ชาวตรังแห่จับปลิงขายพ่อค้ามาเลฯโลละ 3 พัน

ชาวตรังแห่จับปลิงขายพ่อค้ามาเลฯโลละ 3 พัน

ชาวตรังแห่จับปลิงขายพ่อค้ามาเลฯโลละ 3 พัน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ชาวเกาะลิบง เมืองตรัง แห่จับปลิงทะเลขาย พ่อค้าชาวมาเลเซียรับซื้อไม่อั้น เผยตลาดมาเลเซียและอินโดนีเซียต้องการเพียบ สนนราคากิโลกรัมละ 3,500 บาท ชาวบ้านพอใจรายได้ชดเชยยางพาราตกต่ำ

นายประชุม เจริญฤทธิ์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่าหลังราคายางพาราตกต่ำ ทำให้ชาวบ้านบนเกาะลิบง ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรังต่างหันไปหาอาชีพเสริมเพื่อสร้างรายได้ทดแทนราคายางพาราและปาล์มน้ำมัน ซึ่งที่เกาะลิบง มีปลิงทะเลอาศัยอยู่อย่างชุกชุม ซึ่งตนได้มองเห็นโอกาสสร้างงานและสร้างเงินให้กับชุมชนจึงติดต่อพ่อค้ารับซื้อปลิงทะเลชาวมาเลเซียให้รับไปส่งขายยังประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย ในราคากิโลกรัมละ 2,500-3,500 บาท

นายประชุม เปิดเผยว่า ทั้งนี้ได้เปิดรับซื้อปลิงทะเลจากชาวบ้านที่หาได้บริเวณรอบเกาะลิบงในช่วงที่มีน้ำลงต่ำสุด ในราคาตัวละ 30-70 บาทซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกปลิงทะเลน้ำหนัก 1-2 กรัม จากนั้นจึงนำมาเลี้ยงต่ออีก 6-8 เดือนจึงจะได้ปลิงทะเลที่มีน้ำหนัก 8-10 กรัม นำมาตากแห้งก่อนส่งขายให้กับพ่อค้าชาวมาเลเซียซึ่งจะมารับซื้อถึงที่ปีละ 1-2 ครั้ง ทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้นคนละ 300-500 บาทต่อวัน

"ขณะนี้ที่แหล่งรับซื้อรายใหญ่บนเกาะลิบง มีปลิงทะเลมากกว่า 700 ตัว สามารถนำไปทำอาหารได้หลากหลายเมนู และยังเป็นยาบำรุงกำลังซึ่งชาวจีนนิยมรับประทานกันเป็นจำนวนมาก ผมรับซื้อมาประมาณ 1 ปีแล้ว เนื่องจากปัญหาราคายางตกต่ำทำให้ต้องหาอาชีพเสริมให้กับชาวบ้าน ประกอบกับที่เกาะลิบงมีปลิงทะเลอยู่เป็นจำนวนมากตั้งแต่จ.ระนอง ถึง จ.สตูล พบปลิงทะเลมากที่สุดใน 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง" นายประชุม กล่าว

นายประชุมกล่าวต่อว่า ดังนั้นทุกวันนี้ตนจึงส่งเสริมให้ชาวบ้านออกไปจับปลิงทะเลมาขาย โดยตนจะรับซื้อเป็นตัว ราคาจะมากน้อยก็ขึ้นอยู่กับขนาด และเลี้ยงไปจนมีน้ำหนักเกือบ 1 กิโลกรัมต่อตัว จึงนำไปตากแห้งแล้วส่งขายให้กับพ่อค้าชาวมาเลเซียอีกทีหนึ่ง ซึ่งเขาจะรับซื้อไม่อั้น ทำให้ขณะนี้ชาวบ้านพอที่จะมีรายได้มาจุนเจือครอบครัวได้อีกทางหนึ่ง ชดเชยจากราคายางพาราที่ตกต่ำได้ในระดับที่น่าพอใจ ทั้งนี้การจับปลิงทะเลมาเลี้ยงก็ไม่ยุ่งยาก เนื่องจากปลิงทะเลจะดักจับกินแพลงตอนและสาหร่ายที่มากับน้ำเป็นอาหาร ทำให้ไม่มีต้นทุนในการเพาะเลี้ยงแต่อย่างใด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook