ธ.ก.ส.ภาคใต้ระทึกพิษราคายางรูด ชาวสวนตังค์หมดหยุดชำระหนี้-เงินฝากลด900ล.

ธ.ก.ส.ภาคใต้ระทึกพิษราคายางรูด ชาวสวนตังค์หมดหยุดชำระหนี้-เงินฝากลด900ล.

ธ.ก.ส.ภาคใต้ระทึกพิษราคายางรูด ชาวสวนตังค์หมดหยุดชำระหนี้-เงินฝากลด900ล.
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ผลกระทบราคายางตกต่ำขยายวงกว้าง ธ.ก.ส.ภาคใต้ตอนบนระทึก ชาวสวนไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามปกติ ลามฉุดเงินฝากลด 900 ล้าน ชี้เป็นภาวะที่ไม่ปกติขณะที่ยอดชำระหนี้รอบเดือนกันยายนนี้ส่อเค้าไม่เป็นไปตามเป้า พร้อมชะลอการปล่อยสินเชื่อลูกค้าใหม่

นายเกษม มะนะโส ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการสาขาภาคใต้ตอนบน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ราคายางพาราที่ตกต่ำอยู่ในขณะนี้เริ่มส่งผลกระทบกับเกษตรกรชาวสวนยาง ซึ่งเป็นลูกค้ากลุ่มใหญ่ของ ธ.ก.ส.ในภาคใต้ โดยมีสัดส่วนถึง 75%

ทั้งนี้ ภาคใต้จะได้รับผลกระทบมาก เนื่องจากเป็นอาชีพหลักของเกษตรกรภาคใต้ และในช่วงที่ราคายางพาราสูง เกษตรกรมีการลงทุนทั้งในและนอกภาคเกษตร รวมไปถึงการลงทุนเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตทั้งการซื้อบ้านและสร้างบ้าน เมื่อราคายางตกต่ำจึงส่งผลกระทบถึงการดำรงชีพ การชำระหนี้ ธ.ก.ส.จึงได้รับผลกระทบตามไปด้วย

"ภาวะราคายางในปัจจุบันทำให้เกษตรกรไม่สามารถชำระหนี้ ธ.ก.ส.ได้ตามปกติ และยังกระทบถึงเงินออมของเกษตรกรอีกด้วย เกษตรกรเริ่มนำเงินออมออกมาใช้ โดยมีตัวเลขเงินฝากของภาคใต้ตอนบนลดลงประมาณ 900 ล้านบาท ซึ่งเป็นภาวะที่ไม่ปกติเพราะยอดเงินฝากมีแต่จะเพิ่มขึ้น"

สำหรับภาคใต้ตอนบนมียอดเงินฝากและสินเชื่อในสัดส่วน 1:1 หรือประมาณ 58,000 : 58,000 ล้านบาท และทาง ธ.ก.ส. มีเป้าหมายเพิ่มยอดเงินฝากในปี 2557 นี้ จำนวน 4,400 ล้านบาท แต่ตัวเลขล่าสุดพบว่าเงินฝากเริ่มลดลง ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ว่าเกษตรกรนำเงินออมออกมาใช้จ่ายกันแล้ว

ในส่วนของการชำระหนี้ ธ.ก.ส.ของเกษตรกรในรอบเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา พบว่าอัตราการชำระหนี้ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่วนในรอบเดือนกันยายนที่จะถึงนี้มีแนวโน้มว่าการชำระหนี้จะลดลงต่ำกว่าเดือนมิถุนายน โดยในรอบเดือนกันยายนมียอดเงินต้นที่เกษตรกรต้องชำระหนี้ ธ.ก.ส. 6 จังหวัด ประมาณ 3,000 ล้านบาท

ขณะนี้เข้าสู่ปลายเดือนสิงหาคมแล้ว มีการชำระหนี้เพียง 20% เท่านั้น ซึ่งในภาวะราคายางปกติในช่วงเวลานี้จะมียอดชำระหนี้แล้วประมาณ 40% และยอดชำระหนี้ของเกษตรกรโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 92% โดยมีบางสาขาที่เกษตรกรสามารถชำระหนี้ได้ถึง 100% ส่วนในปีนี้คาดการณ์ว่าเกษตรกรจะชำระหนี้ได้ประมาณ 80-85% ซึ่งถือว่าต่ำมาก ซึ่งเป็นผลกระทบจากภาวะราคายางตกต่ำอย่างต่อเนื่อง

นายเกษม เปิดเผยถึงมาตรการที่จะช่วยเหลือเกษตรกรที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ว่ามี 3 แนวทาง คือ กรณีที่ 1 การผ่อนผันการชำระหนี้ โดยไม่เรียกเก็บดอกเบี้ยปรับ 3% กรณีที่ 2 เกษตรกรยังพอมีรายได้อยู่บ้าง แต่ไม่สามารถชำระเงินกู้ได้ครบทั้งจำนวน สามารถชำระเงินกู้ไม่ครบจำนวนได้ โดยชำระดอกเบี้ยทั้งหมด พร้อมเงินต้นจำนวนหนึ่ง และขยายเวลาชำระเงินต้นที่เหลือให้อีก 1 ปี หรือชำระดอกเบี้ยทั้งหมด โดยไม่ชำระเงินต้นและไม่มีดอกเบี้ยปรับ ซึ่งจะพิจารณาเป็นรายๆ ไป

กรณีที่ 3 ลูกค้าที่มีภาระหนัก ไม่สามารถชำระทั้งดอกเบี้ยและเงินต้น หรือดอกเบี้ยเงินหมุนเวียน ทาง ธ.ก.ส.จะพิจารณาทบทวนรายได้ของลูกค้าตามความเป็นจริงในปัจจุบัน และคำนวณความสามารถในการชำระหนี้ต่อปี ก่อนจะทำสัญญาฟื้นฟูการประกอบอาชีพ เพื่อขยายเวลาให้ลูกค้าตามขีดความสามารถในการชำระหนี้ ซึ่งจะบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรได้ระดับหนึ่ง

ในส่วนของลูกค้าใหม่มีการชะลอการปล่อยสินเชื่อ เนื่องจากทิศทางราคายางยังไม่มีทิศทางที่ชัดเจน ประกอบกับมีแนวทางในการลดพื้นที่ปลูกยาง เพื่อผลักดันให้ราคามีเสถียรภาพ ทำให้การปล่อยสินเชื่อของ ธ.ก.ส.ชะลอตัวลง

สำหรับมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร หรือการแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำในระยะยาวมี 2 แนวทางคือ 1. ส่งเสริมให้สหกรณ์การเกษตร, สหกรณ์การเกษตรลูกค้า ธ.ก.ส. หรือสถาบันเกษตรกรอื่นๆ ให้มีเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการซื้อขายยางพารา เพื่อให้เกิดการซื้อขายในตลาด และให้ตลาดสามารถเดินต่อไปได้ วงเงิน 10,000 ล้านบาท โดยเริ่มตั้งแต่ 1 กันยายน 2557-31 สิงหาคม 2558 หากทำให้สามารถยกระดับราคายางพาราขึ้นมาได้ อาจมีการขยายโครงการไปสู่ปีที่ 2

แนวทางที่ 2 คือการส่งเสริมการแปรรูป เนื่องจากยางพารามีการซื้อขายเป็นวัตถุดิบซึ่งมีราคาต่ำ จึงส่งเสริมให้มีการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า โดยมีวงเงินให้กับสถาบันเกษตรกร 5,000 ล้านบาท เริ่มโครงการ 1 กันยายน 2557-31 สิงหาคม 2567 ซึ่งเป็นโครงการระยะยาว เนื่องจากการแปรรูปยางพาราต้องใช้เงินลงทุนสูง จึงให้ระยะเวลาถึง 10 ปี

นอกจากนั้น ยังมีแนวคิดในการลดพื้นที่การปลูกยาง โดยส่งเสริมให้มีการโค่นยางเก่า แต่ยังไม่ชัดเจนว่าเป็นจำนวนเท่าไร ในกรณีที่เกษตรกรขอสงเคราะห์ปลูกยางใหม่ อาจต้องมีมาตรการจูงใจให้เกษตรกรหันไปปลูกพืชชนิดอื่นแทน เพื่อให้ราคายางมีเสถียรภาพในอนาคต

ด้านนายพนัส แพชนะ ผู้อำนวยการตลาดกลางยางพาราสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า กลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางที่เคลื่อนไหวในขณะนี้ต้องการให้ภาครัฐรับทราบปัญหา และหันมาให้ความสนใจปัญหาของชาวสวนยางมากขึ้น อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรได้แจ้งให้ทราบว่าจะมีการนำผู้ซื้อยางรายใหญ่ของประเทศจีน มาซื้อยางในตลาดกลางยางพาราจังหวัดสุราษฎร์ธานีโดยตรง ซึ่งจะทำให้ราคายางขยับขึ้นมาได้ 3-4 บาท/กิโลกรัม โดยจะใช้เวลาในการประสานงานราว 3 สัปดาห์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook