ยักษ์อีคอมเมิร์ซ "อาลีบาบา" เจาะSMEsไทย

ยักษ์อีคอมเมิร์ซ "อาลีบาบา" เจาะSMEsไทย

ยักษ์อีคอมเมิร์ซ "อาลีบาบา" เจาะSMEsไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ยักษ์อีคอมเมิร์ซแดนมังกร "อาลีบาบา" ได้ฤกษ์บุกไทย ตั้ง "เรดดี้แพลนเน็ต" รับหน้าที่ "รีเซลเลอร์" เดินหน้าขยายลูกค้าเอสเอ็มอี มั่นใจยอดผู้ใช้โตก้าวกระโดด แค่ มี.ค.ปีนี้เทียบปีที่แล้วโต 42% พร้อมขยายบริการตอบโจทย์คอนซูเมอร์ผ่าน "aliexpress.com"


นายโทมัส โฮ ผู้จัดการประจำประเทศไทย ฝ่ายพัฒนาธุรกิจระดับโลก อาลีบาบาดอทคอม กล่าวว่า การซื้อขายสินค้าบนโลกออนไลน์ในประเทศไทยมีอัตราการเติบโตรวดเร็วจากการใช้งานอินเทอร์เน็ตต่อประชากรที่สูงขึ้นและความเชื่อมั่นในการซื้อขายสินค้าเพิ่มขึ้นเช่นกันจึงเป็นพื้นที่ตลาดเกิดใหม่ที่น่าเข้าไปลงทุนทำให้เข้ามาหาตัวแทนในไทยหลังจากเตรียมความพร้อมด้วยการจัดอบรมการใช้งานและเป็นพาร์ตเนอร์กับสถาบันการเงินแล้ว

"เราเริ่มเข้ามาในไทยปีที่แล้ว แต่ไม่ได้มาแบบเต็มตัว ต้องการสร้างพื้นฐานธุรกิจให้มั่นคงก่อนจึงร่วมกับออร์แกไนเซอร์เพื่อให้เอสเอ็มอีเข้าใจการขายสินค้าออนไลน์และเซ็นสัญญากับธนาคารกสิกรไทยอำนวยความสะดวกด้านการชำระเงินมีการทำออนไลน์มาร์เก็ตตามเว็บไซต์บ้างมีผู้ใช้ในไทยสิ้นปี2557ที่ 5.7 แสนราย เกือบทั้งหมดลงทะเบียนเป็นผู้ซื้อ ส่วนผู้ขายน้อยกว่าเทียบ มี.ค.ปีที่แล้วกับปีนี้ผู้ใช้ในไทยเพิ่มขึ้น 42%"

ล่าสุดได้แต่งตั้งบริษัท เรดดี้แพลนเน็ต จำกัด ผู้ให้บริการเว็บไซต์สำเร็จรูป และการตลาดออนไลน์เป็นตัวแทนจำหน่าย และทำตลาดผลิตภัณฑ์ของบริษัทรายเดียวในประเทศไทย โดยรูปแบบนี้เริ่มเมื่อ 5 ปีก่อน ในตุรกี มาเลเซีย และเวียดนาม เป็นต้น ที่ไม่เข้ามาทำตลาดเองเพราะในแต่ละประเทศมีความเฉพาะตัวทั้งวัฒนธรรมและพฤติกรรมผู้ซื้อ-ผู้ขาย ซึ่งผู้ประกอบการท้องถิ่นเหมาะสมกว่า

การเลือกเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยเต็มตัว เพราะเป็นจีดีพีของประเทศมาจากการส่งออกสินค้ากว่า 65% มีผู้ประกอบการจดทะเบียนส่งออกสินค้า 15,000 ราย และมีเอสเอ็มอี 2.7 ล้านราย ตรงกับเป้าหมายของบริษัทที่ต้องการเปิดโอกาสให้ผู้ทำธุรกิจส่งออกจำหน่ายสินค้าผ่านเว็บไซต์ www.alibaba.com ที่มีผู้ใช้กว่า 36 ล้านไอดี ให้บริการใน 240 ประเทศ โดยกลุ่มสินค้าไทยที่น่าจะจำหน่ายได้ดีคือ อาหารและเครื่องดื่ม, สินค้าเกษตร, เครื่องแต่งกายและเครื่องสำอาง

"ลูกค้าที่ซื้อของผ่านอาลีบาบากระจายไปทั่วโลก เราวางโพซิชั่นและระบบเว็บไซต์ให้เป็นศูนย์รวมการซื้อขายระหว่างธุรกิจกับธุรกิจ (B2B) ทำให้ฐานข้อมูลสินค้าใหญ่ที่สุดในโลก มีสินค้าให้เลือกซื้อกว่า 40 ประเภท เป้าหมายระยะสั้นในไทย คือ สร้างแบรนด์ให้เป็นที่จดจำได้มากขึ้น ผ่านการจัดอบรมอีคอมเมิร์ซอย่างต่อเนื่อง ในระยะยาวต้องการเป็นเครื่องมือหลักในการขายสินค้าอีคอมเมิร์ซ พร้อมกับต้องการมีผู้ใช้เพิ่มขึ้น 100% ทุก 5 ปีเหมือนมาเลเซีย"

และในอนาคตมีแผนนำระบบ B2C ผ่านเว็บไซต์ www.aliexpress.com เข้ามาทำตลาดเพิ่มเติม เพื่อตอบโจทย์การซื้อสินค้าของผู้บริโภค แต่ปีนี้จะเน้น B2B ก่อน ปัจจุบันมีหน้าเว็บไซต์ thai.alibaba.com เป็นหน้าแปลสินค้าจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย และ th.alibaba.com เป็นเว็บไซต์ให้ความรู้ด้านอีคอมเมิร์ซ แต่ไม่มีการซื้อขายผ่านหน้าเว็บไซต์

"เรายังไม่มีแผนตั้งสำนักงานในไทยในขณะนี้ เพราะต้องการให้คู่ค้าช่วยทำตลาดเต็มที่ สำนักงานหลักจะอยู่ที่ฮ่องกง, ไต้หวัน, สหรัฐอเมริกา, อังกฤษ, สิงคโปร์ และจีน"

ด้านนายบุรินทร์ เกล็ดมณี ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เรดดี้แพลนเน็ต จำกัด กล่าวว่า การซื้อขายสินค้าผ่านเว็บไซต์อาลีบาบาทำได้ฟรี แต่เพื่อให้การขายมีประสิทธิภาพขึ้นจึงสร้างระบบ Global Gold Suppliers (GGS) ทำให้สินค้าที่ขายขึ้นไปอยู่ในพื้นที่ส่วนบนของเว็บ และสร้างความน่าเชื่อถือให้ผู้ซื้อ มีค่าใช้จ่ายต่อปี 1,399 เหรียญสหรัฐ ส่วนนี้เป็นรายได้ของอาลีบาบา ทำให้รายได้ของบริษัทมีโอกาสเติบโต 50% เทียบปีที่ผ่านมาแต่ไม่สามารถเปิดเผยมูลค่าได้ แบ่งเป็นจากบริการสร้างเว็บไซต์ 30%, การทำตลาดออนไลน์ (รวมบริการของอาลีบาบา)50%, ฝึกอบรม 5% และให้บริการกับองค์กรขนาดใหญ่ 15%

"บริษัทมีลูกค้าอยู่ 16,000 ราย คาดว่าประมาณ 10% จะขยับมาใช้อาลีบาบาเพิ่มเติม เพราะลูกค้ากลุ่มนี้เป็นเอสเอ็มอีที่มีผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำไปขายในตลาดโลกได้"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook