พลังงานMOUวางแนวขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อ

พลังงานMOUวางแนวขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อ

พลังงานMOUวางแนวขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กระทรวงพลังงาน MOU กำหนดแนวทางกำกับดูแลการประกอบกิจการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อ ลดความซ้ำซ้อน เผย ราคาน้ำมันต่ำ ส่งผลให้ความต้องการใช้ของไทยเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 15

พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวภายหลังเป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือ MOU การกำหนดแนวทางปฏิบัติงานในการกำกับดูแลการประกอบกิจการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อ ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ร่วมกับกรมธุรกิจพลังงาน ว่า ความร่วมมือครั้งนี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการประกอบกิจการท่อขนส่งก๊าซ มีความคล่องตัวมากขึ้น ลดความซ้ำซ้อนในขั้นตอนการดำเนินงาน ส่งผลดีต่อผู้ประกอบการที่สามารถกำหนดระยะเวลาในการดำเนินโครงการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อได้ชัดเจน ปัจจุบันความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติอยู่ที่ระดับประมาณ 4,700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ส่วนใหญ่อยู่ในภาคการผลิตไฟฟ้า และคาดว่า ในปี 2562 ความต้องการใช้จะเพิ่มขึ้นเป็น 5,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หรือเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 1.6 ต่อปี ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยมีแนวท่อส่งก๊าซทั้งบนบก และในทะเลยาวกว่า 4,000 กิโลเมตร และในอนาคตอันใกล้จะมีโครงการขนาดใหญ่เกิดขึ้นอีก 2 โครงการ คือ โครงการระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติเส้นที่ 5 จากระยอง ไปโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ-ใต้ และระบบท่อส่งก๊าซบนบกจากสถานีควบคุมความดันก๊าซฯ ราชบุรี-วังน้อย ที่ 9 ไปยังราชบุรี ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถลดต้นทุนการขนส่งได้

ขณะที่ราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำส่งผลให้ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันของไทยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 15 สูงกว่าสหรัฐอเมริกาและจีน ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 8 ซึ่งคาดหวังประชาชนรณรงค์ในการประหยัดพลังงาน ขณะที่นโยบายการสำรองน้ำมันของประเทศนั้น ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัด แต่ทั้งนี้การพิจารณาจะมองถึงยุทธศาสตร์เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศสูงสุด

นอกจากนี้ พลเอก อนันตพร กล่าวถึง ความคืบหน้าการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่นั้น จะยังคงเดินหน้าตามแผน แม้ขณะนี้จะล่าช้ากว่ากำหนดเดิมมาแล้วถึง 6 เดือน เพราะไทยมีความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติสูงกว่ากำลังการผลิตในประเทศกว่า 1,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หากไม่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ก็จำเป็นต้องนำเข้าก๊าซเพิ่มขึ้นเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าและจะส่งผลต่อค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการไตรภาคี 3 ฝ่าย อยู่ระหว่างพิจารณาถึงความจำเป็นในการมีโรงไฟฟ้าถ่านหินของไทย คาดว่าจะได้ข้อสรุปในเดือนสิงหาคมนี้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook