลงทุนมีฐานภาษีที่ค่อนข้างสูงก็สามารถประหยัดไปได้มาก เพราะลดหย่อนภาษีได้มากตามไปด้วยเช่นกัน
3. เงินส่วนที่สาม ควรนำไปลงทุนในทองคำ และลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่มีราคาไม่สูงมากนัก โดยสามารถศึกษาหาข้อมูลได้จากการขาดทอดตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่ธนาคาร หรือ สถาบันการเงินเป็นเจ้าของ เพราะจะได้ราคาที่ค่อนข้างต่ำกว่าราคาตลาด และหากขายได้ก็จะได้กำไรจากส่วนต่างที่เกิดขึ้น และราคาที่ดินที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี
เกร็ดการต่อยอดเงินออมด้วยเงินออม การบริหารรายได้เกิดจากเงินออมนั้นเป็นสิ่งที่ควรให้ความสนใจเป็นพิเศษ เนื่องจาก เทคนิคนี้จะใช้ได้ดีกับผู้สูงวัย/คนวัยเกษียณที่มีเวลาค่อนข้างมาก สะดวกในการติดต่อธุรกรรมทางการเงินกับธนาคาร ตลอดจนติดตามข่าวสารและสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่อาจมีผลกระทบต่อผลตอบแทนที่ได้จากเงินออม รวมทั้งแนวโน้มอัตราดอกเบี้ย เงินเฟ้อ การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และนวัตกรรมทางการเงิน ตลอดจนภัยทางการเงินในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อปกป้องเงินทองของตนเองให้พ้นจากมิจฉาชีพด้วยอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งเทคนิคมีดังต่อไปนี้
1. ควรคงเงินฝากในบัญชีเงินฝากแบบออมทรัพย์ไว้ประมาณ 2 - 6 เท่าของค่าใช้จ่ายจริงในแต่ละเดือน เพื่อให้เกิดสภาพคล่องในการจับจ่ายในชีวิตประจำวัน และเผื่อไว้ในกรณีฉุกเฉิน
2. นำเงินบางส่วนแบ่งไปฝากในบัญชีฝากประจำในระยะต่าง ๆ เช่น 3 เดือน 6 เดือน 8 เดือน หรือ 1 ปี โดยควรเลือกให้เงินฝากแต่ละบัญชีมีระยะเวลาครบกำหนดเหลื่อมกัน เพื่อบริหารสภาพคล่อง สามารถนำเงินก้อนจากบัญชีหนึ่งไปฝากยังอีกบัญชีโดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบใด ๆ และเพิ่มผลตอบแทนให้มากกว่าเงินฝากออมทรัพย์แบบธรรมดา
3. ควรนำเงินในส่วนที่ยังไม่ได้ใช้ในระยะสั้นไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล เพื่อรับผลตอบแทนที่แน่นอนในระยะปานกลางถึงระยะยาว
เกร็ดการหารายได้เพิ่มเติม หาอาชีพเสริมทำเพื่อยืดระยะเวลาการมีรายได้ออกไปให้ต่อเนื่อง เช่น ขายสินค้าออนไลน์ สอนหนังสือ ขายกรมธรรม์ประกันชีวิต หรือ สร้างอาชีพจากงานอดิเรกที่ชื่นชอบ อาทิ ทำตุ๊กตา/กระเป๋าจากผ่าสักหลาด การเย็บผ้า ตัดเสื้อ ปั้นตุ๊กตาดินญี่ปุ่น รับจัดดอกไม้ และอีกมากมาย เพื่อให้เกิดรายได้เข้ามาจุนเจือรายจ่าย โดยไม่พึ่งพาเงินออม
เกร็ดการลงทุน การลงทุนในความรู้ เป็นการลงทุนที่ดีที่สุด และควรทำก่อนเป็นอันดับแรก โดยจำเป็นอย่างยิ่งต้องตัดสินใจด้วยความรอบคอบ เพราะเงินที่ใช้ลงทุนนั้นเป็นเงินออมที่มีอยู่อย่างจำกัด ดังนั้นหากเกิดความผิดพลาดใด ๆ ขึ้นมา สถานะทางการเงินของคุณจะง่อนแง่นทันที หากไม่มีเงินออม หรือ เงินจากรายได้เสริมเข้ามา
เพราะการลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน ประโยคนี้ยังคงใช้ได้เสมอ และหลังจากที่ตกลงใจได้ว่าจะเริ่มลงทุนในสิ่งนี้ คุณควรจะทำในสิ่งต่อไปนี้ คือ ควรรู้ว่า สิ่งลงทุนนั้นมีความเสี่ยงอะไรบ้าง รู้ว่าปัจจัยอะไรทำให้การลงทุนนั้นประสบความสำเร็จ และอย่าลงทุนที่มุ่งหวังเพียงกำไร การสูญเสียจะเกิดขึ้นทันทีเพราะความประมาท
ซึ่งการลงทุนที่มีความเสี่ยงสามารถเรียงลำดับจากมากไปหาน้อยดังนี้
ตราสารอนุพันธ์ > อสังหาริมทรัพย์ที่มีหนี้สูง > โบราณวัตถุ/รูปวาด > ทองคำ/อัญมณี > หุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานรองรับ > หุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดีมาก/หน่วยลงทุน และพันธบัตรรัฐบาล/เงินฝาก/กองทุนระยะสั้น
Advertorial
สนับสนุนเนื้อหาโดย MoneyHub