วิธีสร้างเงินล้าน รับเกษียณ

วิธีสร้างเงินล้าน รับเกษียณ

วิธีสร้างเงินล้าน รับเกษียณ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การวางแผนเกษียณอายุเพื่อให้มีเงินอย่างเพียงพอและเหมาะสมเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ความผันผวนความไม่แน่นอนมีมากขึ้น ปัจจุบันมีเครื่องมือทางการเงินหลากหลายรูปแบบที่จะช่วยในการลงทุนสร้างเงินล้านได้ไม่ยาก แม้มนุษย์เงินเดือน สำหรับการใช้ชีวิตยามเกษียณอย่างมีความสุข


เพื่อให้การใช้ชีวิตยามเกษียณแบบอยู่ดีมีสุข ควรเตรียมความพร้อมตั้งแต่วันนี้ จะได้ไม่ต้องประสบปัญหาเงินไม่พอใช้ในยามแก่ แต่ก็ไม่ควรตระหนก เพราะในระบบบำนาญของไทยมีการออมที่สร้างรายได้ในยามเกษียณเอาไว้ส่วนหนึ่ง หากทราบว่าในยามเกษียณจะมีแหล่งเงินมากจากไหนและมากเพียงใด จะนำไปสู่การวางแผนให้สามารถใช้ชีวิตยามเกษียณอย่างเป็นสุข
ระบบบำนาญของประเทศไทยในปี 2558 มีการเปลี่ยนแปลงหลายเรื่อง จากการตื่นตัวเรื่องการเงินในวัยเกษียณของภาครัฐที่มากขึ้น นำไปสู่การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบของกองทุนประกันสังคม และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และเพิ่มแหล่งเงินบำนาญเพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงินในระยะยาว


พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับใหม่ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมให้ผู้ประกันตนสามารถทำหนังสือระบุบุคคลผู้มีสิทธิรับเงินบำเหน็จชราภาพไว้ล่วงหน้าได้ โดยมีสิทธิได้รับร่วมกับทายาท หากไม่มีทายาท หรือไม่มีบุคคลที่ทำหนังสือระบุจะให้สิทธิแก่ พี่ น้อง ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา จากเดิมผู้ประกันตนที่ไม่มีทายาท ไม่สามารถทำหนังสือระบุบุคคลผู้มีสิทธิรับเงินบำเหน็จชราภาพไว้ล่วงหน้าได้ โดยเงินบำเหน็จชราภาพจะตกเป็นของกองทุน ขณะเดียวกัน ได้ขยายระยะเวลาการยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนจาก 1 ปี เป็น 2 ปี จากเดิม ระยะเวลาการยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนภายใน 1 ปี


ผลประโยชน์ที่ได้จากกองทุนประกันสังคมในยามเกษียณ จะมาจากเงินสมทบที่ผู้ประกันตนนำส่งประกันสังคม 750 บาททุกเดือน โดยแบ่งเงินจำนวน 300 บาทจะนำเข้ากองทุนเพื่อใช้ในสวัสดิการต่างๆ ขณะที่อีกเงินจำนวน 450 บาทจะนำเข้าไปอยู่ในเงินสมทบชราภาพ ที่จะมีเงินสมทบจากนายจ้างอีก 450 บาท และจากรัฐบาลอีก 225 บาท เท่ากับว่าในแต่ละเดือนจะมีเงินออมเพื่อใช้ในวัยเกษียณแล้ว 1,125 บาท


สิ่งที่ผู้ประกันตนต้องดูคือ การออมแบบไหนได้บำเหน็จการออมแบบไหนได้บำนาญ ซึ่งในกรณีที่จ่ายเงินสมทบไม่ถึง 180 เดือนจะได้รับเป็นเงินบำเหน็จคือจ่ายก้อนเดียวเมื่อเกษียณ แต่หากผู้ประกันตนชำระเกิน 180 เดือนขึ้นไปจะถือเป็นเงินบำนาญภาคบังคับที่จะเป็นการจ่ายรายเดือน โดยการทยอยจ่ายจะคำนวณจากค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย คูณด้วยอัตราบำนาญที่ 20%


เงินบำนาญที่ได้จากกองทุนประกันสังคมขั้นต่ำจะได้ประมาณ 3,000 บาทต่อเดือนไปตลอดชีพ แต่ในกรณีที่มีการออมมากกว่า 180 เดือนจะได้โบนัสเพิ่ม 1.5% ต่อเดือน หรือ 225 บาทต่อเดือน ทำให้รวมกับเงินบำนาญใน 180 เดือนแรก เป็น 3,225 บาทต่อเดือน ซึ่งหากระยะเวลาการทำงานมากกว่า 30 ปีจะได้รับเงินบำนาญ 6,375 บาท จากกองทุนประกันสังคมไปตลอดชีพ


แหล่งเงินทุนเพื่อบำนาญอีกประเภทคือ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งปัจจุบันบริษัทจดทะเบียนในสัดส่วน 70% ของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด เปิดโอกาสให้วัยทำงานออมประเภทนี้อยู่บ้าง และมีความพยายามที่จะส่งเสริมให้เพิ่มขึ้น ซึ่งหากสถานประกอบการรายใดมีกองทุนสำรองอาชีพวัยทำงานก็ควรสมัคร เพราะนอกจากจะได้เงินออมแล้วยังได้รับการยกเว้นภาษีด้วย
ช่องทางในการออมเพื่อใช้ในยามเกษียณล่าสุด คือ กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)ที่เริ่มแล้ว ซึ่งการออมผ่าน กอช.เหมาะกับการออมสำหรับผู้ที่ประกอบวิชาชีพอิสระ ไม่ได้เป็นแรงงานในระบบ หรืออยู่ในประกันสังคมตามมาตรา 40 ก็สามารถออมได้นับว่าเป็นประโยชน์อย่างมาก


นอกจากนี้ การออมเพื่อวัยเกษียณ ยังสามารถออมผ่าน กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ที่จะได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมเพื่อคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามจำนวนที่ลงทุนจริง แต่ไม่เกิน 15 % ของเงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษีเป็นจำนวนเงินสูงสุด 500,000 บาท ซึ่งการเปลี่ยนแปลงจากคำว่า “เงินได้” เป็น “เงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษี” ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อผู้มีเงินได้ เนื่องจากเป็นการแก้ไขไม่ให้นำเงินที่ได้จากการยกเว้นภาษี นำมารวมเป็นฐานเพื่อลดหย่อนได้อีก


ปัจจุบันเงินออมเพื่อการเกษียณที่เกิดขึ้นในภาคบังคับไม่เพียงต่อการดำรงชีพหลังเกษียณ ขณะที่การออมที่รัฐบาลจูงใจด้วยการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ก็เป็นแหล่งเงินยามเกษียณที่เพิ่มคุณภาพชีวิตหลังเกษียณได้อีกส่วนหนึ่ง แต่หากต้องการชีวิตยามเกษียณอย่างมีความสุข มีเงินเพียงพอเหมาะสมกับรูปแบบชีวิตที่ต้องการ ก็ต้องมีการลงทุนเพิ่ม
การลงทุนสำคัญมากต่อการเกษียณ จึงต้องมีการวางแผนว่าจะมีเงินเท่าไรหลังเกษียณ จะใช้เงินเท่าไร ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก โดยส่วนใหญ่มักจะเริ่มช้าไป บางคนอาจมาเริ่มได้เมื่ออายุมากขึ้น เงินก็อาจจะไม่เพียงพอ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา การวางแผนเกษียณ จึงควรต้องระมัดระวังกับการลงทุน ไม่ใช่ระมัดระวังการออมเงิน

การที่จะกำหนดค่าใช้จ่ายของชีวิตหลังเกษียณอย่างมีความสุขและบรรลุเป้าหมายทางการเงินที่ตั้งไว้สำหรับชีวิตหลังวัยเกษียณ มีเทคนิคง่ายๆ เพื่อวางแผนเกษียณให้สำเร็จใน 3 ขั้นตอนคือ ขั้นตอนที่ 1 ตั้งเป้าหมายว่าเงินที่จะมีหลังเกษียณ โดยใช้หลักในการคำนวณ คือ เงินที่ต้องการหลังเกษียณ เท่ากับรายได้ที่ต้องการต่อปี คูณด้วยจำนวนปีที่คาดว่าจะใช้ชีวิตอยู่หลังเกษียณอายุ ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือจำนวนเงินเป้าหมายที่ต้องออมให้ได้ภายในระยะที่กำหนดเพื่อชีวิตที่ดีหลังเกษียณอายุ


ขั้นตอนที่ 2 รู้ว่าต้องออมเงินเพิ่มเท่าไหร่ถึงจะได้ตามเป้าหมาย โดยใช้สูตรที่ว่าเงินที่ต้องการหาเพิ่มเพื่อเกษียณ เท่ากับเงินที่ต้องการหลังอายุเกษียณ ลบด้วยเงินออมจากทุกแหล่งที่มาของรายได้ เพื่อการเกษียณ ผลที่ได้ออกมาคือคำตอบที่ทำให้รู้ว่าต้องออมเงินเพิ่มอีกเท่าไหร่เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายที่ตั้งใจไว้


ขั้นตอนที่ 3 จัดทำแผนการออมการลงทุน เพื่อให้ได้เงินเพิ่มขึ้นตามต้องการ เริ่มจากการจัดทำแผนการเงินให้ชัดเจน เช่น วางแผนออมเงินแต่ละเดือนเพื่อการเกษียณ จากนั้นลงมือปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ต่อด้วยการประเมินแผนการเงินอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อทบทวนว่าเป็นไปตามเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้หรือไม่ หากยังไม่ถึงเป้าหมายก็ให้สำรวจว่ามีส่วนไหนต้องปรับปรุงเพื่อให้ไปถึงเป้าหมายบ้าง เป็นต้น


ติดตามอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในวารสารการเงินธนาคาร ฉบับ 401 ประจำเดือน กันยายน 2558

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook