แหวกกระแส มนุษย์เงินเดือน มาเป็นเกษตรกร !

แหวกกระแส มนุษย์เงินเดือน มาเป็นเกษตรกร !

แหวกกระแส มนุษย์เงินเดือน มาเป็นเกษตรกร !
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หากจะถามว่าทุกวันนี้คุณพอใจไหมกับการเป็นมนุษย์เงินเดือน หลายคนอาจชูมือขึ้นสนับสนุนเพราะชีวิตนี้คุ้นชินกับการทำงานที่มีความปลอดภัยแบบนี้ และถ้าถามว่าถ้าให้ลาออกจากงานไปเป็น ชาวเกษตรจะไปไหม บางคนอาจบอกบ้าหรือเปล่า ใครจะไปทำ ใช่ค่ะแต่รู้ไหมมีคนบ้ามากมายที่เรียนจบปริญญาตรีมาแล้วกลับไปทำเกษตรแบบนี้ แต่ขอเวลาสักครู่อ่านเรื่องราวของแต่ละคน บางครั้งคุณอาจจะเปลี่ยนใจคิดเหมือนเขาบ้างก็ได้

คุณอภิชาต ศุภจรรยารักษ์ หรือ คุณเน และ คุณศิริพรรณ คำแน่น หรือ คุณฝน สามี ภรรยา เจ้าของไร่ บ้านสวนศุภรักษ์


คุณเนและคุณฝน ไม่ใช่ไก่กานะคะ เขาทั้งคู่จบการศึกษาระดับปริญญาโทด้านวิศวะกรรม แต่เบื่อกับชีวิตวุ่นวายในเมืองหลวง หันหลังหนีเมืองกรุงมาเอาดีด้านการทำเกษตรอินทรีย์แทนการเป็นมนุษย์เงินเดือนตลอดไป เนื่องจากเกิดความเบื่อหน่ายที่จะต้องอยู่ภายใต้กรอบเกณฑ์ของสังคม ต้องอดหลับอดนอนตื่นเช้าไปทำงานและกลับบ้านดึก ๆ ดื่น ๆ เพื่อทำงานที่ได้รับมอบหมายนั้น ๆ ให้เสร็จ ซึ่งตลอดเวลาเมื่อมีคนรู้ถึงความตั้งใจของเขา มักมีผู้คนถามว่า ปลูกผักอินทรีย์ยากไหวหรือเปล่า หรือ เธอจะไปกันรอดหรือ แต่ระยะเวลา 2 ปี ที่ทั้ง 2 คนต่อสู้กันมาจนประสบผลสำเร็จก็เป็นเครื่องยืนยันได้ว่าความคิดของเขาถูกต้องแล้ว


ในปัจจุบัน บนเนื้อที่ 1 งาน ของไร่ “บ้านสวนศุภรักษ์” เขียวขจีเต็มไปด้วยพืชผักชนิดต่าง ๆ โดยเฉพาะผักสลัด ซึ่งนอกจากจะส่งเข้าห้องครัวของโรงแรมสามพราน ริเวอร์ไซด์ แล้ว อีกส่วนหนึ่งยังนำมาจำหน่ายที่ตลาดสุขใจในวันเสาร์-อาทิตย์ และกำลังขยายช่องทางการตลาดสู่ระบบซื้อขายบนสื่อออนไลน์อีกด้วย ซึ่งจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นความรักหรือความเชื่อมั่นในวิถีอินทรีย์ แต่สุดท้ายทั้งคู่ก็ต่อสู้ และก้าวข้ามอุปสรรค ฝ่าฟันเสียงนินทาเพื่อทำเกษตรอินทรีย์

และสุดท้ายพวกเขาก็มีชีวิตอิสระ มีความสุขกับครอบครัวท่ามกลางอ้อมกอดของธรรมชาติ สามารถกำหนดราคาผลผลิตได้เอง เป็นนายของตัวเอง นอนได้เต็มที่หรือในวันที่ไม่อยากลุกไปไหนวันที่ขี้เกียจก็นอนต่อได้ สามารถไปเที่ยวได้ทุกที่ ในวันที่อยากจะไป โดยไม่ต้องยื่นใบลา ไม่ต้องรอเจ้านายเซ็น นี่แหล่ะสิ่งที่เขาฝันและทำได้


ปริ๊นซ์-นคร ลิมปคุปตถาวร หรือเจ้าชายผักแห่งคนกรุง


จากหนุ่มน้อยนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ สาขาเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนปัจจุบัน ปริ๊นซ์ นคร ลิมปคุปตถาวร ได้กลายเป็นผู้นำการปลูกผักปลอดสารพิษอย่างไม่รู้ตัว ย้อนไปเมื่อ 3 ปีก่อน ปริ๊นซ์เปิดโรงรถข้างบ้านให้เป็นสถานที่ฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการในเรื่องการปลูกผักในเมืองครั้งแรก ๆ มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมน้อยกว่าทีมงานด้วยซ้ำ แต่ต่อมาก็เริ่มได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น จนล่าสุดจัดขึ้นเป็นครั้งที่ ๑๐ กว่าแล้ว

นอกจากนี้เขายังร่วมกับมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) คิดริเริ่มโครงการ สวนผักคนเมืองและยังสนับสนุนให้กลุ่มบุคคล วัด มัสยิด โรงเรียน และองค์กรเอกชนทั่วกรุงเทพและปริมณฑล อีกทั้งชุมชนเมืองในต่างจังหวัดได้ปลูกผักปลอดสารพิษกินเอง ซึ่งมีกิจกรรมที่เป็นจุดเด่นสุดคือ การประกวดโครงการ “สวนผักในบ้านฉัน” ซึ่งก็ได้รับการต้อนรับกันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง


ปริ๊นซ์ได้กล่าวไว้ว่า การปลูกผักทำให้เขามีความสุขเพราะคนเราจะทำอะไรต้องทำในสิ่งที่มีความสุขกับสิ่งนั้น การปลูกผักจึงทำให้สุขกายที่ได้ทานในสิ่งที่ดี สุขใจที่ได้ปลูกผักและสุขใจที่เขาได้แบ่งปัน


ธนากร พดคง ลาออกจากงานมาทำแปลงเกษตรผสมผสาน


ธนากร พดคง ชาวจังหวัดพิษณุโลก จบปริญญาตรีสาขาวิศวอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เคยทำงานเป็นวิศวกรบริษัทแห่งหนึ่งได้เงินเดือน 22,000 บาท ก่อนจะลาออกมาขุดบ่อล้อมรอบแปลงเกษตรผสมผสาน ที่ทั้งเลี้ยงปลา ทำสวนพริกไทย ชะอม และทำนาข้าว บนพื้น 5 ไร่ของ พ่อกับแม่


ธนากรกล่าวว่า จุดพลิกผันของชีวิตเกิดขึ้นในตอนที่เห็นว่าเงินเดือน 2 หมื่นกว่าบาท ไม่สามารถหาปัจจัยสี่ได้ครบ ชีวิตวัน ๆ อยู่กับงานมีเวลาพักผ่อนเพียง 2 วัน จึงตัดสินใจลาออกจากอาชีพวิศวกร แล้วสมัครร่วมโครงการ คนกล้าคืนถิ่นของกองทัพบกได้กลับมาดูแลพ่อ แม่ในยามชราด้วยความภาคภูมิใจ


นิพล สุเยาว์ ทิ้งใบปริญญาโทมาประกอบอาชีพเกษตร


นิพล สุเยาว์ ชาวพิษณุโลก จบปริญญาตรีสาขาวิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงคราม และยังพ่วงปริญญาโท สาขาวิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่ปัจจุบันหันมาประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำเกษตรผสมผสาน โดยปลูกมะนาวในวงบ่อ ปลูกผักสวนครัว เลี้ยงปลาดุก เลี้ยงกบ เลี้ยงหมู ทำโรงสีข้าวและจำหน่ายข้าวหอมมะลิ จึงถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งในผู้กล้าคืนถิ่นที่กลับมาทำอาชีพเกษตรสำเร็จ


ไม่ใช่เพียงแค่คนที่ยกตัวอย่างมาเท่านั้น แต่ปัจจุบันมีหนุ่มสาวอีกมากมายที่คืนถิ่นกลับสู่อ้อมกอดของพ่อแม่ ยึดอาชีพของบรรพบุรุษแต่เสริมด้วยเทคนิคใหม่ ๆ ที่ตนเองได้ร่ำเรียนมา ดังนั้นเกษตรวิถีใหม่ของพวกเขาส่วนใหญ่จึงมักจะสำเร็จ แต่ถึงไม่สำเร็จใหญ่โตแค่ไหน แค่พอมีพอเพียงตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงให้ ประชาชนใช้ชีวิตอย่างพอพียง อีกทั้งได้อยู่พร้อมหน้าพ่อ แม่ ลูกอย่างมีความสุขใช้ชีวิตอย่างไม่เร่งรีบ ไม่เหนื่อยไปกับการขายสมองและหยาดเหงื่อให้คนอื่น แค่นี้ก็คงพอแล้วสำหรับพวกเขา

Advertorial

สนับสนุนเนื้อหาโดย MoneyHub

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook