เริ่มทำงานก็เริ่มรวย ตอน ครั้งแรกกับการทำงาน

เริ่มทำงานก็เริ่มรวย ตอน ครั้งแรกกับการทำงาน

เริ่มทำงานก็เริ่มรวย ตอน ครั้งแรกกับการทำงาน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“เป็นอิสระแล้วโว้ยยยย…”

นี่คงเป็นความรู้สึกแรกของนักศึกษาที่ก้าวเท้าออกจากมหาวิทยาลัยพร้อมกับใบปริญญาที่ปลุกปั้นมานานกว่า 4 ปี (หรือบางคนอาจจะนานกว่านั้น) บางคนก็อยากจะตะโกนบอกฟ้าให้ดังทะลุถึงหูพระอินทร์ที่เราเคยเข้าเฝ้าตอนเรียนบ่อยๆ ว่า

“เย่ๆๆๆ ไม่ต้องเรียน ไม่ต้องท่องหนังสือ ไม่ต้องทำรายงานแล้ว!!!”

มันช่างเป็นอารมณ์ที่โล่งอย่างมาก เพราะเราได้คว้าใบปริญญามาเพื่อให้พ่อแม่ได้ปลื้มปริ่มเรียบร้อยแล้ว…
ว่าแต่…ชีวิตมันจบลงแค่นี้จริงหรือ?

หลายๆ คนคิดแบบนี้ แต่จริงๆ แล้วการเรียนจบในรั้วมหาวิทยาลัยไม่ใช่จุบจบ แต่คือ “จุดเริ่มต้น” สิ่งใหม่ต่างหากล่ะ!

แม้โลกของการเรียนในห้องเรียนจบลงแล้วก็จริง แต่การเรียนรู้โลกกว้างกำลังจะเริ่มต้นขึ้น ซึ่งเป็นโลกของ “ชีวิตจริง” ที่ไม่มีเขียนไว้ในตำราเตรียมสอบ หรือคู่มือการเรียนเป็นสเต็ปๆ ว่าเราควรจะทำอะไรก่อนหลัง เพราะโลก “ความเป็นจริง” เป็นโลกที่เราต้องออกแบบชีวิตของตัวเอง และยากกว่าการเรียนจากในตำราหลายเท่า

ถ้าจะแนะนำวิธีเริ่มต้นแบบกำปั้นทุบดินก็อยากจะบอกว่า “ทำอะไรก็ได้ที่อยากจะทำ เดี๋ยวเราจะเจอทางที่ใช่เอง” เราก็ใช้วิธีนี้เหมือนกัน ลองทำดูว่าอะไรที่เราพอทำได้ ก็ลองทำเลย ถ้าทำไม่ได้เราจะค่อยๆปรับจนกระทั่งทำได้ในที่สุด ลองคิดอีกมุมหนึ่ง หากเรามัวแต่ “ฝัน” แต่ไม่เคยลงมือทำ ความฝันมันนั้นก็จะกลายเป็นแค่เรื่อง “เฟ้อฝัน”

ระหว่างที่กำลังตามหาว่าอะไรคือความฝันหรือสิ่งที่ใช่สำหรับชีวิตหากนั่งคิดเฉยๆ อยู่บ้านคงไม่ดีแน่ๆ เพราะเราต่างก็ต้องมีค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวัน หากเรียนจบแล้วต้องมาแบมือขอเงินพ่อแม่อยู่ฝ่ายเดียวคงดูไม่น่ารักสักเท่าไร

โลกการทำงานในอุดมคติที่คิดไว้อาจจะแตกต่างกับเรื่องจริงที่เจอ หลายคนอาจจะเจอประมาณนี้

เรียนเก่งขนาดนี้ทำไมให้เงินเดือนแค่นี้อ่ะ แค่ไม่มีประสบการณ์การทำงานเนี่ยนะ
งานก็มั่นคงดีนะ แต่ดั๊นไปเจอเพื่อนร่วมงานจอมอู้ ทำให้การทำงานไม่น่ารื่นรมย์สักเท่าไหร่
เพื่อนรวมงานดีมากๆ ติดอยู่อย่างเดียวเงินเดือนน้อยไปนิสนึง บุพการีไม่ปลื้ม
รายได้ดี๊ดี เพื่อนร่วมงานสนุกสนานบรรยากาศน่าทำงานสุดๆ แต่งานไม่ท้าทาย ก็ทำให้ชีวิตไร้สีสัน

เมื่อเจอสารพัดปัญหาแบบนี้ สุดท้ายคนเริ่มทำงานก็มาจบที่ความคิดว่า “ต้องลาออก!!” พร้อมกับเหตุผลมากมายเพื่อมาสนับสนุนความคิดนั้น เช่น ลาออกดีกว่า ไม่รู้จะทนไปทำไม ไปหางานอื่นทำดีกว่า สังคมการทำงานน่าจะดีกว่าที่นี่เยอะ ไปหางานที่เงินเดือนสูงเหมาะกับความสามารถของเราทำดีกว่า ไปตามความฝันเป็นศิลปินติ๊สแตก (อันนี้ตัวเราเอง) ไปหาอย่างอื่นที่ทำให้รวยเร็วกว่านี้ดีกว่า ไปเป็นนายตัวเองดีกว่าจะได้ไม่ถูกกดดันจากหัวหน้า ฯลฯ

ช้าก่อน!! ท่านทั้งหลาย การลาออกนั้นไม่ใช่คำตอบสุดท้ายเสมอไป เพราะบางครั้งเราอาจจะไปเจอที่ทำงานใหม่ที่ดีกว่าเดิมหรืออาจจะโหดร้ายหรือหนักหนาสาหัสกว่าที่ทำงานเดิมก็ได้ เมื่อเราปรับตัวกับสภาพแวดล้อมไม่ได้ เราก็ต้องหันมาปรับมุมมองตนเองเพื่อหาสิ่งดีๆ ที่อยู่ตรงหน้าแทน

5 ทัศนคติ “สร้างคุณค่า” จากงานที่ “ไม่ชอบ”

1. ความรับผิดชอบ
⇒ เลือกงานไม่ได้เพราะที่บ้านมีภาระต้องเลี้ยงดูหลายชีวิต ซึ่งงานปัจจุบันมีรายได้เพียงพอที่จะเลี้ยงตัวเองและครอบครัวให้อยู่สบาย เมื่อครอบครัวอยู่รอดแล้วเราค่อยหาโอกาสทำตามความฝันของเราได้อย่างหมดห่วง

2. มองหาโอกาส
⇒ มองหาโอกาสว่างานปัจจุบันทำให้เรามีการเติบโตมากหรือน้อยแค่ไหน ถ้ามีโอกาสไปได้อีกไกล เราเพียงขยันทำงานแล้วหมั่นสร้างคุณค่าให้ตัวเองเพื่อไปถึงตำแหน่งงานที่หวังไว้ได้เร็วที่สุด

3. Connection
⇒ งานปัจจุบันทำให้เรารู้จักคนมากขึ้นเพื่อสร้างเป็น Connection ไปต่อยอดธุรกิจในฝันของเราในอนาคต

4.ค้นหา
⇒ การทำงานจะทำให้เราค้นหาตัวเองได้ว่าชอบและไม่ชอบอะไร บางครั้งเราอาจจะได้ทำงานที่รู้สึกไม่ชอบ แต่พอทำนานๆ ไปอาจจะกลายเป็นสิ่งที่เรารักและอยู่กับมันไปตลอดชีวิตก็ได้ หรือหากไม่ชอบงานนั้นจริงๆ ได้กลับมานั่งทบทวนตัวเองเพื่อตามหาสิ่งที่ใช่และชอบต่อไป

5. อย่าหยุดนิ่ง
⇒ สร้างความแตกต่างด้วยการพัฒนาความรู้ สร้างความสามารถให้โดดเด่นกว่าคนอื่น เราเชื่อว่าความรู้เรียนทันกันหมดเพราะศึกษาได้ในโลกออนไลน์ ความรู้ใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา ถ้าเรียนรู้ได้ก่อนและเชี่ยวชาญกว่าคนอื่นก็จะได้เปรียบจนเรากลายเป็น “ผู้เลือก” แทนการเป็น “ผู้ถูกเลือก”

การเริ่มต้นทำงานของน้องจบใหม่อาจจะไม่สวยหรูอย่างที่วาดฝันไว้เพราะต้องเจอกับอุปสรรคหลายอย่างที่ไม่เป็นอย่างที่คิดแม้ว่าตอนแรกอาจจะทนไม่ได้ แต่ถ้าเรามองโลกอย่างเข้าใจผู้อื่นแล้ว เราก็จะมีชีวิตการทำงานที่สงบสุข

แนวคิดข้างต้นเป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัวเพื่อให้ผู้ที่ต้องทนทำงานที่ไม่ชอบได้เห็นมุมมองที่ดีของการทำงาน ซึ่งผู้อ่านควรนำไปปรับใช้กับประสบการณ์ทำงานส่วนตัวเพื่อให้ใช้ชีวิตการทำงานได้อย่างมีความสุขนะจ๊ะ

“ในบางครั้งเราอาจจะต้องทนทำงานที่ไม่ชอบ เพื่อได้เงินไปทำสิ่งที่ชอบในอนาคต”

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook