สร้างวิดีโอธรรมดาๆ ให้เป็นไวรัลต้องเข้าใจคนชอบแชร์

สร้างวิดีโอธรรมดาๆ ให้เป็นไวรัลต้องเข้าใจคนชอบแชร์

สร้างวิดีโอธรรมดาๆ ให้เป็นไวรัลต้องเข้าใจคนชอบแชร์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ทุกวันนี้ มีคลิปวิดีโอจำนวนมากมายหลายล้านคลิป รอให้เราได้ไปค้นเจอเพื่อดูและส่งต่อ แต่การที่จะเป็นคลิปที่คนดูเยอะได้นั้น จะต้องประกอบด้วยอะไร แล้วทำอย่างไรที่คลิปของคนธรรมดาๆ จะกลายเป็นคลิปยอดนิยมติดอันดับ ก่อนอื่นเราต้องสร้างคลิปของเรา เข้าใจกลุ่มเป้าหมาย แล้วใช้เทคนิคเล็กน้อยเพื่อให้เรามีความโดดเด่น

สร้างคลิปด้วยตัวเองจากโปรแกรมพื้นฐาน
เวลาที่เราต้องการสร้างความประทับใจให้กับเจ้านาย เพื่อนร่วมงาน แฟน หรือเพื่อนๆ หลายคนก็อาจมีไอเดียดีๆ ที่จะทำเซอร์ไพรส์คนพิเศษด้วยของขวัญอื่นๆ แต่การทำคลิปวิดีโอด้วยตัวเองก็ดูน่าประทับใจไม่น้อยกว่าสิ่งของอื่นเลย เราอาจต้องใช้ตัวช่วยในเรื่องของเทคนิค เพื่อทำให้วัตถุดิบธรรมดาที่เรามีดูพิเศษขึ้น แถมไม่ต้องใช้อุปกรณ์ที่ไหนไกล นอกจากคอมพิวเตอร์ และมือถือของคุณเอง และจากโปรแกรมพื้นฐานที่ติดมากับคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องในหลายระบบปฎิบัติการ

เริ่มต้นด้วย Microsoft PowerPoint
เชื่อว่าทุกคนเคยสัมผัสโปรแกรมสร้างงานนำเสนออย่างโปรแกรมนี้มาแล้วไม่มากก็น้อย แต่อีกหลายคนก็ใช้ประโยชน์ของมันยังไม่เต็มที่ การสร้างวิดีโอพรีเซ็นเทชั่นด้วย PowerPoint นั้น ง่ายพอๆ กับการทำสไลด์นำเสนอผลงานทั่วไปนั่นเอง เพียงแค่เลือกรูปที่ชอบ ตกแต่งด้วย Word Art รูปการ์ตูน หรือสัญลักษณ์ที่ชอบเข้าไปในรูปแต่ละสไลด์ ไม่ว่าจะเป็นภาพนิ่ง ไฟล์เคลื่อนไหวอย่าง .GIF หรือวิดีโอก็ได้

 

 

จากนั้นก็เรียงลำดับและกำหนดระยะเวลาในการแสดงแต่ละสไลด์ แล้วเพิ่มเพลงประกอบ ซึ่งทุกอย่างมีเมนูให้เลือกบน PowerPoint ทั้งหมด แล้วเลือกการ Narrative แล้วจับเวลาที่ใช้ในแต่ละสไลด์ในการเล่นอัตโนมัติ จากนั้นก็เซฟให้เป็นแบบ PowerPoint Show มันจะเล่นเองตามที่เราตั้งค่าไว้

สำหรับคนที่ใช้แมค ก็ให้ใช้ Keynote แทนแล้ว Export มาในรูปแบบของ Quick time movie เลือกรูปแบบภาพและขนาดที่ต้องการก็เรียบร้อย อีกโปรแกรมที่ Windows ทุกเครื่องน่าจะมีก็คือ Windows Movie Maker (สังเกตว่าปกติจะมีแค่ Player นะคะ แต่สามารถลงโปรแกรม Movie Maker ได้โดยดาวน์โหลดที่เว็บไซต์ของ Microsoft

ทำมิวสิควิดีโอ
การเอาเรื่องราว ภาพถ่าย หรือภาพเคลื่อนไหวมาร้อยเรียงใส่เพลงที่มีความหมาย ต้องรู้จังหวะ เคยสังเกตไหมว่าในมิวสิควิดีโอที่เราชอบกัน มักทำให้เรานั่งดูได้นานๆ เพราะเขาตัดต่อให้ภาพสัมพันธ์กับจังหวะ ทำนองของเสียงเพลง การตัดต่อไม่ได้มีแค่จังหวะเพลงอย่างเดียว แต่มันคือจังหวะของการสื่อสาร

บางครั้งเราถ่ายคลิปฮาๆ กับเพื่อนตอนไปเที่ยวต่างจังหวัดแล้วเสียงรบกวนมีมากจนฟังไม่ออก อีกหนึ่งทางเลือกคือการเอาเพลงใส่แทนเพื่อสร้างบรรยากาศและกลบเสียงรบกวน ในการใส่เพลงควรเลือกเพลงที่ไม่ติดลิขสิทธิ์ของค่ายเพลงหากคุณต้องการอัพโหลดขึ้นเว็บฯ ไม่งั้นคุณอาจได้คลิปวิดีโอหนังเงียบแทน เพราะถูกดูดเสียงไป

การตัดต่อ
ให้นำเพลงที่ชอบมาวางไว้บนช่องของเสียงก่อน ถ้าอยากได้มากกว่า 1 เพลงก็ตัดต่อเพลงในโปรแกรมตัดต่อภาพได้เลย แล้วนำคลิปวิดีโอมาวางที่ช่องของภาพแล้วแยกไม่ให้เสียงเชื่อมโยง (Sync) กับภาพ จากนั้นก็ลบเสียงต้นฉบับของคลิปออก แล้วคุณก็ทำการใส่เอฟเฟ็กต์ที่ต้องการในการทำมิวสิควิดีโอได้เลย โดยลองดูว่าจังหวะของท่อนฮุคที่น่าสนใจอยู่ตรงไหน หรือจังหวะเพลงควรเปลี่ยนภาพช้า-เร็วเท่าใด ลองฝึกทำไปเรื่อยๆ จะทำให้จังหวะการตัดต่อของคุณเนียนขึ้น

 

 

ถ้าต่อยอดให้ทำคลิปไวรัล (Viral VDO) ล่ะ?
ปุ่มแชร์ และปุ่มถูกใจนั้น สร้างอิทธิพลให้กับวงการโฆษณาออนไลน์อย่างมาก เพราะแค่เสี้ยววินาทีที่คนกดแชร์นั่นแปลว่าผลงานได้ถูกส่งต่อไปอีกไม่รู้จบ ยิ่งถ้าเนื้อหาไม่ตกยุค ก็ยิ่งทำให้ไวรัลนั้นมีชีวิตอยู่อย่างยาวนาน

สำหรับนักการตลาด การสร้างไวรัลคลิปควรต้องคำนึงถึงกลุ่มเป้าหมายว่าเป็นใคร อายุเท่าไร ชื่นชอบอะไร มีพื้นเพอย่างไร แล้วอย่าไปคิดถึงโปรดักชั่นอลังการล้านแปด บางครั้งโฮมวิดีโอบ้านๆ แต่เนื้อหามันใช่ ก็สามารถทำให้เป็นไวรัลที่ดีได้ และในบางครั้งอีกเช่นกัน ยิ่งดูไม่ตั้งใจยิ่งดี ไม่งั้นคนดูสมัยนี้ฉลาดพอที่จะจับได้ว่าปล่อยออกมาจากนักการตลาด จะไม่เนียน แล้วคนจะไม่กดแชร์ เพราะรู้สึกว่าตัวเองเป็นเหยื่อของการตลาด จากนั้นก็เผยแพร่อย่างถูกต้อง โดยไปปล่อยใน YouTube, Vimeo, Dailymotion หรือเว็บฯ อื่นๆ ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ และยิ่งถ้ามีบล็อกเกอร์ในสังกัดที่เกี่ยวข้องกับสินค้านั้นๆ มาช่วยกันลงคลิปก็ยิ่งสร้างช่องทางให้เข้าถึงคนทั่วไปได้มากขึ้น

สำหรับคนทั่วไปอย่างเราๆ ลองคิดดูว่าการที่เรานั่งกดแชร์หรือขำกับคลิปนี้เหมือนกับคนอื่นๆ ก็แปลว่าคนอื่นๆ ก็มีอารมณ์ขันเหมือนเรานั่นแหละ เพราะฉะนั้นอะไรที่เราขำแล้ว เราก็จะอนุมานว่าคนอื่นก็คงขำเหมือนกัน แต่ถ้ามันเป็นเหตุการณ์ธรรมดามากๆ ใครจะมาดูล่ะ? ดังนั้นก็ต้องลองหาจุดแปลกที่ไม่เหมือนใคร และวิดีโอไวรัลที่ดีไม่ควรจะยาวเกินไป เพราะคนเราจะมีสมาธิอยู่กับคลิปไม่นาน ดังนั้นควรตัดมาแต่ไฮไลท์และเลือกช่วงที่คิดว่าดีที่สุด ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัวว่าต้องกี่นาที ลองคิดว่าตัวคุณเองเป็นผู้ชมแล้วดูคลิปของคุณ จะรู้สึกเบื่อตอนไหนก็ให้ตัดออก และต้องสร้างจุดขายให้กับช่องของคุณ โพสต์ในแนวทางที่คุณถนัด อย่าให้คนดูสับสน ถ้าอยากจะเปลี่ยนแนวหรือสร้างจุดขายอื่น ก็ให้ลองสร้างอีกช่องหนึ่งมารองรับจะดีกว่า

กล่องข้อความอธิบาย (Description)
เป็นสิ่งจำเป็นที่เราต้องใส่ข้อมูลที่สำคัญลงไป โดยเฉพาะใส่ลิงก์ของแบรนด์เรา โดยอย่าลืมใส่ http:// เพื่อให้กลายเป็นลิงก์ให้คนดูคลิกเข้าชมได้ง่าย การเขียนข้อความบรรยายที่เกี่ยวข้องและมีเนื้อหาที่น่าสนใจ หรือกลายเป็น Blog Post ก็ยิ่งช่วยให้ Google และ YouTube ค้นหาวิดีโอที่เกี่ยวข้องกับคำค้นได้ง่ายขึ้น หรือบางครั้งอาจใส่บทพูดที่ตัวละครเล่น หรือเนื้อร้องในมิวสิควิดีโอไป เผื่อว่าคนที่ค้นหาด้วยเนื้อเพลงจะค้นเจอ แต่ในทางกลับกันหากคุณไม่อยากให้ใครหาเจอเพราะเป็นคลิปลับภายในองค์กรแต่ทุกคนไม่ได้มีบัญชีผู้ใช้ของ YouTube ก็ลองเลือกการแชร์แบบไม่อยู่ในรายการ หรือ Unlisted จะทำให้คนที่ไม่มีลิงก์โดยตรงค้นหาไม่เจอ

 

 

การเลือกประเภทของวิดีโอ
ต้องเลือกใส่ประเภทให้คนหาง่าย หรือคนชอบดู ซึ่งตามสถิติในปี 2010 จากเว็บไซต์ Sysomos.com ประเภทเพลง (Music) บันเทิง (Entertainment) และบุคคลและบล็อก (People & Blog) เป็น 3 ประเภทที่มีคนเข้าไปดูมากที่สุด ดังนั้นถ้าเราจะอัพโหลดวิดีโอร้องเพลงของเราเข้าไปแล้วอยากให้เพื่อนๆ กดมาดูได้ง่ายหรือหาง่ายขึ้น เราก็ควรเลือกประเภทของวิดีโอเป็นเพลง หรืออีกสองประเภทที่เหลือ แต่ถ้าเป็นคลิปตลกขำขันของสัตว์เลี้ยงหรือคนในครอบครัวเรา ให้ลองเลือกเป็น People & Blog เป็นต้น

การใส่แท็ก
วิธีในการคิดคำที่ใช้แท็ก นอกจากจะใส่แท็กด้วยคำหลักในวิดีโอ หรือเนื้อหาที่เกี่ยวข้องแล้ว เรายังมีวิธีลักไก่นิดหน่อย คือ ลองค้นดูวิดีโอที่คล้ายกับเรา หรือ (Related Videos) ที่มียอดชมสูงๆ แล้วคัดลอกแท็กเหล่านั้นมาใช้กับของเรา เพราะนั่นแสดงว่าแท็กเขาดีจริงๆ จึงทำให้คนดูเยอะ และการใช้แท็กคล้ายกันจะทำให้วิดีโอของเราปรากฎอยู่บนแถบ Related Videos สำหรับวิดีโอที่ได้รับความนิยม ซึ่งคนที่ดูวิดีโอนั้นก็คือกลุ่มเป้าหมายเดียวกับของเรานั่นเอง หรือลองค้นหา Keyword ที่น่าจะเป็นจากการลองใส่ข้อความในช่องกล่องค้นหาดูว่า มีคำอะไรที่ YouTube คิดว่าเกี่ยวข้องบ้างแล้วก็ลองใส่เข้าไป ยิ่งแท็กเยอะก็ยิ่งทำให้มีโอกาสให้คนค้นหามาเจอได้ง่าย ยกเว้นเป็นวิดีโอที่ใช้เพลงที่ติดลิขสิทธิ์ก็จะทำให้เจ้าของลิขสิทธิ์หาเจอง่ายเช่นกัน และมีการดูดเสียงออก ผู้เขียนเคยเข้าไปดูวิดีโอพรีเซ็นเทชั่นงานแต่งงานของเพื่อนแต่ดูเป็นวิดีโอเงียบ เพราะใช้เพลงที่ติดลิขสิทธิ์ หลายคู่จึงนิยมแต่งเพลงขึ้นมาเอง หรือร้องเองไปเลย จะได้ไม่โดนดูดเสียงออก

เลือกภาพนิ่งของวิดีโอให้ดี
หลายคนอาจละเลยการเลือกภาพ Thumbnail หรือภาพนิ่ง คล้ายตัวอย่างภายในวิดีโอ ซึ่งจริงๆ แล้วสำคัญมากที่จะดึงดูดให้คนมาดูคลิปของเรา

รวมกันเราอยู่
ลองร่วมกับ YouTube ช่องอื่นๆ เพื่อสร้างเครือข่ายหรือ Joint กัน เช่น วิดีโอที่มีการโต้ตอบกัน (Response) หรือสร้างแคมเปญร่วมกันระหว่างแชนเนล

อะไรที่ทำให้คนแชร์
หนังสือพิมพ์ New York Times เปิดเผยผลการวิจัยเกี่ยวกับจิตวิทยาที่ทำให้คนแชร์บนโลกออนไลน์ ที่แบ่งลักษณะนิสัยของผู้ที่ชอบแชร์ได้หลายประเภท รวมทั้งปัจจัยที่ทำให้คนกดแชร์เนื้อหานั้นๆ ด้วย เพื่อทำให้นักการตลาดเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างตรงจุด โดยใช้การวิจัยกับผู้ที่แชร์เนื้อหาบนอินเทอร์เน็ตในระดับกลางและมาก ผลวิจัยแบ่งออกเป็นบุคลิกของคนที่ชอบแชร์ วงจรของการแชร์ ความสัมพันธ์และปัจจัยที่ส่งผลต่อการแชร์ ซึ่ง 69 เปอร์เซ็นต์ บอกว่าที่แชร์ก็เพราะทำให้เขารู้สึกว่าเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในขณะที่ 94 เปอร์เซ็นต์ บอกว่าพวกเขาระมัดระวังในการเลือกข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับผู้อ่าน

คนที่ชอบแชร์บนเน็ตมีอยู่ 6 ประเภท
1. กลุ่มที่เห็นแก่ประโยชน์คนอื่นมากกว่าตัวเอง (Altruists) เป็นคนที่มีจิตใจอารี รู้อะไรมาก็อยากแบ่งให้เพื่อนรู้ ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มที่ชอบเอา Forward Mail มาแชร์ มักใช้อีเมลเป็นสื่อหลัก
2. กลุ่มที่ชอบแชร์สิ่งที่เกี่ยวกับงานของตัวเอง (Careerists) อาจจะมีทั้งผลงานที่ตัวเองทำ หรือข้อมูลที่น่าสนใจในการทำงานของเขา ซึ่งจะมีกลุ่มก๊วนที่คอยแชร์ข้อมูลเหล่านี้เช่นกัน มักใช้ Linkedin ในการสื่อสารและแชร์
3. กลุ่มที่ดูทันสมัย รอบรู้ (Hipster) คนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่นักการตลาดมุ่งมาทำการตลาดด้วยมากที่สุด เพราะคนเหล่านี้จะแชร์อะไรที่ดูเท่ห์ ดูสร้างภาพที่ดีให้กับตัวเอง
4. กลุ่มที่ชอบมีการตอบสนอง (Boomerangs) คนกลุ่มนี้ชอบแชร์อะไรที่เป็นแง่มุมที่หมิ่นเหม่ ก่อให้เกิดข้อโต้แย้ง หรือยั่วยุให้เกิดดราม่า ยิ่งเป็นประเด็นที่รุนแรงมากเท่าไร ก็ยิ่งชอบแชร์มากขึ้นเท่านั้น เหมือนบูมเมอแรงยิ่งขว้างแรงยิ่งกลับมาเร็วเท่านั้น นิยมใช้ทวิตเตอร์และเฟซบุ๊กเป็นสื่อกลาง เนื่องจากตอบสนองได้รวดเร็ว
5. กลุ่มที่ชอบสร้างความสัมพันธ์ (Connectors) เป็นคนที่รู้ว่าจะได้ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเพื่อน และครอบครัวได้อย่างไร เช่น การแชร์โปรโมชั่นเด็ดที่จะไปด้วยกัน หรือสร้างกิจกรรมร่วมกันระหว่างกลุ่มเพื่อน พวกนี้มักใช้อีเมลและเฟซบุ๊ก
6. กลุ่มช่างเลือก (Selectives) คนพวกนี้จะเลือกแชร์เพราะเรื่องที่เฉพาะเจาะจงกับกลุ่มบางกลุ่มเท่านั้น เรียกว่าไม่แชร์อะไรง่ายๆ เรื่องมาก และต้องแน่ใจว่าเนื้อหาที่แชร์นั้นมีประโยชน์จริงๆ จะใช้อีเมลเท่านั้น
ลองเอาข้อสังเกตที่ว่า มาลองดูเพื่อนในวงสังคมของเราดูว่าตรงหรือไม่ เชื่อว่าทุกคนต้องมีเพื่อนที่มีลักษณะใดลักษณะหนึ่งในนี้แน่นอน

 

 


แล้วอะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้คนแชร์
1. พวกเขาอยากสื่อสารกับคนอื่นมากกว่ากับแบรนด์ เช่น คนกดไลค์แบรนด์ก็เพราะอยากสื่อสารกับคนที่ชื่นชอบแบรนด์นี้ หรือผู้ดูแลแบรนด์นี้ ไม่ใช่กับนามธรรมในฐานะแบรนด์
2. พวกเขาจะเชื่อคุณมากที่สุด เช่น เราจะแชร์ในสิ่งที่เกี่ยวข้องกับผู้รับสารและมีคุณค่า น่าเชื่อถือ เราอาจชอบที่จะดูอะไรขำขัน เบาสมอง แต่ก็ไม่มากพอที่จะทำให้คุณแชร์ต่อ ยกเว้นว่าจะมีสาระสำคัญนอกเหนือจากความขบขัน
3. ง่ายเข้าไว้ อะไรที่มันเข้าใจง่าย ไม่ต้องตีความหรือต้องใช้พลังในการเสพมาก จะได้รับความนิยมในการแชร์มากกว่า
4. มีอารมณ์ขันก็ช่วยได้ บางครั้งไม่ต้องขำกลิ้งตกเก้าอี้ แต่น่าสนใจก็แชร์ได้
5. ต้องมีความฉุกเฉิน ด่วน หรือเกิดขึ้นกระทันหัน อย่างที่เรามักเห็นกันคือ การขอบริจาคเลือดต่างๆ จะได้รับความสนใจและคนแชร์มากกว่าอย่างอื่น เพราะมีปัจจัยในเรื่องของระยะเวลาเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น ด่วนมาก ภายในวันนี้ เป็นต้น

 

ลักษณะเนื้อหาของเว็บฯ Socialtimes.com ที่มีผลทำให้คนแชร์
1. Laughter ขำขันประจำวัน เช่น มุขใน 9gag หรือข้อความขำๆ จากสมาคมมุขเสี่ยวๆ
2. Inspiration สร้างแรงบันดาลใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของบทความ ประโยคโดนๆ หรืองานศิลป์ที่สร้างให้คนเรามีแรงบันดาลใจขึ้นมาได้
2. Cuteness เชื่อว่าอะไรที่น่ารักคนก็มักแชร์ ไม่ว่าจะสัตว์หรือเด็ก ล้วนแต่สร้างรอยยิ้มเพราะความน่ารัก
3. Originality อะไรก็ได้ที่มันเจ๋ง เช่น แคมเปญโฆษณาเจ๋งๆ
4. Shock เหตุการณ์น่าช็อก
5. Surprise เซอร์ไพรส์
6. Nostalgia รำลึกวันวาน เช่น เหตุการณ์ในอดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพลงเก่าที่ทำให้คนย้อนนึกถึงวันวานและทำให้เพื่อนๆ ได้กลับมาคุยกันอีกครั้ง
แต่ถ้าให้สรุปเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ก็จะแบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ เรื่องขำขัน เรื่องที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเขาหรือคนรอบตัวเขา และเรื่องสำคัญคอขาดบาดตาย สิ่งที่สำคัญนอกเหนือจากการสร้างให้คนแชร์ในตอนเราปล่อยคลิปแล้ว แต่จะทำอย่างไรให้คลิปนั้นยังคงถูกแชร์ต่อไปเรื่อยๆ ไม่มีวันหยุด
เมื่อได้ทั้งวิธีการตัดต่อแบบง่ายๆ และไอเดียสร้างไวรัลคลิปแบบง่ายๆ พร้อมทั้งรู้จักกลุ่มเป้าหมายของเราที่ชอบการแชร์เนื้อหาบนอินเทอร์เน็ตมากขึ้นแล้ว อย่ารอช้ากันเลย ลองอัดคลิปเล่นๆ ด้วยมือถือหรือกล้องถ่ายรูปของคุณแล้วอัพขึ้น YouTube กันดีกว่า ไม่แน่คุณอาจเป็น YouTube Star คนต่อไปก็ได้

 

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook