ทางแก้หนี้นอกระบบ ต้องปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างจริงจัง

ทางแก้หนี้นอกระบบ ต้องปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างจริงจัง

ทางแก้หนี้นอกระบบ  ต้องปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างจริงจัง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปัญหาหนี้นอกระบบ เป็นข่าวดังครึกโครมขึ้นมาอีกครั้งในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเมื่อเกิดกรณี การเผาตัวเองของนางสังเวียน  รักษาเพ็ชร อายุ 52 ปี ชาว จ.ลพบุรี ที่กลางศูนย์บริการประชาชน (ชั่วคราว) ฝั่งตรงข้ามทำเนียบรัฐบาลจนได้รับบาดเจ็บสาหัส ขณะนี้ยังพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล

สำหรับสาเหตุและข้อเท็จจริงของปัญหา ขณะนี้มีข้อมูลออกมาจากทั้งสองฝ่าย โดยฝ่ายลูกหนี้คือนางสังเวียน ชี้ประเด็นไปว่า สาเหตุเกิดจากแรงกดดันจากเจ้าหนี้ที่ให้กู้และเรียกดอกเบี้ยสูงจนทำให้ไม่สามารถใช้หนี้ได้หมดสิ้น แม้จะมีการประนอมหนี้มาแล้วก็ตาม

แต่ขณะฝ่ายเจ้าหนี้ ซึ่งหลานสาวของเจ้าหนี้ได้ออกมาแจงข้อเท็จจริงผ่าน เฟซบุ๊กส่วนตัว ขอความเป็นธรรม โดยชี้ประเด็นว่า ทางฝ่ายลูกหนี้เองที่ไม่มีวินัยและผิดสัญญาต่างๆนานาจนสร้างความเสียหายให้เจ้าหนี้ ทำให้ไม่ได้รับหนี้คืนอย่างที่ควรจะได้ 

อย่างไรก็ตามในประเด็นข้อเท็จจริงเหล่านั้นสุดท้ายคืออะไร คงจะมีการติดตามสืบข่าวกันต่อ แต่สิ่งที่น่าสนใจในประเด็นหนี้นอกระบบประเด็นหนึ่งก็คือ  ปัญหาหนี้นอกระบบเป็นปัญหาของสังคมไทย ที่มีมานาน สั่งสมมานาน และรอวันแก้ไขอย่างเป็นระบบเพื่อให้ปัญหาดังกล่าวทุเลาลดน้อยลงไปในอนาคต

หนี้นอกระบบ ในปัจจุบันจากการรายงานของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเมื่อวันที่ 15 ต.ค.ที่ผ่านมาพบว่า ปัญหาหนี้สินครัวเรือน ในปี 2557 มีสัดส่วนสูงสุดในรอบ 9 ปี โดยสูงถึง 9.8 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 82 ของจีดี และ มีจำนวนหนี้สินเฉลี่ย 2.19 แสนบาทต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้น จากปี 2556 ที่มีหนี้สินเฉลี่ย 1.88 แสนบาทต่อครัวเรือน ที่สำคัญพบว่า เป็นหนี้นอกระบบถึง 49%

ปัญหาหนี้นอกระบบนอกจากเป็นปัญหาในด้านเศรษฐกิจ และยังเกิดปัญหาต่อเนื่องไปยังปัญหาสังคมอีกด้วย ในช่วงหนึ่ง เรามักได้ยินข่าว แก๊งทวงหนี้โหดทำร้ายลูกหนี้บ่อยครั้ง และในช่วงการบริหารงานของ คสช.ก็มีนโยบายสำคัญคือมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอยู่ด้วยมาตรการหนึ่ง
สำหรับปัญหาของหนี้นอกระบบ ส่วนหนึ่ง ที่ลูกหนี้เมื่อไปกู้นอกระบบจากนายทุนนอกระบบแล้วไม่สามารถชำระหนี้คืนได้ หรือใช้หนี้เท่าไรก็ไม่หมดสิ้น ก็เพราะ การกำหนดดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ในอัตราสูง อย่างที่เราเคยได้ยินคุ้นหูอยู่ประจำก็คือ  ดอกเบี้ยร้อยละ 20 ต่อเดือน  ต้องย้ำว่า ต่อเดือน ซึ่งเท่ากับดอกเบี้ยเงินกู้นอกระบบต่อปี (ซึ่งปรกติสถาบันการเงินคิดดอกเบี้ยเป็นอัตราต่อปี) อยู่ที่ ร้อยละ 240 ต่อปี  เท่ากับดอกเบี้ยมากกว่าเงินต้นถึงเกือบสองเท่าครึ่ง

แต่ทราบหรือไม่ว่า การกำหนดดอกเบี้ยเงินกู้นั้น แท้จริงมีกฎหมายกำหนดเพดานห้ามไม่ให้มีการคิดอัตราดอกเบี้ยเกินกว่าที่กำหนด และหากใครทำเกินกว่ากฎหมายกำหนดจะมีความผิด อีกด้วย

โดย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 บัญญัติว่า "ท่านห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละ สิบห้าต่อปี ถ้าในสัญญากำหนดดอกเบี้ยเกินกว่านั้น ก็ให้ลดลงมาเป็นร้อยละสิบห้าต่อปี" ซึ่ง มาตรา 654 นี้ อยู่ในบรรพ 3 ได้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2474

 แต่ต่อมาในปี พ.ศ. 2475 ได้มีพระราชบัญญัติ ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 ประกาศใช้บังคับ ซึ่ง มาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว บัญญัติว่า “บุคคลใดให้บุคคลอื่นยืมเงินโดยคิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ มีความผิดฐานเรียก ดอกเบี้ยเกินอัตรา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

ดังนั้นการปล่อยกู้ของนายทุนเงินกู้ใดๆก็ตาม ที่คิดดอกเบี้ยเงินกู้เกินกว่ากฎหมายกำหนดถือว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย และยังมีความผิดทางอาญาอีกด้วย ซึ่งลูกหนี้สามารถใช้เป็นข้อต่อสู้ในทางคดีได้

ทั้งๆที่การปล่อยกู้เกินกว่ากฎหมายกำหนดไม่ชอบด้วยกฎหมายและมีความผิดทางอาญา แต่ทำไม่ปัญหาหนี้นอกระบบ จึงไม่หมดสิ้นและมีสัดส่วนสูงเกือบครึ่งของมูลหนี้ครัวเรือนดังที่ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้รายงานไว้ดังที่ยกมาข้างต้น ?

ใช่หรือไม่ ลูกหนี้จำยอมเพราะไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินในระบบอย่างสถาบันการเงินปรกติได้ ? การกู้เงินจากสถาบันการเงินปรกติต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน หลักประกัน ยุ่งยากจนคนจนไม่สามารถเข้าถึงได้จริงหรือไม่.?
ธนาคารรัฐที่หลายรัฐบาลพยายามผลักดันให้เข้ามามีบทบาทในการแก้หนี้นอกระบบ อย่างธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. มีข้อบกพร่องหรือไม่ ?

ในขณะที่ การกระทำหรือการปล่อยกู้ดอกเบี้ยสูงกว่ากฎหมายกำหนด เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายมีความผิดทั้งแพ่งและอาญา  แต่ ทำไม ยังมีเงินกู้นอกระบบจำนวนมากเกิดขึ้น ? ใช่หรือไม่เพราะนายทุนบางรายเป็นผู้มีอิทธิพล และใกล้ชิดกับเส้นสายอำนาจของคนมีสี..?

ยังมีปัญหาอีกมากมายเกี่ยวกับปัญหาหนี้นอกระบบที่ดูเหมือนไม่จบไม่สิ้นและต้องการการแก้ไขในเชิงระบบเชิงโครงสร้าง  แต่ประเด็นหนึ่งที่  ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ดร.ประสาร  ไตรรัตน์วรกุล ชี้ประเด็นก็น่าจะช่วยแก้ไขในระยาวได้บ้าง คือ

“ปัญหาหนี้นอกระบบ เป็นปัญหาค่อนข้างหนัก และสะท้อนว่าประชาชนไม่มีรายได้เพียงพอกับรายจ่าย จึงไปกู้หนี้นอกระบบ ซึ่งการแก้ปัญหาเรื่องหนี้นอกระบบ ต้องแก้ด้วยการสร้างรายได้ให้ประชาชน พยายามขยายศักยภาพในการสร้างโอกาสทำมาหากิน และ ประชาชนต้องรู้จักการแบ่งรายได้ เก็บออมให้สอดคล้องกับรายจ่าย ซึ่งทุกหน่วยงานต้องร่วมมือกันในการให้ความรู้กับประชาชน โดยให้ยึดหลัก “รู้จักแบ่งรายได้ ก็ไม่ต้องแบกหนี้”

ทั้งนี้เฉพาะประเด็น การสร้างรายได้ให้ประชาชน พยายามขยายศักยภาพในการสร้างโอกาสทำมาหากิน เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องระดมสรรพกำลังและแก้ไขอีกมากมายและมีรายละเอียดที่ซับซ้อนอย่างยิ่ง แต่ก็เป็นหน้าที่ของผู้บริหารประเทศที่ต้องเดินหน้าเพื่อทำให้การแก้ปัญหาเหล่านั้นบรรลุให้ได้ เพราะนั้นหมายถึง การสร้างรายได้ การอยู่ดีกินดี และมีออม ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ต้องดำเนินการต่อไป หากไม่สามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ ปัญหาหนี้นอกระบบก็ยากที่จะแก้ไขให้ทุเลาเบาบางลงได้ 

และหากจะแก้ไขให้ได้ผล  ก็ต้องอาศัยการปฏิรูปด้านเศรษฐกิจในหลายเรื่อง ตั้งแต่เรื่องพื้นฐาน คือที่ดินทำกิน  โอกาสในการทำงาน  การค้าขายอย่างเป็นธรรม  การสร้างอาชีพอย่างยั่งยืน  ฯลฯ สิ่งเหล่านี้น่าจับตาว่า แนวทางปฏิรูปประเทศที่กำลังเดินหน้ากันอยู่นี้จะสามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้มากน้อยเพียงใด.........

V.sriyapai

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook