ส.อ.ท.มองปี60ใช้แรงงานเพิ่มถึง681,000คน

ส.อ.ท.มองปี60ใช้แรงงานเพิ่มถึง681,000คน

ส.อ.ท.มองปี60ใช้แรงงานเพิ่มถึง681,000คน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ส.อ.ท. ชี้ อุตสาหกรรมสิ่งทอ อิเล็กทรอนิกส์ ก่อสร้าง ขาดแคลนแรงงานมากสูงสุด มองปี 2560 ใช้แรงงานเพิ่มถึง 681,000 คน แนะรัฐทำแผนแรงงานต่างด้าวชัดเจน ไม่ให้กระทบแรงงานในประเทศ

นายสุชาติ จันทรานาคราช รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ด้านแรงงาน เปิดเผยถึงภาวะแรงงานในปัจจุบันว่า  ธุรกิจที่ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม เครื่องหนัง เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก และก่อสร้าง

ทั้งนี้ ส.อ.ท. คาดว่า ในปี 2560 ภาคอุตสาหกรรมจะต้องใช้แรงงานประมาณ 4,080,000 ล้านคน เพิ่มขึ้น 681,000 คน จากปี 2556 หรือเพิ่มขึ้น ร้อยละ 5 ต่อปี ซึ่งส่วนใหญ่ต้องการแรงงานระดับการศึกษาต่ำกว่ามัธยม 6 มากที่สุด มีสัดส่วน ร้อยละ 11.64 รองลงมาเป็นระดับ ปวช. และ ปวส. ร้อยละ 5.86 และปริญญาตรี ร้อยละ 2.55 ทำให้อาจมีแนวโน้มขาดแคลนแรงงานระดับอาชีวเพิ่มขึ้นจากการไปประกอบอาชีพอิสระกันมากขึ้น รวมทั้งแรงงานยังขาดศักยภาพด้านภาษา ไอที การคำนวณ ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม

โดยจากการสำรวจของ International Institute for Management Development (IMD) ในปี 2557 พบว่าผลิตภาพแรงงานไทยอยู่ในอันดับที่ 57 ของโลก ขณะที่คุณภาพด้านการศึกษาไทยอยู่อันดับต่ำกว่าประเทศคู่แข่งมาก

นอกจากนี้ จากปัญหาขาดแคลนแรงงานที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ทำให้ประเทศไทยมีความจำเป็นในการพึ่งพาแรงงานต่างด้าวต่อไป แต่ทั้งนี้ รัฐบาลควรต้องมียุทธศาสตร์แรงงานต่างด้าวที่ชัดเจน โดยกำหนดจำนวนแรงงานต่างด้าวอย่างชัดเจนว่าควรมีสัดส่วนเท่าไรเมื่อเทียบกับแรงงานไทย เพื่อให้พึ่งพาแรงงานต่างด้าวในอัตราที่เหมาสะสม และไม่กระทบต่อแรงงานภายในประเทศ และความมั่นคง

รวมทั้งจัดทำข้อมูลแรงงานต่างด้าวแต่ละประเภท เพื่อใช้พยากรณ์ความต้องการแรงงานต่างด้าวในอนาคต อีกทั้งควรเพิ่มผลิตภาพแรงงานให้มีจำนวนเครื่องจักรต่อแรงงานมากขึ้น พัฒนาเทคโนโลยี เร่งพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานในภาคการเกษตรและธุรกิจเอสเอ็มอี และขยายความร่วมมือรัฐกับเอกชนตั้งมาตรฐานแรงงานในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมว่าต้องการความสามารถเฉพาะทางเพียงใด เพื่อรับประกันคุณภาพของแรงงานได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook