วิกฤตแล้งลามประมงปลาน้ำจืดแพง100% ปลาตะเพียนขาดตลาดหนัก ปลาร้าปลาส้ม-แปรรูปป่วน

วิกฤตแล้งลามประมงปลาน้ำจืดแพง100% ปลาตะเพียนขาดตลาดหนัก ปลาร้าปลาส้ม-แปรรูปป่วน

วิกฤตแล้งลามประมงปลาน้ำจืดแพง100% ปลาตะเพียนขาดตลาดหนัก ปลาร้าปลาส้ม-แปรรูปป่วน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อุตสาหกรรมปลาน้ำจืดปั่นป่วน ภัยแล้งมาเร็ว แหล่งผลิตใหญ่ของประเทศ "นครสวรรค์ พะเยา อีสาน นครปฐม" ผลผลิตลดวูบกว่า 50% ปลาตะเพียนขาดตลาดหนัก โดมิโนทุบธุรกิจปลาร้า ปลาส้ม ผลิตภัณฑ์แปรรูปปลาน้ำจืด ผู้ประกอบการเมืองลพบุรี พิษณุโลก โอดหาวัตถุดิบยาก พ่อค้าต่างถิ่นแย่งซื้อ ด้านผู้บริโภคกินปลาแพงขึ้น 50-100%

สถานการณ์ภัยแล้งที่รุนแรงและมาเร็วกว่าปกติ ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรม ชาวนาต้องลดพื้นที่ปลูกและงดทำนาปรัง ในหลายจังหวัดก็เริ่มขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้แล้ว และขณะนี้ยังพบอีกว่า ภัยแล้งได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจประมงน้ำจืดทั้งในรูปแบบการเลี้ยงปลาในกระชังและเลี้ยงในบ่อดิน ซึ่งกำลังลามกระทบเป็นโดมิโนไปถึงธุรกิจแปรรูปปลา ปลาส้ม ปลาร้า และร้านอาหารต่าง ๆ

นครสวรรค์จ่อสูญรายได้ 700 ล้าน

นายบุญยืน พฤกษโชค ประมงจังหวัดนครสวรรค์ เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า นครสวรรค์เป็นจังหวัดที่มีการเลี้ยงปลาน้ำจืดเชิงพาณิชย์เป็นลำดับต้น ๆ ของประเทศ โดยมีพื้นที่เลี้ยงปลามากถึง 39,000 ไร่ ทั้งในรูปแบบของการเลี้ยงในบ่อดินและกระชังในแม่น้ำ เกษตรกรจำนวน 9,088 ราย ผลผลิต 100,000 ตัน/ปี สร้างรายได้ประมาณ 778 ล้านบาท/ปี ส่วนใหญ่เลี้ยงมากที่สุดในเขตอำเภอเมืองและชุมแสง

ทั้งนี้ ปัญหาภัยแล้งได้ส่งผลกระทบทำให้ตระกูลปลาหนัง เช่น ปลากด ปลากดคัง ปลาสวาย ปลาแดง และปลาเนื้ออ่อน กำลังขาดตลาด ขณะที่ตลาดมีความต้องการสูงขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบการผลิตปลาร้า ปลาส้ม และผลิตภัณฑ์ปลาแปรรูปต่าง ๆ มีคำสั่งซื้อสูง แต่ผลผลิตไม่เพียงพอ จึงส่งผลกระทบธุรกิจเป็นลูกโซ่ เนื่องจากปลาจากจังหวัดนครสวรรค์จะถูกส่งไปจำหน่ายยังภาคเหนือ ภาคอีสาน และตลาดปลาจังหวัดอ่างทอง

ราคาปลาน้ำจืดพุ่ง 50-100%

นอกจากนั้นยังทำให้ราคาปลาน้ำจืดในตลาดผันผวน เฉลี่ยปรับสูงขึ้น 50-100% เช่น ปลาเนื้ออ่อนปรับขึ้นเป็นกิโลกรัมละ 300 บาท จากเดิมเมื่อ 1-2 ปีก่อนอยู่ที่กิโลกรัมละ 200 บาท ส่วนปลานิล ปลาทับทิมปรับตัวสูงขึ้น 5-10% แนวโน้มราคาปลาน้ำจืดจะสูงขึ้นต่อเนื่อง เพราะปีนี้สถานการณ์ภัยแล้งจะมีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้เกษตรกรเลี้ยงปลาได้ผลผลิตน้อย เพราะสัดส่วนปลาที่เลี้ยงในกระชังมีมากถึง 40% เลี้ยงในบ่อดิน 60% ปีนี้อาจมีผู้ประกอบการปลาร้า แปรรูปผลิตภัณฑ์ปลา มาแย่งกันกว้านซื้อ ขณะที่ชาวนากว่า 900 รายได้หันมาเลี้ยงปลามากขึ้น เพราะภัยแล้งและราคาข้าวตกต่ำ

ขณะที่ร้านประทีปพันธุ์ปลาจังหวัดนครสวรรค์ กล่าวว่า นครสวรรค์เป็นแหล่งใหญ่จำหน่ายลูกปลาน้ำจืด แนวโน้มปีนี้ธุรกิจไม่คึกคัก เพราะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ตกต่ำและภัยแล้ง ผู้ประกอบการฟาร์มปลาจึงไม่ลงทุนใหม่ ทำให้ธุรกิจจำหน่ายพันธุ์ปลาได้รับผลกระทบไปด้วย

นายหัสนัย แก้วกุล เจ้าของฟาร์มปลาใบธง อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา กล่าวว่า จังหวัดพะเยามีการแปรรูปปลาน้ำจืด เพราะเป็นแหล่งผลิตปลาน้ำจืดได้มากจากกว๊านพะเยา และการเลี้ยงบ่อดิน มีเกษตรกรประมาณ 600 ราย แต่ปีที่ผ่านมาประสบปัญหาภัยแล้งทำให้ผลผลิตลดลง 20% ปีนี้คาดว่าจะลดลงต่อเนื่อง ขณะที่ราคาปลานิล ปลาทับทิม ปรับตัวสูงขึ้นไปอยู่ที่กิโลกรัมละ 60 บาท จากเดิมราคา 45-50 บาท/กก.

นายเสนีย์ มงคลสมัคร เจ้าของกิจการธุรกิจปลาร้า อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า ภาพรวมธุรกิจปลาร้าและผลิตภัณฑ์แปรรูปปลาน้ำจืดทรงตัว ปัจจัยลบมาจากภัยแล้งทำให้เกษตรกรฐานรากไม่มีกำลังซื้อ ขณะที่ปลาน้ำจืด เช่น ปลากระดี่ก็หายากมาก ซึ่งวัตถุดิบจะมาจากอำเภอบางระกำและจังหวัดอ่างทอง ทำให้ธุรกิจได้รับผลกระทบพอสมควร


ปลาน้ำจืดขาดแคลน - ปัญหาภัยแล้งลุกลามอย่างหนักตั้งแต่ปี 2559 ส่งผลกระทบต่อผู้เลี้ยงปลาในกระชังและบ่อดิน ในจังหวัดนครสวรรค์ พะเยา และภาคอีสาน ผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง และราคาปรับตัวสูงขึ้นมากถึง 50-100% ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจปลาร้า ปลาส้ม ผลิตภัณฑ์แปรรูปปลาขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิต

ตะเพียนผลิตปลาส้มขาดตลาด

สอดคล้องกับนายอมร พุทธสัมมา ประมงจังหวัดนครปฐม เปิดเผยว่า ปัญหาน้ำแล้งในปีนี้นครปฐมได้รับผลกระทบพอสมควร เพราะประมงขึ้นอยู่กับน้ำ โดยเฉพาะการเลี้ยงกุ้งจะต้องมีน้ำหมุนเวียนมาเติมตลอด ขณะที่โซนที่ติดน้ำเค็มขึ้นถึง แม้ว่าความเค็มจะไม่ค่อยมีผลกับประมงนัก แต่จะมีผลในด้านการระบายน้ำเสียจากชุมชนที่ไปไม่สุดจะตีกลับทำให้การเลี้ยงปลายากขึ้นและติดเชื้อโรค

ขณะนี้ปลาที่ขาดตลาดคือปลาตะเพียน ซึ่งภาคเหนือ ภาคอีสาน และประเทศเพื่อนบ้านมีความต้องการบริโภคสูง แต่ปลาตะเพียนไม่ใช่ปลาหลักของนครปฐม เกษตรกรจะเลี้ยงร่วมกับปลานิลเพียง 10% เพราะปลาตะเพียนต้องใช้น้ำสะอาด มีคุณภาพ ระบบน้ำไหล ถ้าน้ำไม่ดีจะตาย ถือเป็นตัวชี้วัดคุณภาพน้ำ และนครปฐมยังมีสัตว์น้ำที่นิยมเลี้ยงได้ผลตอบแทนสูง เช่น กุ้งขาว และกุ้งก้ามกราม

สำหรับจังหวัดนครปฐมจะเลี้ยงปลาในบ่อดินคือ ปลานิล ยี่สก ตะเพียน และปลาดุก พื้นที่เลี้ยงในปี 2559 อยู่ที่ประมาณ 35,000-40,000 ไร่ พื้นที่เลี้ยงคงที่จากปีก่อน โดยมีตลาดปลาน้ำจืดใหญ่อยู่ที่ตลาดบางเลนธานี ซึ่งปัจจุบันปลานิลยังไม่ขาดตลาด แม้ว่าผลผลิตจะลดลงบ้าง โดยผลผลิตปลานิลปี 2558 อยู่ที่ 22,000 ตัน ลดลงจากปี 2557 จำนวน 24,000 ตัน แต่ราคาเฉลี่ยหน้าฟาร์มปี 2558 จะสูงกว่า คือกิโลกรัมละ 45 บาท ขณะที่ปี 2557 ราคาเฉลี่ยหน้าฟาร์มอยู่ที่กิโลกรัมละ 36 บาท

ปลาส้มลพบุรี-อุดรฯรายได้หด

นายสิงห์ทอง กระตุดเงิน เจ้าของกิจการปลาส้มฟักประกอบจิตร์ จังหวัดลพบุรี กล่าวว่า ภัยแล้งทำให้การเลี้ยงปลาในแม่น้ำภาคกลางลดลง ส่งผลกระทบต่อการหาวัตถุดิบในการทำปลาส้มพอสมควร โดยเฉพาะปลาตะเพียนซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการทำปลาส้มฟัก ปัจจุบันวัตุดิบหายไปกว่า 50% ส่งผลให้ราคาปลาแพงขึ้น โดยปกติปลาตะเพียน 52-53 บาท/กก. ขณะนี้เมื่อรวมค่าแรงแกะปลา กก.ละ 2 บาทแล้วจะอยู่ที่ 58-60 บาท

"ปกติจะใช้ปลาจากอำเภอบ้านหมี่และแพปลาอ่างทอง ซึ่งก็เลี้ยงปลาได้น้อยลง ตอนนี้ลำบาก พ่อค้าปลาที่เคยมาก็หายไป และพ่อค้าจากภาคอีสานที่ขาดแคลนปลาเหมือนกันก็ต้องมาหาซื้อปลาจากภาคกลางไป วัตุดิบจึงยิ่งหายาก ช่วงหน้าเทศกาลปลาตะเพียนจากกระชังหาไม่ได้เลย ต้องแย่งกัน และคาดว่าอีก 1 เดือนหลังจากนี้ปลาน่าจะลดลงอีกมาก และราคาจะแพงขึ้น"

นายสิงห์ทองกล่าวอีกว่า ในช่วงปกติจะผลิตปลาส้มขั้นต่ำ 100-200 กก./วัน แต่ในช่วงเทศกาลปีใหม่จะขายดีมาก ต้องเพิ่มกำลังการผลิตใช้ปลาตะเพียน 2-3 ตัน ปลาชิ้น 2 ตัน แต่ตอนนี้ต้องปรับลดกำลังการผลิตลง 30-40% เนื่องจากปลาตะเพียนขาดตลาด รวมทั้งผลกระทบจากกำลังซื้อของประชาชนหายไป เห็นได้จากรายได้ของร้านสาขาในปั๊มน้ำมันลดลงเหลือเพียงเดือนละ 25,000 บาท จากเดิมมีรายได้เดือนละ 3 หมื่นบาท

นายสิงห์ทองกล่าวเพิ่มเติมว่า การเลี้ยงปลาบ่อดินในพื้นที่อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี ที่มีอยู่หลายร้อยบ่อก็ต้องงดเลี้ยงไป เพราะต้องรับน้ำจากคลองชลประทานที่ตอนนี้ไม่มีน้ำแล้ว รวมทั้งคลองชัยนาท-ป่าสักที่น้ำเหลือน้อยมากเช่นกัน อนาคตจึงมีแนวโน้มว่าปลาจะขาดตลาดอีกมาก

ขณะที่แม่ค้าปลาส้มรายหนึ่งในจังหวัดอุดรธานีกล่าวตรงกันว่า ตอนนี้ปลาตะเพียนซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตปลาส้ม อาหารยอดนิยมในภาคอีสาน กำลังขาดแคลนอย่างหนัก เพราะแม่น้ำสำคัญในภาคอีสานเริ่มแห้ง ไม่สามารถเลี้ยงปลาตะเพียนได้ ซึ่งคาดว่าแนวโน้มจะขาดแคลนปลาตะเพียนไปอีกนานหลายเดือนจนกว่าจะเข้าสู่ฤดูฝนอีกครั้ง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook