เอ็นพีแอล"รถคันแรก"พุ่งไม่หยุด ลีสซิ่งดอดขึ้นดอกเบี้ยพยุงกำไร

เอ็นพีแอล"รถคันแรก"พุ่งไม่หยุด ลีสซิ่งดอดขึ้นดอกเบี้ยพยุงกำไร

เอ็นพีแอล"รถคันแรก"พุ่งไม่หยุด ลีสซิ่งดอดขึ้นดอกเบี้ยพยุงกำไร
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ธุรกิจลีสซิ่งดอดขึ้นดอกเบี้ยเช่าซื้อรถ 10-25 สตางค์ เหตุต้นทุนบริหารหนี้พุ่งตาม "เอ็นพีแอล" ที่ทะยานต่อเนื่อง "ลีสซิ่งกสิกรฯ" ระบุปี 2558 จ่อขยับอีก 15 สตางค์ ฟันธงหนี้เน่ารถคันแรกยังไม่ถึงจุดสูงสุด รอ "พีก" ในต้นปีหน้า ขณะที่ยอดขายรถ 9 เดือน แค่ 648,000 คัน ลดลงกว่า 37%

ลีสซิ่งดอดขึ้น ดบ. 10-25 ส.ต.

นายสุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รักษาการกรรมการผู้จัดการ บริษัท ลีสซิ่งกสิกรไทย จำกัด เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ภาพรวมการแข่งขันในธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ในระยะข้างหน้าไม่น่าจะเห็นระดับการแข่งขันที่รุนแรงมากนัก ส่วนหนึ่งเป็นผลจากผู้ประกอบการมีการปรับตัวจากปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ที่เร่งตัวสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนการบริหารจัดการขยับตัวขึ้นตามมา ขณะที่ตลาดรถยนต์และธุรกิจเช่าซื้อก็ไม่มีการเติบโตในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา เริ่มเห็นการขยับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ใหม่ในตลาดประมาณ 10-25 สตางค์ ตามสภาพตลาดที่เอ็นพีแอลปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกระทบต่อต้นทุนการบริหารจัดการให้ขยับตัวสูงขึ้น ขณะที่บริษัทเองก็ยอมรับว่าได้ขยับอัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อขึ้นประมาณ 15 สตางค์เช่นกัน

"ตอนนี้ไม่ใช่โหมดที่ทุกคนจะเข้าไปเสี่ยง แต่เป็นโหมดที่ต้องบริหารจัดการความเสี่ยงจากเอ็นพีแอลที่เร่งตัวสูงขึ้นมากกว่า เป็นภาวะที่ผู้ประกอบการเริ่มทนไม่ไหว ก็ต้องถึงเวลาที่ควรต้องปรับ โดยต้นทุนการเงินขยับขึ้นไม่มากนัก แต่ต้นทุนในการบริหารจัดการเอ็นพีแอลขยับตัวสูงขึ้นมาก ขณะที่แนวโน้มการเกิดเอ็นพีแอลก็ยังไม่ผ่านจุดสูงสุด น่าจะเห็นการขยับตัวขึ้นอีกในปีหน้า"

NPL พุ่งต่อเนื่อง "พีก" ต้นปี"58

นายสุรัตน์กล่าวว่า ตัวเลขเอ็นพีแอลที่เร่งตัวขึ้น เชื่อว่าน่าจะเห็นเข้าสู่ระดับสูงสุด (พีก) ในช่วงต้นปี 2558 ขณะที่อีกด้านแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยตลาดโลกก็อยู่ในช่วงขาขึ้น ซึ่งเป็นที่แน่นอนแล้วว่าต้นทุนการปล่อยกู้ในอนาคตจะปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ปีหน้ามีโอกาสที่อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อเช่าซื้อจะขยับขึ้นได้อีกประมาณ 15 สตางค์ เพื่อรักษาระดับการบริหารจัดการด้านอัตราผลตอบแทนขององค์กรให้มีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ เชื่อว่าจะไม่ทำให้ลูกค้าได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยมีผลค่อนข้างน้อยมาก หากเทียบกับสัดส่วนเงินดาวน์ โดยคำถามแรกของคนซื้อรถยนต์ส่วนใหญ่จะถามว่าเงินดาวน์ต่ำสุดอยู่ที่เท่าไหร่ มากกว่าจะถามว่าอัตราดอกเบี้ย และจากผลตอบแทนที่ได้จากการให้สินเชื่อรถยนต์ขนาดเล็ก 1 คัน ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ที่บริษัทไฟแนนซ์จะได้รับอยู่ที่ประมาณ 10,000 กว่าบาท หากอัตราดอกเบี้ยปรับขึ้นอีก 25 สตางค์ NIM ก็จะขยับขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 15,000 บาทเท่านั้น

ปัจจุบัน NIM ของบริษัทอยู่ที่ระดับมากกว่า 1% ขยับขึ้นจากสิ้นปีก่อนประมาณ 10 สตางค์ เนื่องจากบริษัทหันไปให้ความสำคัญกับโปรดักต์ที่ให้ผลตอบแทนสูง ทั้งสินเชื่อรีไฟแนนซ์ (รถช่วยได้) สินเชื่อเช่าซื้อรถเพื่อการพาณิชย์ และสินเชื่อเช่าซื้อเพื่อตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ (ดีลเลอร์) มากกว่าสินเชื่อรถยนต์ใหม่

ทั้งนี้ ปัจจุบันค่าเฉลี่ยเงินดาวน์ในตลาดอยู่ที่ประมาณ 20-25% ขณะที่อัตราดอกเบี้ยมาตรฐานอยู่ที่ 2.65% (ดาวน์ 25% ผ่อนชำระ 4 ปี) สำหรับการเข้าไปกระตุ้นตลาดผ่านแคมเปญดอกเบี้ย 0% ยอมรับว่าพอมีบ้าง แต่ส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้าเช่าซื้อรถยนต์เพื่อการพาณิชย์มากกว่า

ชี้กระทบค่างวดลูกค้าไม่มาก

ด้านนายศักดิ์ชัยพีชะพัฒน์รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารทิสโก้ กล่าวยอมรับว่า ช่วงที่ผ่านมา ธุรกิจเช่าซื้อมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรถยนต์ใหม่ประมาณ 0.15-0.20% ต่อปี เป็นผลจากการเร่งตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องของปริมาณหนี้เสีย และการเสื่อมค่าของหลักประกันที่ลดลงค่อนข้างมาก โดยทิสโก้ก็มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรถใหม่เช่นเดียวกัน ในระดับใกล้เคียงกับตลาด

"ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา อัตราดอกเบี้ยก็อยู่ในระดับต่ำมาก แต่ที่อยู่ได้ เพราะบริษัทไฟแนนซ์มีการบริหารจัดการต้นทุนค่าใช้จ่าย และควบคุมหนี้เสียได้ดี แต่ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าหนี้เสียปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก แม้เราจะพยายามควบคุมต้นทุนบริหารจัดการข้างใน แต่ก็ยังไม่เพียงพอ"

ทั้งนี้ เชื่อว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.15-0.20% ต่อปี ส่งผลกระทบต่อลูกค้าไม่มาก โดยค่างวดที่ชำระจะปรับขึ้นประมาณ 50-100 บาทต่อเดือนเท่านั้น หรือเพิ่มขึ้นไม่กี่พันบาทตลอดระยะสัญญา 4-5 ปี ขณะที่ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการซื้อรถของลูกค้า น่าจะเป็นความสามารถของลูกค้าเองที่ปรับลดลงจากปัญหาเศรษฐกิจและหนี้ครัวเรือนมากกว่า เห็นได้จากช่วงที่ผ่านมา แม้ในบางครั้งจะทำแคมเปญดอกเบี้ยต่ำ ลูกค้าก็ไม่สามารถซื้อรถได้ เพราะไม่มีเงินดาวน์

"ส่วนแรงกดดันเรื่องเอ็นพีแอลเริ่มคลี่คลายลงบ้างแล้ว โดยเปอร์เซ็นต์การเติบโตยังเพิ่มขึ้น แต่ปริมาณเอ็นพีแอลรวมเริ่มปรับตัวลดลงบ้าง ขณะที่ราคารถยึดก็เริ่มนิ่ง ในปีหน้าก็ได้แต่หวังว่าสถานการณ์เศรษฐกิจจะปรับตัวดีขึ้น และทำให้เอ็นพีแอลคลี่คลายลงบ้าง" นายศักดิ์ชัยกล่าว

ดอกเบี้ยไม่กระทบการตัดสินใจซื้อ

ด้านนายอนุชาติ ดีประเสริฐ ประธานสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย กล่าวว่า ในช่วง 4-5 เดือนที่ผ่านมา เริ่มเห็นผู้ประกอบการธุรกิจเช่าซื้อขยับอัตราดอกเบี้ยรถใหม่เพิ่มขึ้นบางส่วน ประมาณ 0.15-0.25% สาเหตุหลักน่าจะเป็นการปรับขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนดอกเบี้ยที่จะเป็นขาขึ้นในอนาคต ส่วนเอ็นพีแอลที่ปรับสูงขึ้นนั้น มองว่าเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกระทบ เพราะโดยปกติธนาคารจะใส่ค่าความเสี่ยงของเอ็นพีแอลในอัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อเรียบร้อยแล้ว

"อัตราดอกเบี้ยไม่ได้มีผลต่อการตัดสินใจซื้อรถของลูกค้าในสถานการณ์ตอนนี้แต่ผลกระทบหลักคือความกังวลต่อการชำระหนี้ในอนาคตมากกว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้นหรือไม่หนี้ครัวเรือนจะปรับลดลงได้แค่ไหน ที่สำคัญอัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อก็อยู่ในระดับต่ำมานานแล้ว และบางจังหวะดีลเลอร์ทำแคมเปญ 0% ก็ยังไม่มีคนซื้อ"

ทั้งนี้ ยอดขายในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้อยู่ที่ 648,000 คัน ลดลง 37.3% จากปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ยอดสินเชื่อเช่าซื้อหดตัวในระดับใกล้เคียงกัน ขณะที่ปัจจุบันเอ็นพีแอลในระบบสินเชื่อเช่าซื้อเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3% ของยอดสินเชื่อ

ค่ายรถชี้ปัญหาเข้มงวดปล่อยกู้

แหล่งข่าวจากบริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า จากการดำเนินงานของฮอนด้า ลีสซิ่ง ซึ่งเป็นแคปทีฟไฟแนนซ์ของบริษัทตัวเลขเอ็นพีแอลไม่สูง ดังนั้น แม้ว่าลีสซิ่งหลายรายจะทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยขึ้นบ้างแล้ว แต่สำหรับฮอนด้า ลีสซิ่งมองว่ายังไม่มีความจำเป็น และน่าจะคงอัตรานี้ไปจนถึงสิ้นปี จนกว่าสถานการณ์ตลาดจะมีการเปลี่ยนแปลงในปีหน้า ก็จะพิจารณาอีกครั้ง ส่วนการจัดแคมเปญและโปรโมชั่นด้านการเงินต่าง ๆ ก็มีอย่างสม่ำเสมอ แต่อาจไม่รุนแรงเหมือนลีสซิ่งทั่วไป

ด้านแหล่งข่าวบริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา อัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อรถยนต์อยู่ในระดับที่ต่ำอยู่แล้ว หากลีสซิ่งจะปรับดอกเบี้ยขึ้นบ้าง ก็ถือว่ายังมีอัตราที่ต่ำอยู่ และการปรับขึ้นจะส่งผลกระทบกับลูกค้าแค่ในระยะแรกเท่านั้น แต่ประเด็นที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ชัดเจนกว่า นั่นคือความเข้มงวดในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อมากขึ้น ทำให้มีลูกค้าไม่ผ่านเงื่อนไขเบื้องต้นสูง ดีลเลอร์รถยนต์ก็จะต้องสร้างความเข้าใจ และขอความร่วมมือให้ลูกค้าเพิ่มเงินดาวน์มากขึ้น หรือเพิ่มผู้ค้ำประกัน

ขณะที่สถาบันการเงินบางแห่งคาดว่าตัวเลขเอ็นพีแอลจะปรับเพิ่มขึ้นนั้น บริษัทประเมินว่าขึ้นอยู่กับสถาบันการเงินแต่ละราย เพราะหลายแห่งก็เพิ่มความเข้มงวดตั้งแต่เริ่มต้นโครงการรถยนต์คันแรก ถึงปัจจุบันก็กว่า 2 ปีแล้ว สถานการณ์ที่ตกต่ำที่สุดน่าจะเกิดขึ้นในปีนี้แล้ว ส่วนปีหน้าบริษัทมองว่าน่าจะเป็นช่วงที่ตัวเลขเอ็นพีแอลลดต่ำลง และเป็นช่วงที่อุตสาหกรรมยานยนต์เริ่มเติบโตอีกครั้ง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook