แบงก์จ่อรีด"ค่าฟี"เคาน์เตอร์ โอดต้นทุนพุ่งดันใช้อีแบงกิ้ง

แบงก์จ่อรีด"ค่าฟี"เคาน์เตอร์ โอดต้นทุนพุ่งดันใช้อีแบงกิ้ง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ธปท.เผยแบงก์ขอเก็บค่าฟีถอนเงินผ่านเคาน์เตอร์ ด้านแบงก์ใหญ่ชี้ต้นทุนบริหารจัดการเงินสดจิปาถะ ระบุรายการใหญ่ต้นทุนค่าบริการ สูงกว่าต้นทุนบริการผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์เกินครึ่ง ฝั่งสมาคมแบงก์เร่งแผนเพิ่มรายการดิจิทัลแบงก์จาก 25 รายการต่อคนต่อปีเป็น 50-60 รายการ ในปี 2562

นางทองอุไร ลิ้มปิติ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เปิดเผยว่า ที่ผ่านมามีสถาบันการเงินบางแห่งเข้ามาหารือกับ ธปท. เพื่อขอเรียกเก็บค่าธรรมเนียม จากการให้บริการเบิกถอนเงินสดกรณีทำธุรกรรมหน้าเคาน์เตอร์ธนาคาร โดยสถาบันการเงินให้เหตุผลว่า เนื่องจากมีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการเงินสดที่ค่อนข้างสูง ไม่ว่าจะเป็นการเก็บเงินสด หรือการบริหารจัดการเงินสดในขั้นตอนต่าง ๆ ซึ่งเป็นต้นทุนของธนาคารพาณิชย์แทบทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นการเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวยังไม่ใช่เรื่องที่สามารถทำได้ในขณะนี้ เนื่องจากการให้บริการด้านอิเล็กทรอนิกส์ด้านการเงินของประเทศ ยังไม่สมบูรณ์ 100% ซึ่งอนาคตหากระบบมีความพร้อมทุกด้านแล้วจึงจะสามารถเรียกเก็บได้

"ที่คุยกันไว้เป็นเรื่องการบริหารจัดการเงินสด เวลาเราเดินไปที่เคาน์เตอร์ให้บริการก็จะเบิก-ถอนเงิน สิ่งเหล่านี้เป็นต้นทุนทั้งนั้น เพราะแบงก์ก็ต้องมีต้นทุนการจ้างพนักงานซึ่งก็ค่อนข้างสูง และต่างประเทศมีการเก็บค่าธรรมเนียมตรงนี้แล้ว เพราะระบบอิเล็กทรอนิกส์เขา 100%" นางทองอุไรกล่าว

ด้านนายธีรนันท์ ศรีหงส์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า โดยทั่วไปธุรกรรมที่เกี่ยวกับเงินสดจะมีต้นทุนในการบริหารจัดการค่อนข้างสูง ทั้งต้นทุนการขนส่ง ต้นทุนการดูแลรักษา ต้นทุนในการสำรองเงินสด การคัดนับ คัดเรียงเบอร์ ค่าเสื่อม การเก็บรักษา ซึ่งมีค่าเฉลี่ยประมาณ 60-80 บาทต่อรายการ หากเป็นรายการใหญ่ฝากเงินเป็นหลักแสนหรือหลักล้านบาท ต้นทุนต่อรายการจะเป็นหลักร้อยบาท

"ต้นทุนการบริการเงินสดเป็นต้นทุนสูงมาก การคิดค่าธรรมเนียมอื่น ๆ ก็ไม่สามารถครอบคลุมค่าใช้จ่ายได้หมด คิดง่าย ๆ แค่การนับเงินแค่ค่าพื้นฐานค่าจ้างคนคูณด้วยเวลาที่ต้องใช้ต่อรายการใหญ่ก็เป็นหลักร้อย ๆ บาท แต่ด้วยโครงสร้างเราไม่มีสิทธิ์ที่จะเก็บค่าธรรมเนียมค่าบริการดังกล่าวเพิ่ม โดย 3-4 ปีที่ผ่านมา แม้ว่ามีลูกค้าจะหันไปใช้บริการผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น แต่การใช้บริการผ่านเคาน์เตอร์ก็ไม่เคยลดลงเลย" นายธีรนันท์กล่าว

อีกด้านสมาคมก็มีนโยบายในการลดการใช้เงินสดลงเช่นกัน ผ่านการหาวิธีการใหม่ ๆ จากช่องทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้ประชาชนมีเครื่องมือในการใช้บริการมากขึ้น เช่น โมบายแบงกิ้ง อินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง บัตรอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ซึ่งหากสามารถลดต้นทุนส่วนนี้ได้ ธนาคารก็มีช่องที่จะปรับลดค่าธรรมเนียมจากช่องทางอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ ได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม หากธนาคารต้องการเข้าไปหารือเรื่องการคิดค่าธรรมเนียมกับ ธปท. ก็ควรหารือกันเป็นแพ็กเกจ ไม่ใช่แค่การหารือเป็นค่าธรรมเนียมรายตัว จากภาพต้นทุนการบริหารจัดการเงินสดดังกล่าวควรมีโซลูชั่นที่เหมาะสมอย่างไร ระบบควรเป็นไปในทิศทางไหน จะนำเงินส่วนไหนมาจัดการระบบ หรือค่าธรรมเนียมตัวไหนควรปรับขึ้น ค่าธรรมเนียมตัวไหนควรปรับลง ตรงไหนไม่ควรคิดค่าบริการ ไม่ควรพิจารณาเป็นรายโปรดักต์ เพราะอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าวัตถุประสงค์ของธนาคารคืออยากได้ค่าธรรมเนียมเพิ่ม

ด้านนายวรภัค ธันยาวงษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า การเก็บค่าธรรมเนียมการให้บริการถอนเงินเป็นสิ่งที่ทำได้ และเป็นสิ่งที่ดี ที่จะสามารถลดต้นทุนของธนาคารลงได้ แต่สิ่งเหล่านี้ต้องพิจารณาให้รอบคอบและระบบเทคโนโลยีก็ต้องสามารถรองรับการให้บริการทางการเงินที่หลากหลายและสะดวกขึ้นด้วย

ขณะที่นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน สายงานบริหารจัดการทางการเงินเพื่อธุรกิจ ธนาคารกรุงไทย กล่าวเสริมว่า ขณะนี้ธนาคารยังไม่ได้มีแนวคิดที่จะเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าว แม้ต้นทุนจะอยู่ในระดับที่สูงมากและไม่สามารถนำไปฝากหรือลงทุนเพื่อให้ผลิดอกออกผลได้ ตอนนี้สิ่งที่คิดค่าธรรมเนียมได้มาจากการกดเงินจากเอทีเอ็ม/เดบิตเป็นหลัก ทั้งการถอนเงินต่างแบงก์ในเขตจะคิดค่าธรรมเนียม

ในครั้งที่ 5 ถอนเงินต่างแบงก์ข้ามเขตคิดค่าธรรมเนียมในครั้งแรกที่ 20 บาท/รายการ ถอนเงินแบงก์เดียวกันข้ามเขตคิด 15 บาท/รายการ แต่การถอนเงินจากเคาน์เตอร์จากแบงก์เดียวกัน เขตเดียวกัน ไม่ได้คิดค่าธรรมเนียม เพราะถือเป็นการอำนวยความสะดวกให้ลูกค้า

นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า เพื่อเป็นการลดต้นทุนการบริหารจัดการเงินสด ที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์จึงพยายามบริหารจัดการต้นทุนภายในของตัวเองผ่านการพัฒนาช่องทางการให้บริการผ่านอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น และที่ผ่านมาลูกค้าก็เข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ

ทั้งนี้ การลดต้นทุนการชำระเงินถือเป็น 1 ใน 5 ยุทธศาสตร์สำคัญที่สมาคมธนาคารไทย ตั้งเป้าหมายผลงาน (KPI) ไว้ 2 เรื่อง คือ การเพิ่มจำนวนการทำธุรกรรมที่ไม่ใช่เงินสดของประชาชน จากระดับ 25 รายการต่อคนต่อปี เพิ่มเป็น 50-60 รายการต่อคนต่อปี และเพิ่มมูลค่าการทำธุรกรรมชำระเงินจาก 30% เป็น 60-70% ต่อคนต่อปี ภายในปี 2562

"แผนยุทธศาสตร์ 5 ปีของสมาคม จะทำให้ระบบการชำระเงิน และดิจิทัลแบงกิ้งมีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ หากทำได้จะช่วยลดต้นทุนของภาคธุรกิจในการบริหารเงินสดได้กว่า 100,000 ล้านบาท

หรือ 1% ของจีดีพี และหากรวมกับภาคประชาชนด้วย น่าจะมีต้นทุนอยู่ที่ประมาณ 2-3% ของจีดีพี ถือเป็นความล้าหลังของระบบชำระเงินของไทย และเป็น Cash Society อย่างแท้จริง ดังนั้นถ้าสามารถทำให้ต้นทุนของแบงก์ปรับลดลงได้ ก็น่าจะทำให้ค่าธรรมเนียมบริการผ่านช่องทางดิจิทัลปรับลดลงได้ด้วย แต่ก็ต้องแก้ไขกฎหมายต่าง ๆ จำนวนมาก"

ขณะที่นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า โครงสร้างทางการเงินของธนาคารในปัจจุบันไม่ได้มาจากการปล่อยกู้อย่างเดียว เพราะธนาคารไม่สามารถพึ่งพาการปล่อยสินเชื่อเพียงด้านเดียวได้อีกต่อไป โดยเฉพาะในยามที่การเติบโตทางเศรษฐกิจตกต่ำ หากไม่มีรายได้ค่าธรรมเนียมเข้ามาช่วยก็อาจทำให้กำไรสุทธิไม่เติบโตได้มากนัก

"ถ้าไม่มีรายได้ค่าฟีเข้ามาอย่างเป็นกอบเป็นกำก็คงไม่ทำให้ผลประกอบการที่ดี ต่อไปแบงก์ก็คงจะหันมาเน้นรายได้ค่าธรรมเนียมเป็นหลักอีกตัว ซึ่งเมื่อก่อนมีไม่ได้มาก ส่วนนักลงทุนก็ไม่อยากให้แบงก์ปล่อยกู้จนเกินตัวด้วย เพราะการพึ่งพารายได้จากการกู้ก็มาพร้อมกับความเสี่ยง แต่แบงก์ก็ต้องเพิ่มการบริการที่ดีและมีบริการใหม่ ๆ มาให้ลูกค้าได้ใช้" นายบัณฑูรกล่าว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook