ปักหมุดจุดประกายความคิดด้วย Pinterest

ปักหมุดจุดประกายความคิดด้วย Pinterest

ปักหมุดจุดประกายความคิดด้วย Pinterest
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ตอนเป็นเด็ก ผมและเพื่อนๆ มักหาเวลาว่างช่วงเสาร์-อาทิตย์เข้าไปรื้อกองนิตยสารและหนังสือต่างๆ ที่แต่ละบ้านมีนำมากองรวมกัน

จากนั้นจะไล่เปิดไปทีละหน้าหารูปที่ตัวเองชื่นชอบตัดออกมา แล้วนำไปทากาแปะเรียงต่อกันไว้เป็นภาพหรือเรื่องราวตามแต่ใจจะนึก แล้วก็นำไปห้อยไว้เหนือหัวเตียงโชว์คนที่บ้าน (ก่อนที่จะโดนดุเพราะทำกองกระดาษรกเต็มบ้านไปหมด :-P)

แนวคิดดังกล่าวได้รับการแปลงโฉมให้เป็นรูปแบบดิจิตอลแล้วด้วย Pinterest เครือข่ายสังคมน้องใหม่มาแรงที่กำลังได้รับการพูดถึงอย่างมาก ด้วยยอดสมาชิกกว่า 10 ล้านราย ภายในระยะเวลาเพียงสองปีนับจากวันเปิดตัว ในขณะที่ Facebook กับ Twitter ทำได้น้อยกว่านั้นครึ่งหนึ่งในระยะเวลาที่เท่ากัน

ด้วยอินเทอร์เฟซที่เรียบง่าย ไม่มีโฆษณามารบกวน (ในตอนนี้) รวมทั้งความสามารถในการแชร์เนื้อหาที่สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว ล้วนมีส่วนช่วยให้ Pinterest เปิดตัวได้อย่างสวยงาม

กว่าจะมาเป็น Pinterest : ย้อนรอยเครือข่ายสังคมออนไลน์ จากบล็อกสู่การปักหมุด
Elad Gil นักลงทุนจาก Silicon Valley และเจ้าของ Mixer Labs บริษัทที่ถูก Twitter ซื้อไปเมื่อไม่นานมานี้ ได้แสดงความเห็นว่า เครือข่ายสังคมออนไลน์ก่อนหน้า Pinterest สามารถแบ่งได้เป็น 3 ยุคหลักด้วยกัน โดยแบ่งตามความยาวของคอนเทนต์ที่ผู้ใช้สร้างขึ้นซึ่งน้อยลงเรื่อยๆ ไล่ไปตั้งแต่

 

กราฟแสดงการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาของสังคมออนไลน์จากบล็อกสู่การปักหมุด

 

- 1999-2004 บล็อกครองเมือง
Gil ได้เริ่มให้ปี 1999 เป็นยุคเริ่มต้นของสังคมออนไลน์เมื่อบริการ Blogger เปิดตัวเป็นครั้งแรกพร้อมกับยุคดอทคอมบูม ในช่วงนั้น คอนเทนต์ที่ผู้ใช้สร้างขึ้นจะเป็นลักษณะบทความขนาดยาวเหมือนตามหนังสือพิมพ์และนิตยสาร ซึ่งเขาได้ให้ความเห็นว่าทำให้มีผู้ผลิตคอนเทนต์น้อย เพราะไม่ใช่ทุกคนจะชอบเขียนอะไรยืดยาว

จึงทำให้สัดส่วนผู้ผลิตคอนเทนต์นั้นคิดเป็น 1 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ใช้ทั้งหมดหรือน้อยกว่า ขณะที่ผู้บริโภคคอนเทนต์นั้นมีถึง 99 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนั้นยังมีปัจจัยภายนอกอื่นที่ทำให้ผู้สร้างคอนเทนต์มีน้อยกว่าที่ควรจะเป็น นั่นคือความเร็วอินเทอร์เน็ตช่วงนั้นที่ยังไม่เข้าสู่ยุคบรอดแบนด์ และอุปกรณ์พกพาประสิทธิภาพสูงยังไม่แพร่หลายเท่าปัจจุบัน

- 2004-2007 เข้าสู่ยุคอัพเดตสถานะ
Twitter และ Facebook ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เราก้าวเข้าสู่ยุคที่สองของเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ลดความจำเป็นในการสร้างเนื้อหาขนาดยาวให้เหลือเพียงการอัพเดตสถานะกับรูปภาพ (Facebook) หรือข้อความสั้น (Twitter) พร้อมฟังก์ชั่นแบ่งปันที่สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งปัจจัยภายนอกอื่น เช่น การบูมของอุปกรณ์พกพา เครือข่ายไร้สายแบบ 3G และราคาอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงตามบ้านที่ถูกลง

- 2007- 2010 ปุ่มเดียวก็สร้างคอนเทนต์ได้
อย่างที่กล่าวไป ลูกเล่นของเครือข่ายสังคมยุคใหม่ที่ทำให้การสร้างเนื้อหาไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไปนั้นก็คือปุ่ม "ไลค์" และ "แชร์" หรือ "รีทวีต" ซึ่งทำให้เราไม่จำเป็นต้องลงแรงพิมพ์ข้อความหรืออัพโหลดรูปโดยตรง เพียงแต่ไปหาสิ่งที่เราสนใจแล้วนำมาแบ่งปันให้ผองเพื่อนบนเครือข่ายให้ได้รับทราบก็พอ

ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ก็ได้เกิดบริการ Tumblr (2007) ที่เป็นการผสมรูปแบบการสร้างเนื้อหาเก่าอย่างการเขียนบล็อก เข้ากันกับฟังก์ชั่นการแชร์ของเครือข่ายสังคมออนไลน์ยุคใหม่ ก่อให้เกิดเป็นลูกเล่น "รีบล็อก" (Reblog) ที่ผู้ใช้ไม่ต้องเขียนบล็อกโดยตรง แต่ไปนำบล็อกของคนอื่นมาโพสต์ลงบนโปรไฟล์ของตนด้วยการกดปุ่มเพียงครั้งเดียว

ก่อให้เกิดยุคการคัดกรองเนื้อหา (Content Curation) ที่ผู้ใช้แทบไม่ต้องลงแรงทำอะไร เพียงแค่ไปหาเนื้อหาตามที่เราสนใจ และแบ่งปันกระจายให้คนอื่นรับรู้

 

 Tumblr มีปุ่ม "รีบล็อก" ที่ทำให้เราสามารถนำเนื้อหาของคนอื่นมาแปะไว้ในโปรไฟล์ของเราได้


- 2010-ปัจจุบัน จัดเรียงเนื้อหาเป็นเซ็ต ขอต้อนรับเข้าสู่สังคมออนไลน์แบบใหม่
Gil ให้ความเห็นว่า เครือข่ายสังคมออนไลน์ในยุคปัจจุบันที่ผู้ใช้สามารถแบ่งปันเนื้อหาได้อย่างไร้ขีดจำกัดนั้น สามารถแบ่งออกเป็นสองประเภทตามรูปแบบการแสดงผล นั่นคือแบบสตรีม และแบบเป็นเซ็ต

โดยในแบบแรกนั้นเนื้อหาจะถูกจัดเรียงตามลำดับเวลาจากใหม่ไปหาเก่าไล่เรียงลงมาเหมือนกับการแสดงผลบล็อกแบบดั้งเดิม ตัวอย่างเช่น Timeline ของ Facebook ส่วนอีกรูปแบบหนึ่งคือ การจัดกลุ่มเป็นเซ็ตหรือคอลเล็กชั่นตามแต่ผู้ใช้สนใจ ซึ่งมีข้อได้เปรียบคือ ผู้ใช้สามารถค้นเนื้อหาที่ต้องการได้ง่าย และสามารถแบ่งปันได้อย่างสะดวก ตัวอย่างนอกจาก Pinterest ก็คือ Snip.It (2011) ที่เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นข่าวสารบ้านเมือง และ Storify (2011) ที่ผู้ใช้สามารถสร้างเรื่องราวของข่าวได้จาก Twitter

Pinterest ปักหมุด (Pin) ทุกเรื่องที่สนใจ (Interest)
กล่าวให้เข้าใจง่ายๆ คือ Pinterest เป็นเหมือนกับสมุดปิดภาพ (Scrapbook) ออนไลน์ ที่ผู้ใช้สามารถสร้างเนื้อหาซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาพขึ้นมาได้โดยดึงมาจากเว็บไซต์ต่างๆ อาจเป็นสกรีนช็อตของเกมที่ชื่นชอบ ดีไซน์แบบห้องสุดเก๋ หรือทรงผมสุดแนว เหมือนกับเวลาเราตัดปะภาพจากนิตยสารนั่นเอง

ตอนนี้ Pinterest ยังไม่เปิดให้ใช้บริการอย่างสมบูรณ์ ผู้สนใจต้องเรียกหา Invite โดยตรงจากเว็บไซต์หรือผู้ที่ใช้งานอยู่แล้วเท่านั้น เมื่อได้รับคำเชิญให้เข้าร่วมก็ดำเนินการลงทะเบียนไปตามขั้นตอนปกติ โดยสิ่งที่ผู้ใช้ต้องมีคือ บัญชี Facebook หรือ Twitter หลังจากที่ทำตามขั้นตอนต่างๆ เสร็จเรียบร้อย ก็เตรียมตัวสร้างสมุดปิดภาพออนไลน์ตามแบบฉบับของตนได้เลย

แต่ก่อนที่จะดำเนินการใดๆ ระบบจะแนะนำให้เราติดตั้งปุ่ม "Pin It" ลงบนบุ๊กมาร์กบาร์ด้านบนเสียก่อน เพื่อที่เราจะได้ปักหมุดภาพจากหน้าเว็บฯ ได้โดยง่าย จากนั้นเราก็เพียงกดปุ่มนี้เพื่อเลือกภาพที่ต้องการในหน้าเว็บฯ ใส่คำบรรยายภาพสั้นๆ เลือกบอร์ดที่ต้องการปักหมุดลงไป เท่านี้ก็เสร็จสิ้นกระบวนการ ไม่ต้องเสียเวลาลงมือตัดกระดาษเหมือนสมัยเด็กๆ อีกต่อไป

นอกจากระบบปักหมุดภาพที่ทำออกมาใช้งานง่ายแล้ว "บอร์ด" (Board) ก็เป็นอีกฟีเจอร์หนึ่งที่เป็นจุดเด่นของ Pinterest เพราะจะเป็นเหมือนกับกระดานที่บรรจุภาพเฉพาะเรื่องตามที่เรากำหนด ซึ่งทำให้เราเพลิดเพลินไปกับการสำรวจเรื่องราวและสิ่งที่คนอื่นชื่นชอบ หัวข้อที่มีให้ก็หลากหลายไม่มีที่สิ้นสุด เช่น สถานที่ที่ต้องไปให้ได้ก่อนตาย ของเล่นไฮเทคสุดล้ำ เคสมือถือสุดเก๋ เสื้อผ้าวินเทจสุดแนว หรือคอลเล็กชั่นรถสุดหรู สุดแล้วแต่จินตนาการของผู้ใช้

ขึ้นชื่อว่าเป็นเครือข่ายสังคมแล้วจะขาดฟีเจอร์ด้านการแบ่งปันก็เห็นจะไม่ได้ และ Pinterest ก็มีมาให้อย่างครบถ้วน เริ่มจาก "รีพิน" (Repin) ซึ่งทำหน้าที่เหมือนกับ "รีทวีต" ของ Twitter หรือ "รีบล็อก" ของ Tumblr นั่นคือเป็นการโพสต์ภาพที่คนอื่นปักหมุดไว้ และหากเราชื่นชอบ "นักปักหมุด" (Pinner) คนใดก็สามารถ "ติดตาม" (Follow) ได้ด้วยการกดปุ่มเดียว

โดยจะติดตามบอร์ดภาพทั้งหมดของยูสเซอร์รายนั้น หรือจะเลือกติดตามเฉพาะบอร์ดใดบอร์ดหนึ่งก็ได้ นอกจากนั้นเรายังสามารถกด "ไลค์" หรือแสดงความเห็นภาพต่างๆ ได้อย่างในเครือข่ายสังคมทั่วไปอีกด้วย ที่น่าสนใจคือเราสามารถสร้างบอร์ดเฉพาะที่อนุญาตให้ผู้ใช้รายอื่นเข้ามาปักหมุดภาพได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์มากในการทำงานกลุ่มหรือวางแผนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเสนอสถานที่ท่องเที่ยวระหว่างหมู่เพื่อนในช่วงหน้าร้อน หรือเตรียมเลือกเฟ้นหาไอเท็มสำหรับช้อปปิ้งในกลุ่มสาวๆ เป็นต้น

แล้วทำไมถึงบูมนักหนา?
อินเทอร์เฟซที่เรียบง่าย หน้าตาที่ดูสะอาดสะอ้าน ปราศจากโฆษณาใดๆ มารบกวนนับเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สร้างความโดดเด่นให้กับเครือข่ายสังคมน้องใหม่นี้ นอกจากนั้น อีกปัจจัยหนึ่งที่ Pinterest แตกต่างจากเครือข่ายสังคมรุ่นพี่คือ เนื้อหาที่เราปักหมุดลงไปนั้นไม่ใช่เป็นเพียงการอัพเดตสถานะหรือรายงานสถานการณ์อย่างที่ Facebook กับ Twitter เป็น

แต่หากคือการแสดงออกซึ่งความปรารถนาลึกๆ ภายในที่เราต้องการให้คนอื่นรับรู้ เช่น บอร์ดหนึ่งภายใน Pinterest ของผมนั้นได้สงวนไว้สำหรับกล้องเก่าดีไซน์เก๋ๆ ที่บางรุ่นใช้เวลาตามหาทั้งชีวิตก็ยังอาจจะไม่เจอ ส่วนอีกบอร์ดหนึ่งนั้นก็เก็บไว้สำหรับแบบห้องสวยๆ ไว้เป็นไอเดียแต่งคอนโดอยู่ในอนาคต ความสามารถในการเป็นสมุดปะติดภาพออนไลน์ได้โดยไม่ต้องมีเครือข่ายเพื่อนมากนั้นทำให้ผู้ใช้มือใหม่สามารถกระโจนเข้าไปเล่นได้โดยไม่ต้องกลัวว่าจะต้องมาเสียเวลากดแอดเพื่อนให้เมื่อยมือ

ที่น่าสนใจคือผลสำรวจพบว่า หัวข้อภาพที่ได้รับการติดตามมากที่สุด 3 อันดับแรกคือ แบบที่อยู่อาศัย อาหาร และแฟชั่น สังเกตได้ว่าทั้งหมดต้องอาศัยการสื่อด้วยภาพเป็นสำคัญ ฉะนั้นจึงไม่เป็นที่แปลกใจว่าผู้ใช้ Pinterest ส่วนใหญ่จะเป็นเป็นผู้หญิง และมีอายุราว 25-34 ปี หรือที่เรียกว่ากลุ่ม Young Adult ซึ่งพื้นเพเดิมนั้นไม่ใช่กลุ่ม Early Adopter ที่กล้าทดลองใช้สิ่งแปลกใหม่แต่อย่างใด

การที่ Pinterest สามารถเจาะผู้ใช้ในกลุ่มนี้ได้นับว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดี และยังอาจเป็นช่องทางทำเงินอีกอย่างหนึ่งให้แบรนด์ดังต่างๆ ที่ตอนนี้เริ่มหันมาให้ความสนใจบ้างแล้ว เช่น Etsy.com ตลาดค้าขายของทำมือออนไลน์ชื่อดังที่มีผู้ติดตามใน Pinterest แล้วกว่า 60,000 ราย ที่ได้ใช้คุณสมบัติแสดงราคากับสินค้าของตนที่ถูกปักหมุด ซึ่งหมายความว่า เมื่อใดก็ตามที่ผู้ใช้ปักหมุดภาพสินค้า ระบบจะแสดงแบนเนอร์ราคาพร้อมกับลิงก์กลับไปยังหน้าซื้อ-ขายไอเท็มนั้นๆ ได้เลย พูดง่ายๆ คือทำการแปลงบอร์ดของ Pinterest ให้กลายเป็นแคตตาล็อกสินค้าออนไลน์ที่พ่วงด้วยฟังก์ชั่นแบ่งปันเสร็จสรรพ

 

ชาร์ตแสดงหัวข้อที่มีคนสนใจมากที่สุดใน Pinterest

อย่างไรก็ตาม Pinterest ยังนับว่าใหม่กับวงการสังคมออนไลน์มาก ปัญหาหลักประการแรกที่ยังคงเป็นที่ถกเถียงคือ การละเมิดลิขสิทธิ์ออนไลน์ เพราะระบบเปิดโอกาสให้ผู้ใช้รีโพสต์ภาพใดๆ ก็ได้โดยที่ไม่ต้องขออนุญาตเจ้าของก่อน ข้อถกเถียงที่น่าสนใจคือ จริงอยู่ที่ระบบจะให้เครดิตที่มาพร้อมกับลิงก์กลับไปยังต้นตอได้อัตโนมัติ

แต่ก็เป็นการไม่ถูกต้องที่ระบบจะสต็อกภาพขนาดเต็ม (ไม่ใช่ย่อส่วนเป็น Thumbnail) ไว้ในระบบ ซึ่งถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์เต็มๆ อีกประเด็นหนึ่งก็คือ วิธีการสร้างรายได้จากการให้บริการที่ตอนนี้ยังไม่เป็นรูปเป็นร่างเท่าที่ควร แต่ทางออกที่เป็นไปได้คือ อาจใช้การแสดงโฆษณา (ตามระเบียบ) โดยอิงจากสิ่งที่ผู้ใช้สนใจปักหมุด แต่ก็ต้องทำภายใต้ข้อแม้คือ ต้องไม่ไปบั่นทอนประสบการณ์ใช้งาน หรือรบกวนอินเทอร์เฟซที่ทำได้ดีมากอยู่แล้ว

แทบจะไม่อยากเชื่อเหมือนกันว่า ในโลกออนไลน์ที่ตอนนี้เต็มไปด้วย Facebook, Twitter, Foursquare, LinkedIn, Instagram, Path, Google+, Tumblr, Reddit ฯลฯ จะยังเหลือที่ทางสำหรับเครือข่ายสังคมใหม่อีก เพราะเพียงเท่านี้เราก็กด Follow หรือแชร์กันแทบไม่หวาดไม่ไหวอยู่แล้ว ปัญหาตอนนี้คงไม่ใช่ว่าจะมีที่ทางสำหรับเครือข่ายสังคมออนไลน์ใหม่อีกต่อไปหรือไม่ หากแต่อยู่ที่เราจะสามารถแบ่งเวลาอันมีอยู่เท่าเดิมให้กับมันได้มากน้อยแค่ไหนมากกว่า


Profile นักเขียน
falcon_mach_v-สรนาถ รัตนโรจน์มงคล
จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รหัส 48 ชื่นชอบและติดตามข่าวสารด้านเทคโนโลยีมาตั้งแต่เด็กและบ้าคอมพิวเตอร์มาตั้งแต่จำความได้ แต่เนื่องจากชอบอ่านข่าวและบทความตามเว็บไซต์มากกว่านั่งเขียนโปรแกรมจึงได้ตัดสินใจเรียนด้านนี้ ปัจจุบันประกอบอาชีพรับราชการ และเป็นนักเขียนบทความไอทีอิสระให้กับสื่อต่างๆ

 

 




 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook