กฟผ.แนะกระจายความเสี่ยงใช้พลังงาน

กฟผ.แนะกระจายความเสี่ยงใช้พลังงาน

กฟผ.แนะกระจายความเสี่ยงใช้พลังงาน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กฟผ.แนะไทยจำเป็นต้องกระจายความเสี่ยงใช้พลังงาน ชี้แนวโน้มการใช้พลังงานอาเซียนอีก 30 ปียังพึ่งพาฟอสซิล 77%

นายคุรุจิต นาครทรรพ ประธานกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ "พลังงานไฟฟ้าไทยและความเชื่อมโยงกับเออีซี" ว่า แนวโน้มการใช้พลังงานของอาเซียนในอีก 30 ปีข้างหน้า หรือประมาณปี 2040 ไทยและอาเซียนยังคงพึ่งพาพลังงานฟอสซิล คือ ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติเป็นหลักที่ร้อยละ 77 จากปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 82 โดยเป็นถ่านหินกึ่งหนึ่ง เนื่องจากฟอสซิลเป็นพลังงานที่มีต้นทุนการผลิตถูกที่สุด สามารถรองรับจำนวนประชากรที่ขยายตัวและส่วนใหญ่ยังมีฐานะยากจนได้เป็นอย่างดี โดยไทยนับเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าสูงเป็นอันดับต้นของอาเซียน สวนทางกับหลายประเทศที่พื้นที่ส่วนใหญ่ยังเข้าไม่ถึงไฟฟ้า ดังนั้น เพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันไว้ ไทยจำเป็นต้องกระจายความเสี่ยงของแหล่งเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า จากปัจจุบันที่พึ่งพาก๊าซธรรมชาติมากถึงร้อยละ 70 โดยการเพิ่มสัดส่วนของถ่านหิน ไฟ้ฟ้าจากพลังงานน้ำที่ซื้อจากเพื่อนบ้าน และผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล

ทั้งนี้ แผนกระจายเชื้อเพลิงในส่วนของถ่านหินยังอยู่ในขั้นตอนการผลักดัน และรับฟังความคิดเห็นประชาชน แต่ที่เห็นเป็นรูปธรรมในขณะนี้ คือ การเดินหน้าพัฒนาพลังงานทดแทน ที่ล่าสุดมีการจ่ายไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเข้าระบบแล้ว 3,800-3,900 เมกะวัตต์ และภายใน 2-3 ปี จะมีไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเข้าระบบทั้งสิ้น 8,600 เมกะวัตต์ เนื่องจากมีการทำสัญญาไว้แล้ว คิดเป็น 1 ใน 3 ของความต้องการใช้พลังงานเฉลี่ยต่อวันที่ 20,000 เมกะวัตต์ สะท้อนให้เห็นว่าหากเดินหน้าพัฒนาอย่างจริงจัง พลังงานทดแทนสามารถกลายมาเป็นพลังงานหลักทดแทนก๊าซธรรมชาติได้ แต่ต้องขึ้นกับศักยภาพในการผลิตจริงในขณะนั้นด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook